รฟม. อัพเดทงานก่อสร้างรถไฟฟ้า 4 เส้นทาง รอลุ้นใช้โมโนเรลเหลือง-ชมพูต้นปี 2566
เหลือเวลาอีก 2 เดือนเศษ ก็จะเปลี่ยนผ่านสู่ปีใหม่กันแล้ว จึงขอพามาอัพเดทความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายทางต่างๆ ในความรับผิดชอบของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กันสักหน่อยว่ามีความคืบหน้าไปถึงไหน และจะพร้อมเปิดให้บริการเมื่อไรกันบ้าง
ลุ้นเปิดใช้โมโนเรลสายสีเหลืองต้นปี 66
เริ่มต้นจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง หรือ รถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเหลือง ระยะทางทั้งสิ้น 30.4 กิโลเมตร จำนวน 23 สถานี ที่ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ได้มีการทดสอบการเดินรถ จากถนนศรีนครินทร์ – ถนนลาดพร้าว เป็นครั้งแรก
โดยขบวนรถไฟฟ้าได้ออกวิ่งจากศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) เข้าสู่ถนนศรีนครินทร์ ผ่านสถานีศรีอุดม, สถานีสวนหลวง ร.9, สถานีศรีนครินทร์38, สถานีศรีนุช, สถานีกลันตัน, สถานีหัวหมาก, สถานีศรีกรีฑา, สถานีแยกลำสาลี เข้าสู่ถนนลาดพร้าว ผ่านสถานีบางกะปิ, สถานีลาดพร้าว 101, สถานีมหาดไทย, สถานีลาดพร้าว 83, สถานีลาดพร้าว 71, สถานีโชคชัย 4, สถานีภาวนา มุ่งหน้าสู่สถานีปลายทาง สถานีลาดพร้าว ซึ่งเป็นสถานีที่ผู้โดยสารจะสามารถเปลี่ยนเส้นทางไปยัง สถานีลาดพร้าวของรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) ได้
นอกจากสถานีลาดพร้าว ที่เชื่อมต่อกับสถานีลาดพร้าว ของรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินแล้ว ยังมี สถานีแยกลำสาลี เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์), สถานีหัวหมาก เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์และรถไฟทางไกลสายตะวันออก รวมถึง สถานีสำโรง เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง สมุทรปราการด้วย
ในการทดสอบครั้งนี้ ได้ใช้ขบวนรถที่จะเปิดให้บริการจริง มีรูปลักษณ์โฉบเฉี่ยวทันสมัย ภายในห้องโดยสารกระจกกว้างสามารถชมทัศนียภาพภายนอกได้อย่างชัดเจน มีจำนวน 4 ตู้ต่อขบวน ตัวรถกว้าง 3.16 เมตร น้ำหนัก 14,500 – 15,000 กิโลกรัมต่อตู้ โดยระยะแรกจะเปิดให้บริการ 4 ตู้ต่อขบวน รองรับผู้โดยสารได้ 17,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง และสามารถเพิ่มตู้โดยสารได้สูงสุด 7 ตู้ต่อขบวน จะรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 28,000 คนต่อขบวนต่อทิศทาง
สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเหลือง ณ สิ้นเดือนก.ย.2565 มีความก้าวหน้างานโยธา 96.96% ความก้าวหน้างานระบบรถไฟฟ้า 96.56% และความก้าวหน้าโดยรวม 96.79%
ทั้งนี้ รฟม. มีแผนการทดสอบเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ภายในเดือน ต.ค.2565 และคาดว่าจะสามารถเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรี 3 เดือน ได้ระหว่างเดือน ม.ค.– มี.ค.2566 ในระยะแรกช่วงสถานีภาวนา – สถานีสำโรง จากนั้นจะเปิดให้บริการเดินรถอย่างเต็มรูปแบบตลอดเส้นทางประมาณเดือนมิ.ย.2566
โมโนเรลสายสีชมพูทยอยเปิดให้บริการปี 66
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี หรือโมโนเรลสายสีชมพู ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 มีความก้าวหน้างานโยธา 92.82% ความก้าวหน้างานระบบรถไฟฟ้า 91.74% ความก้าวหน้าโดยรวม 92.28% โดยคาดว่าจะเริ่มทยอยเปิดให้บริการเป็นบางช่วงได้ช่วงต้นปี 2566
