สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 26 ต.ค.65
ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ และภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น
ปริมาณฝน 24 ชั่วโมง สูงสุดที่ จ.ตรัง (96) จ.น่าน (23) และ จ.ชลบุรี (22)
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 68,487 ล้าน ลบ.ม. (83%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 60,252 ล้าน ลบ.ม. (84%) เฝ้าระวังน้ำต่ำกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 1 แห่ง บริเวณภาคเหนือ เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 21 แห่ง ได้แก่ แม่งัด กิ่วลม กิ่วคอหมา แม่มอก แควน้อย ทับเสลา กระเสียว ป่าสัก ห้วยหลวง อุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน ลำแชะ ลำนางรอง ขุนด่าน บางพระ หนองปลาไหล นฤบดินทรจินดา และบึงบระเพ็ด
สถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา 26 ต.ค. 65 ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,376 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำในพื้นที่ตอนบนแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาลดลงเช่นกัน โดยมีปริมาณน้ำไหลผ่าน ในอัตราประมาณ 2,293 ลบ.ม./วินาที ด้านสถานีวัดน้ำ C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ย 2,939 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มลดลง
การซ่อมแซมพนังกั้นน้ำชี บริเวณบ้านสะดำศรี ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นจุดที่ถูกน้ำกัดเซาะจนขาด ปัจจุบันการซ่อมแซมปิดรอยรั่วพนังกั้นน้ำทั้ง 2 ฝั่ง ระหว่างสำนักงานชลประทานที่ 6 ขอนแก่น ซ่อมแซมฝั่งบ้านโนนแดง และสำนักงานทางหลวงชนบทกาฬสินธุ์ ซ่อมแซมฝั่งบ้านสะดำ ปัจจุบันได้ดำเนินการซ่อมแซมพนังกั้นแล้วเสร็จ
ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมใน 31 จังหวัด ได้แก่ จ. พิษณุโลก พิจิตร อุทัยธานี นครสวรรค์ สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นครปฐม ชัยนาท นนทบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี สระบุรี หนองบัวลำภู ชัยภูมิ มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ ยโสธร นครราชสีมา สุรินทร์ นครนายก ปราจีนบุรี สุราษฎร์ธานี นราธิวาส และตรัง
กอนช. คาดสถานการณ์น้ำกลับสู่ภาวะปกติกลางเดือนพฤศจิกายนเตรียมบูรณาการหน่วยเกี่ยวข้องฟื้นฟูความเสียหายหลังน้ำลดโดยเร็วที่สุด
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำ ดังนี้
ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันปริมาณน้ำเหนือจากแม่น้ำปิงและน่าน รวมถึงปริมาณฝนในพื้นที่ลดลง คาดว่าสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะเข้าสู่สภาวะปกติประมาณช่วงกลางเดือน พ.ย. 65 หรืออาจเร็วกว่ากำหนดคือช่วงปลายสัปดาห์แรกของเดือน พ.ย. 65 หากสามารถควบคุมการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาได้ที่ 1,500 ลบ.ม. ต่อวินาที รวมถึงลุ่มน้ำชี – มูล คาดว่าจะเข้าสู่สภาวะปกติในช่วงกลางเดือน พ.ย. 65 เช่นเดียวกัน
คณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้ กอนช. ได้เตรียมพร้อมการดำเนินการภายหลังน้ำลด โดยมีการประเมินและชี้เป้าพื้นที่ที่ระดับน้ำลดลงและแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือ พร้อมทั้งอำนวยการและประสานการปฏิบัติงานกับหน่วยงานในพื้นที่จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้เร่งช่วยเหลือพี่น้องประชาชน และเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อจ่ายค่าชดเชยเยียวยา และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. ได้กำชับในเรื่องการระบายน้ำออกจากพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขังให้ระดับน้ำลดลงโดยเร็วที่สุด โดย กอนช. จะเร่งดำเนินการตามข้อสั่งการอย่างเคร่งครัด