สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 19 ต.ค. 65
ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็น และอุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.สตูล (137 มม.) จ.ภูเก็ต (137 มม.) และ จ.พังงา (136 มม.)
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 67,881 ลบ.ม. (83%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 59,969 ล้าน ลบ.ม. (84%) เฝ้าระวังน้ำต่ำกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 1 แห่ง บริเวณภาคใต้ เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 22 แห่ง ได้แก่ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม แม่มอก แควน้อย บึงบระเพ็ด ทับเสลา ป่าสัก กระเสียว ห้วยหลวง หนองหาร อุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน ลำแซะ ลำนางรอง ขุนด่าน คลองสียัด บางพระ หนองปลาไหล และนฤบดินทร
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ลงนามบันทึกความเข้าใจ “พัฒนาองค์ความรู้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชน”
วานนี้ (18 ต.ค. 65) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจการพัฒนาองค์ความรู้ด้านบริหารทรัพยากรน้ำ เพื่อบูรณาการสร้างการเรียนรู้ของชุมชน โดยมี นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนตามแนวพระราชดำริ กล่าวถึงการพัฒนาองค์ความรู้ด้านบริหารทรัพยากรน้ำ เพื่อบูรณาการสร้างการเรียนรู้ของชุมชน และผู้บริหารจาก 3 หน่วยงาน ได้แก่ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และนายโชติ โสภณพนิช ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะไทย กล่าวถึงแผนการดำเนินงาน และลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน ณ ห้องราชวัลลภ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
การลงนามบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยการพัฒนาองค์ความรู้ด้านบริหารทรัพยากรน้ำในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือของทั้ง 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และมูลนิธินโยบายสาธารณะไทย ที่มุ่งมั่นในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้มีความมั่นคง และเกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน นับว่าเป็นการยกระดับความเข้มแข็งของการดำเนินงานร่วมกัน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะเกิดผลสัมฤทธิ์ที่สนับสนุนแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจากการร่วมลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังในครั้งนี้ และในโอกาสนี้ ขอเน้นย้ำถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เนื่องจากน้ำเป็นทรัพยากรพื้นฐานที่สำคัญของชาติ โดยปัจจุบันมี “คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.)” ทำหน้าที่ในการบูรณาการและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีเอกภาพ สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน พัฒนาศักยภาพของชุมชนในการที่จะร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมพัฒนาและใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า เพื่อประโยชน์สูงสุดอย่างยั่งยืน
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 19 ต.ค. 2565 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 51/2565 ลงวันที่ 16 ต.ค. 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 17 – 18 ต.ค. 2565 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีน ได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นกับมีลมแรง และมีฝนบางแห่ง ในขณะที่ร่องมรสุมยังคงพาดผ่านภาคใต้ตอนกลาง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนัก
ถึงหนักมากบางแห่ง ต้องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก บริเวณภาคใต้ ในช่วงวันที่ 18 – 22 ต.ค. 2565 ได้แก่ จังหวัดชุมพร (อำเภอหลังสวน ละแม สวี เมืองชุมพร และพะโต๊ะ) จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง กระบุรี ละอุ่น กะเปอร์ และสุขสำราญ) จังหวัดพังงา (อำเภอเมืองพังงา กะปง ท้ายเหมือง ตะกั่วป่า ทับปุด และตะกั่วทุ่ง) จังหวัดภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต กะทู้ และถลาง) จังหวัดกระบี่ (อำเภออ่าวลึก) จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอพระแสง ท่าฉาง คีรีรัฐนิคม ท่าชนะ บ้านนาสาร ไชยา พนม พุนพิน เกาะสมุย และเกาะพะงัน) จังหวัดนครศรีธรรมราช (อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ท่าศาลา และปากพนัง) และจังหวัดสตูล (อำเภอเมืองสตูล)
2. สภาพอากาศ
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นกับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่งบริเวณภาคตะวันออก สำหรับร่องมรสุมยังคงพาดผ่านภาคใต้ตอนกลาง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณทะเลอันดามันตอนบน ในขณะที่ลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับ พายุไต้ฝุ่น “เนสาท” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 350 กิโลเมตร ทางตะวันออกของเกาะไหหลำ ประเทศจีน คาดว่าพายุนี้ จะเคลื่อนผ่านตอนใต้ของเกาะไหหลำ ประเทศจีน และเคลื่อนเข้าบริเวณอ่างตังเกี๋ยและประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 20-21 ต.ค. 65 ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้จะทำให้พายุอ่อนกำลังลงตามลำดับอย่างรวดเร็ว ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเล้กน้อยบางแห่งเกิดขึ้นได้
3. สถานการณ์น้ำท่วม
สถานการณ์อุทกภัยในชุมชนเมืองและพื้นที่เกษตรกรรม ปัจจุบันมี 34 จังหวัด ภาคเหนือ 7 จังหวัด ตาก พิจิตร นครสวรรค์ พิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ และอุทัยธานี ภาคกลาง 10 จังหวัด ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม และสระบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และหนองบัวลำภู และภาคตะวันออก 3 จังหวัด นครนายก ปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา ภาคใต้ 2 จังหวัด ภูเก็ต และสตูล