โรงงานยาสูบหนีตายปรับกลยุทธ์สู้ศึกต่างชาติ
ยสท.ปรับกลยุทธ์หันมาผลิตบุหรี่จำนวนน้อย เพื่อรักษาฐานการตลาดและลดต้นทุนในการผลิตยาสูบให้สามารถแข่งขันในตลาดที่รุนแรงได้
นายภูมิจิตต์ พงษ์พันธุ์งาม ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย หรือ ยสท. เปิดเผยว่า ล่าสุด ยสท.ได้จัดซื้อเครื่องจักรผลิตยาเส้นขนาดเล็ก (Mini Primary Line) กำลังการผลิต 500 กิโลกรัม/ชั่วโมง หรือ 5 ล้านมวนต่อชั่วโมง หรือ 30-40 หีบ (1หีบมี 500 ซอง) พร้อมอุปกรณ์และค่าติดตั้งรวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ โดยใช้จ่ายงบลงทุนของ ยสท.ปี66–67 ในวงเงินจำนวน 384 ล้านบาท
“ปัจจุบัน เรามีโรงงานผลิตบุหรี่ขนาดใหญ่อยู่แล้ว สามารถผลิตได้ 13,000 หีบ โดยในการผลิตบุหรี่แต่ละครั้งต้องใช้ใบยาสูบจำนวนมาก ดังนั้น เครื่องจักรผลิตขนาดเล็กจะเข้ามาผลิตบุหรี่จำนวนที่ไม่มาก เพื่อพัฒนาและทดลองบุหรี่ใหม่ๆ รวมถึงการเปิดรับออเดอร์บุหรี่จากต่างประเทศ ที่ยังคงมีความต้องบุหรี่บางยี่ห้อของไทย”
ผู้ว่าการฯ ยสท. กล่าวว่า โรงงานฯ ได้รับผลกระทบจากการปรับเพิ่มภาษี จากเดิมมีกำไรประมาณปีละ 900 ล้านบาท ในปี 60 ลดเหลือ 500 ล้านบาท และในปี65 คาดว่า จะมีกำไรสุทธิ 100 ล้านบาท เนื่องจากกำลังการผลิตบุหรี่ลดลง โดยปีนี้ กำลังการผลิตมีอยู่ประมาณ 11,000 ล้านมวน ขณะที่บุหรี่ต่างชาติ ขายได้ดีขึ้น โดยมีส่วนแบ่งตลาดจากเดินก่อนหน้านี้ 20% เพิ่มเป็น 52% ส่วน ยสท. ส่วนแบ่งการตลาดจาก 80% ลดเหลือ 48% และยังมีบุหรี่เถื่อน บุหรี่หนีภาษีตามแนวชายแดนไหลทะลักประมาณ 29%
ดังนั้น สิ่งที่ ยสท.ต้องรีบดำเนินการคือ ปรับกลยุทธ์และลดต้นทุนขององค์กรให้มีขนาดเล็กลงและทันสมัยมากขึ้น โดยในปีนี้ ได้ส่งออกใบยาสูบรวมถึงใบยาพอง ทั้งพันธุ์เบอร์เล่ย์ และเวอร์จิเนียร์ ประมาณ 500,000 กิโลกรัม มูลค่า 50 ล้านบาทเพื่อหาช่องทางทำรายได้เพิ่มเติม รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ อีก เช่น ชดเชยราคาใบยาให้ชาวไร่ยาสูบ 50 ล้านบาท และการชดเชยปัจจัยการผลิต 50 ล้านบาท เพื่อดูแลต้นทุนการผลิตให้เกษตรกร รวมถึงเจรจากับต่างชาติ เปิดสายการผลิตเข้ายาสูบผลิตนิโคตินเหลว หรือนิโคติน salt สารเคมีที่ได้จากธรรมชาตินำมาใช้บุรี่ไฟฟ้าแทนการใช้สารเคมี ซึ่งคาดว่า จะทำให้มีรายได้ 200-300 ล้านบาทในปี66