คลังไม่สนเดินหน้าเก็บภาษีขายหุ้น
กระทรวงการคลังชี้แจงเกี่ยวกับการยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า “ตามที่คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติหลักการยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเพิ่มความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีและลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้โดยไม่ส่งผลกระทบ ต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และการออมเพื่อเกษียณอายุ โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ของเดือนที่ 4 ถัดจากเดือนที่พระราชกฤษฎีกาประกาศในราชกิจจานุเบกษา (Grace Period ประมาณ 90 วัน)”
นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรตระหนักถึงความสำคัญของความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี และต้องการลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ และกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการยกเว้นการจัดเก็บมาเป็นเวลากว่า 30 ปี โดยแบ่งการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะเป็น 2 ช่วง ในอัตรา ดังนี้
ช่วงที่ 1 จัดเก็บในอัตรา 0.05% ( 0.055% เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2566
ช่วงที่ 2 จัดเก็บในอัตรา 0.1% ( 0.11% เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ยังคงการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้แก่
1.ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เฉพาะการขายหลักทรัพย์ที่บุคคลนั้นได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องของหลักทรัพย์นั้น
2. สำนักงานประกันสังคม
3. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
4. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
5. กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน
6. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
7. กองทุนการออมแห่งชาติ
8. กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมแก่สำนักงานประกันสังคมหรือกองทุนตามข้อ 3-7 เท่านั้น
อนึ่ง ในการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะกรณีนี้ กฎหมายได้กำหนดให้สมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ฯ (Broker) ที่เป็นตัวแทนของผู้ขายมีหน้าที่หักภาษีธุรกิจเฉพาะจากเงินที่ขายและยื่นแบบแสดงรายการภาษี และชำระภาษีในนามตนเองแทนผู้ขาย โดยผู้ขายไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีอีก”
การยกเลิกการยกเว้นภาษีดังกล่าวอาจส่งผลให้ต้นทุนการทำธุรกรรมในตลาดหลักทรัพย์ ของไทยสูงขึ้นจาก 0.17% เป็น 0.22% แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ โดยต่ำกว่าของมาเลเซียซึ่งอยู่ที่ 0.29และของฮ่องกงซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.38 แต่อาจสูงกว่าของสิงคโปร์ซึ่งอยู่ที่ 0.20% เล็กน้อย ทั้งนี้ ในปีแรกของการจัดเก็บภาษีที่มีการลดอัตราภาษีเหลือ 0.055% ต้นทุนดังกล่าวจะอยู่ที่ร้อยละ 0.195 ซึ่งใกล้เคียงกับของสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีดังกล่าวนั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในระยะยาว
อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากที่ได้มีการนำเสนอข่าวการเก็บภาษีหุ้น ว่าจะมีการยกเว้นภาษีให้นักลงทุนรายใหญ่ เป็นการนำเสนอข่าวที่คลาดเคลื่อน ข้อเท็จจริง คือ มิได้ยกเว้นภาษีให้แก่ นักลงทุนรายใหญ่ แต่ยกเว้นภาษีให้แก่ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) กับกองทุนบำนาญ โดย Market Maker คือ บริษัทหลักทรัพย์ (Broker) ที่ขึ้นทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ มีหน้าที่ทําการเสนอซื้อขายหลักทรัพย์ ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และ Market Maker ไม่ใช่นักลงทุนรายใหญ่ตามที่ข่าวได้นำเสนอ ซึ่งการยกเว้นดังกล่าวเพื่อไม่ให้กระทบการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่นเดียวกับต่างประเทศ อาทิ อังกฤษ ฮ่องกง ฝรั่งเศส และอิตาลี สำหรับนักลงทุนรายใหญ่ ไม่ว่าบุคคลธรรมดา นักลงทุนสถาบันที่ไม่ใช่กองทุนบำนาญ หรือบริษัทหลักทรัพย์ที่ซื้อขายในบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เอง (ไม่ใช่บัญชี Market Maker) จะไม่ได้รับยกเว้นภาษีแต่อย่างใด”
หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161