อาดิดาสเพิ่มการผลิตในกัมพูชา
อาดิดาสซึ่งเป็นผู้ผลิตแบรนด์สินค้ากีฬาชั้นนำระดับโลก แถลงว่า บริษัทจะขยายคำสั่งซื้อจากการผลิตในกัมพูชาภายใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งในส่วนนี้เป็นการย้ายฐานการผลิตหลักจากจีนมาสู่ประเทศในกลุ่มอาเซียน
จากรายงานข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์ ในระหว่างการจัดเวิร์คช็อปของนักลงทุน นายจอห์น แม็คนามารา หัวหน้าฝ่ายจัดหาของบริษัทอาดิดาส ได้ประกาศแผนการที่จะเพิ่มคำสั่งซื้อให้กับโรงงานที่รับจ้างผลิตในเมียนมา กัมพูชา อินโดนีเซีย และเวียดนาม ภายใน 5 ปีข้างหน้า เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงจากค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้นในจีน
เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา โฆษกของบริษัทอาดิอาสได้ประกาศว่า ทางบริษัทมีความตั้งใจที่จะขยายสัดส่วนการผลิตจากกัมพูชาให้ได้ถึง 4% ภายในปี 2563
นางสาวคัทยา ไชรเบอร์ แจ้งในอีเมลว่า “กัมพูชาเป็นประเทศที่เป็นฐานการผลิตที่สำคัญของบริษัทเรา และทางบริษัทคาดว่า ปริมาณการผลิตจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นใน 2-3 ปีข้างหน้า”
“ในปี 2557 บริษัทมีคำสั่งซื้อในการผลิตเสื้อผ้าให้กับโรงงานในกัมพูชาเป็นสัดส่วนถึง 16% และคาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตจะเพิ่มเป็น 20% ภายในปี 2563 นอกจากนี้ทางบริษัทยังมีการสั่งผลิตรองเท้าบางส่วนในกัมพูชา และจะยังคงมีการผลิตต่อไปเรื่อยๆ”
นางสาวไชรเบอร์ รายงานว่า การย้ายไปอาเซียนเป็นส่วนหนึ่งของแผนการของบริษัทที่ต้องการกระจายการผลิตไปในหลายประเทศ โดยบริษัทได้เลือกโรงงานผู้ผลิตสิ่งทอเพื่อส่งออกในกัมพูชาทั้งหมด 24 แห่ง จากโรงงานกว่า 500 แห่ง รวมทั้งโรงงานแกรนด์ ทวินส์ อินเตอร์เชั่นแนล ซึ่งเป็น 1 ใน 3 บริษัทที่มีรายชื่ออยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของกัมพูชา
แผนการดำเนินงานของบริษัทอาดิดาสจะยังดำเนินต่อไป ถึงแม้จะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในกัมพูชาก็ตาม โดยในเดือนม.ค.2559 นี้ จะมีการทยอยปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสำหรับแรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทออีก 40% คือเพิ่มเป็น 140 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 4,900 บาท (35 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ต่อเดือน ภายในระยะเวลา 2 ปี
ถึงแม้จะมีการปรับขึ้นค่าแรงทั้งในเมียนมา เวียดนาม และกัมพูชา แต่ค่าแรงขั้นต่ำในประเทศเหล่านี้ก็ยังคงน้อยกว่าจีนอยู่ดี
อย่างไรก็ตามมีความไม่พอใจเกิดขึ้นจากทั้งรัฐบาล โรงงาน และสหภาพแรงงานในกัมพูชาต่อแบรนด์สินค้าชั้นนำที่เป็นผู้สั่งผลิตเหล่านี้ เนื่องจากไม่มีการปรับขึ้นราคาที่สั่งผลิต โดยทางโรงงานให้ข้อมูลว่า ทางผู้สั่งซื้อไม่ค่อยทำข้อตกลงในระยะยาว จึงทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับทางโรงงานที่จะวางแผนต่อไป
ทั้งนี้ยังไม่ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจากโฆษกของกระทรวงแรงงาน และสมาคมผู้ประกอบการสิ่งทอในกัมพูชา ซึ่งเป็นตัวแทนของโรงงานส่งออกสิ่งทอในประเทศเกี่ยวกับเรื่องนี้