สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 12 ม.ค. 66
ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวและมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น ส่วนภาคใต้คงมีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.ยะลา (80 มม.) จ.นครราชสีมา (76 มม.) และจ.ประจวบคีรีขันธ์ (66 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 40,179 ล้าน ลบ.ม. (69%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 32,542 ล้าน ลบ.ม. (68%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กอนช. ติดตามการแก้ไขปัญหาด้านน้ำในพื้นที่ภาคใต้ และจังหวัดพิจิตร
กรมชลประทาน เร่งซ่อมแซมบานประตูระบายน้ำฝายสามง่าม
ที่ปิดกั้นในแม่น้ำยม บริเวณ ต.รังนก อ.สามง่าม เกิดการชำรุดเสียหายไม่สามารถยกบานประตูขึ้น เพื่อเก็บกักน้ำในแม่น้ำยมได้ ส่งผลทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำยมไหลลงสู่พื้นที่ด้านท้ายฝาย จนทำให้ปริมาณน้ำทางตอนบน โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.สามง่าม ลดระดับลงอย่างรวดเร็ว นั้น เบื้องต้น กรมชลประทาน ได้เร่งเข้าตรวจสอบและซ่อมแซมบานประตูดังกล่าวแล้วเสร็จตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. 2565 ที่ผ่านมา ปัจจุบันสามารถเก็บกักน้ำไว้บริเวณด้านเหนือฝายสามง่าม ให้พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ได้เพาะปลูกพืชฤดูแล้งต่อไป
ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ ภาคใต้ ประชุมติดตามสถานการณ์น้ำพบยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง สถานการณ์น้ำล้นตลิ่งที่สถานี X.275 อ.เมือง จ.ปัตตานี มีแนวโน้มลดลงคาดว่าจะกลับสู่ภาวะปกติภายใน 1-2 วัน ส่วนที่สถานี X.40 อ.เมือง จ.ยะลา ยังคงสามารถรับปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นจากการการปรับแผนการระบายน้ำของเขื่อนบางลางเป็นวันละ 4 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันยังคงมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 1 อ. และได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำออกบริเวณโรงพยาบาลโคกโพธิ์ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี
กองทัพบก ดำเนินการฟื้นฟูปรับภูมิทัศน์ ทำความสะอาด ขนย้ายสิ่งของให้อยู่ในสภาวะปกติ เนื่องจากฝนตกหนักที่ผ่านมา เพื่อเป็นการสร้างกำลังใจ และบรรเทาความเดือดร้อนให้กับ โรงเรียนบ้านนาค้อใต้และมัสยิดดารุสลาม ม.4 ต.มะกรูด อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี
กรุงเทพมหานคร ตรวจสอบความพร้อมแก้มลิงบึงหมู่บ้านเฟรนชิฟ ความก้าวหน้างานก่อสร้างสถานีสูบน้ำคลองไผ่เขียว และตรวจสอบท่อลอดถนนรามอินทรา บริเวณซอยรามอินทรา 25 คลองกระเฉด คลองลำไผ่ คลองบางขวด คลองลำชะล่า
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 12 ม.ค. 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
1.1 กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานก่อสร้าง ตามโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ จำนวน 9 แห่ง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 งบกลาง ณ บ้านเนินหิน ตำบลหนองเหียง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เพื่อให้เป็นไปด้วยความถูกต้องตามแบบแผนและแล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด
1.2 กองบัญชาการกองทัพไทย ปฏิบัติงานตามแผนงาน/โครงการประจำปี งบประมาณ 2566 งานขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ให้สามารถใช้น้ำเพื่อ อุปโภค – บริโภค บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่บริเวณ บ้านใหม่ภูเจริญ ตำบลโพธิ์หมากแข้ง อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ
2. สภาพอากาศ
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า ประกอบกับมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่มีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนหรือฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น สำหรับหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมภาคใต้ตอนล่าง ทำให้ภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตกหนักบางแห่ง
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 40,179 ล้าน ลบ.ม. (69%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 32,542 ล้าน ลบ.ม. (68%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,487 ล้าน ลบ.ม. (88%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,150 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 12,664 ล้าน ลบ.ม. (70%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 32,272 ล้าน ลบ.ม. (68%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 5,629 ล้าน ลบ.ม. (26%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 2,129 ล้าน ลบ.ม. (25%)