ด้านโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร ความก้าวหน้างานโยธา 5.65% ความก้าวหน้างานระบบรถไฟฟ้า 3.27% ความก้าวหน้าโดยรวม 4.86% คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายปี 2567 หรือต้นปี 2568
สายสีส้มตะวันออกสร้างเสร็จเกือบ 100%
สำหรับ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ความก้าวหน้างานโยธา ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 ที่ 97.74% แบ่งเป็น 6 สัญญา ประกอบด้วย
สัญญาที่ 1 งานก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดินช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-รามคำแหง 12 โดย CKST Joint Venture คืบหน้า 99.99%
สัญญาที่ 2 งานก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดินช่วงรามคำแหง12-หัวหมาก โดย CKST Joint Venture คืบหน้า 99.99%
สัญญาที่ 3 งานก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดินช่วงหัวหมาก-คลองบ้านม้า โดย ITD คืบหน้า 99.99%
สัญญาที่ 4 งานก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งและสถานียกระดับช่วงคลองบ้านม้า-สุวินทวงศ์ โดย UNIQUE คืบหน้า 87.57%
สัญญาที่ 5 งานก่อสร้างอาคารศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจร โดย CKST Joint Venture คืบหน้า 98.58%
และสัญญาที่ 6 งานก่อสร้างระบบราง โดย UNIQUE คืบหน้า 87.23%
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568
ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร รวม 11 สถานี โดยจะเป็นสถานีใต้ดินทั้งหมด ขณะนี้อยู่ระหว่างประกวดราคาหาผู้รับจ้างก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ และมีแผนที่จะเปิดให้บริการในปี 2570
สายสีม่วงใต้เร่งเคลียร์พื้นที่คู่ขนานการก่อสร้าง
ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) หรือสายสีม่วงใต้ ปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างการดำเนินการสำรวจโบราณคดีและสาธารณูปโภค โดยมีความก้าวหน้างานโยธา ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 ที่ 3.42%
สำหรับการก่อสร้างแบ่งสัญญางานโยธาเป็น 6 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงเตาปูน – หอสมุดแห่งชาติ โดย CKST-PL JOINT VENTURE (บมจ. ช.การช่าง และ บมจ. ซิโน-ไทย) คืบหน้า 3.17%
สัญญาที่ 2 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงหอสมุดแห่งชาติ – ผ่านฟ้า โดย CKST-PL JOINT VENTURE (บมจ. ช.การช่าง และ บมจ. ซิโน-ไทย) คืบหน้า 3.22%
สัญญาที่ 3 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงผ่านฟ้า – สะพานพุทธ โดย ITD – NWR MRT JOINT VENTURE (บมจ. อิตาเลียนไทย และ บมจ. เนาวรัตน์พัฒนาการ) คืบหน้า 5.79%
สัญญาที่ 4 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงสะพานพุทธ – ดาวคะนอง โดย บมจ. ยูนิค คืบหน้า 3.37%
สัญญาที่ 5 งานก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งและสถานียกระดับ ช่วงดาวคะนอง – ครุใน อาคารจอดรถไฟฟ้า (Stabling Yard) และอาคารจอดแล้วจร (Park & Ride) โดย บมจ.อิตาเลียนไทยฯ คืบหน้า 1.24%
สัญญาที่ 6 งานออกแบบและก่อสร้างระบบรางตลอดแนวเส้นทางโครงการโดย บมจ.อิตาเลียนไทยฯ คืบหน้า 3.88%
ทั้งนี้ รฟม. ได้กำหนดกรอบเวลาดำเนินงานสำหรับการก่อสร้างงานโยธาของรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ทั้ง 6 สัญญา ไว้ที่ 2,005 วัน โดยเริ่มนับจากวันที่ รฟม. ได้มีหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed: NTP) ให้กับผู้รับจ้าง ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2570