กาตาร์เตรียมออกจากโอเปกหลังอยู่มา 57 ปี
เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. กาตาร์ประกาศแผนจะถอนตัวออกจากกลุ่มโอเปก ไม่กี่วันก่อนการประชุมครั้งสำคัญระหว่างกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันทรงอิทธิพลและประเทศพันธมิตร
ในการแถลงข่าว ซาด อัล-คาบี รมว.กระทรวงพลังงานของกาตาร์ระบุว่า ประเทศกาตาร์จะขอถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มโอเปกในวันที่ 1 ม.ค. 2562 นี้ ถือเป็นการยุติการเป็นสมาชิกกลุ่มโอเปกที่ยาวนานเกินครึ่งศตวรรษ
การตัดสินใจมีขึ้นหลังจากกาตาร์พิจารณาทบทวนหลายวิธีในการปรับปรุงจุดยืนของประเทศกาตาร์ที่มีกับหลายประเทศทั่วโลก และวางแผนยุทธศาสตร์ประเทศในระยะยาว
เนื่องจากกาตาร์เป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตน้ำมันขนาดเล็กสุดของโอเปก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับซาอุดิอาระเบีย แต่กาตาร์กลับเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว ( LNG) รายใหญ่ที่สุดในโลก
โดยรมว.กระทรวงพลังงานของกาตาร์ระบุเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ว่า ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านเทคนิคและยุทธศาสตร์ของประเทศ และไม่มีแรงจูงใจเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน
รมว.อัล -คาบี ของกาตาร์ยังได้ระบุว่า การตัดสินใจไม่มีความเชื่อมโยงกับการที่ซาอุดิอาระเบียประกาศบอยคอตกาตาร์ทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจกาตาร์ที่กินเวลานานถึง 18 เดือนแล้ว
ตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2560 ซาอุดิอาระเบียซึ่งถือเป็นพี่ใหญ่ของกลุ่มประเทศโอเปก พร้อมกับอีก 3 ประเทศอาหรับคือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ และบาห์เรนได้ตัดความสัมพันธ์ด้านการค้าและปิดกั้นเส้นทางคมนาคมกับกาตาร์ โดยกล่าวหาว่ากาตาร์ให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายและอิหร่าน ซึ่งเป็นประเทศคู่แข่งในภูมิภาค กาตาร์ปฏิเสธคำกล่าวหานั้นและระบุว่า การบอยคอตของซาอุฯถือเป็นการขัดขวางอธิปไตยของชาติ
คาดการณ์ว่าการประชุมครั้งสุดท้ายในปีนี้ของโอเปกจะเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของกาตาร์เช่นกัน โดยกาตาร์เป็นสมาชิกกลุ่มโอเปกมาตั้งแต่ปี 2504
“ การตัดสินใจของกาตาร์ที่ขอถอนตัวจากโอเปกไม่ทำให้เซอร์ไพรส์มากนัก แต่ดูจะไม่ส่งผลกระทบกับตลาดน้ำมัน ” Peter Kiernan นักวิเคราะห์พลังงานชั้นนำที่ Economist Intelligence Unit ชี้แจงกับ CNBC ผ่านอีเมลเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.
“ กาตาร์เป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตจำนวนน้อยในกลุ่ม ด้วยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบประมาณ 600,000 บาร์เรลต่อวัน น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค ”
ทั้งนี้ โอเปกและประเทศสมาชิกที่ไม่ใช่โอเปกมีกำหนดจะประชุมที่กรุงเวียนนา ออสเตรียในวันที่ 6 ธ.ค. โดยมีเป้าหมายเพื่อลดเพดานการผลิตลงเท่าที่จะเป็นไปได้
ราคาน้ำมันดิ่งเหวลงไปมากกว่า 25% หลังพุ่งทะยานขึ้นมาสูงสุดในรอบ 4 ปีเมื่อช่วงต้นเดือน ต.ค. ท่ามกลางความกังวลมากขึ้นถึงปริมาณซัพพลายที่ล้นตลาดและกังวลเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าจะมีการลดเพดานการผลิตน้ำมันรอบใหม่ในสัปดาห์นี้ และการพักรบสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนทำให้ราคาซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้าปรับขึ้นในวันที่ 3 ธ.ค. โดยน้ำมันดิบเบรนท์อยู่ที่ 62.5 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลเพิ่มขึ้น 4.7% ขณะที่ West Texas Intermediate (WTI) อยู่ที่ 53.53 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ขยับขึ้นกว่า 5%