เจาะตลาดเอเชียกลาง ดึงนักท่องเที่ยวศักยภาพสูงมาไทย
หากจะเอ่ยถึงประเทศแถบเอเชียกลางว่ามีประเทศอะไรกันบ้าง เชื่อว่าคงมีคนไทยจำนวนไม่น้อยเกาหัวกันแกรก ๆ เพราะประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ ซึ่งมีชื่อลงท้ายด้วยคำว่า “สถาน” แทบจะไม่ได้อยู่ในความสนใจ และเราแทบจะไม่รู้ข้อมูลของประเทศเหล่านี้มากนัก ทั้งที่ประเทศเหล่านี้มีกำลังซื้อสูง และน่าดึงดูดให้เข้ามาเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น
ทั้งประเทศ คาซัคสถาน , คีร์กีซสถาน , เติร์กเมนิสถาน , ทาจิกิสถาน และ อุซเบกิสถาน ประเทศเหล่านี้ ตั้งอยู่บนพื้นที่กว้างใหญ่ในทวีปเอเชียที่ไม่มีทางออกทะเล และลักษณะโดยทั่วไปของดินแดนในภูมิภาคนี้คือ มีความเกี่ยวข้องทางประวัติศาสตร์กับกลุ่มชนร่อนเร่ และ เส้นทางสายไหม ซึ่งทำให้ในอดีตนั้นดินแดนในภูมิภาคนี้เป็นเสมือนเส้นทางของ สินค้า คน รวมถึง แนวความคิด ระหว่างยุโรป ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออก
หลังเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นที่น่าสังเกตว่านักท่องเที่ยวจากประเทศกลุ่มเอเซียกลางกลับมามีความต้องการเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงกว่าประเทศอื่นๆ ใน กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช หรือ CIS ซึ่งมีสมาชิก 11 ประเทศ คือ รัสเซีย เบลารุส คาซัคสถาน อาร์เมเนีย มอลโดวา อาเซอร์ไบจาน คีร์กิซ อุซเบกิสถาน ทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถาน และยูเครน
โดยเฉพาะอย่างสาธารณรัฐคาซัคสถานและสาธารณรัฐอุซเบกิสถานที่มีความต้องการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมคือตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรต และประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CIS ปัจจัยหลักที่มีผลในการเดินทางคือมาตรการการขอวีซ่าและเรื่องเที่ยวบิน
ที่ผ่านมา “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวจากตลาดเอเชียกลางกับเราว่า ตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีความน่าสนใจ และเป็นตลาดใหม่ที่ได้มอบหมายให้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ไปหาช่องเจาะตลาด ดึงนักท่องเที่ยวจากกลุ่มนี้ให้เดินทางมาไทยมากขึ้น หลังจากเห็นสัญญาณที่ดี และน่าจะเนโอกาสบาลานซ์ตลาดนักท่องเที่ยวให้กระจาย แทนที่จะกระจุกตัวแต่ตลาดเดิม ๆ อย่าง สหรัฐฯ ยุโรป หรือเอเชียตะวันออก
สำหรับข้อมูลด้านการท่องเที่ยวของ “คาซัคสถาน” นั้น การขอวีซ่าเข้าประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565- 31 มีนาคม 2566 นักท่องเที่ยวคาซัคสถานได้รับสิทธิเข้าประเทศไทยภายใต้เงื่อนไข Visa on Arrival ขยายจาก 15 วันเป็น 30 วัน ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกในการตัดสินใจของนักท่องเที่ยว
ส่วนสถานการณ์เที่ยวบิน พบว่า สายการบิน AirAstana บินตรงเส้นทาง Almaty – กรุงเทพฯ ทุกวัน วันละ 1 เที่ยวบิน เริ่มวันที่ 30 ตุลาคม 2565 ขณะที่ สายการบิน AirAstana บินตรงเส้นทาง Almaty – ภูเก็ต มีแผนทำการบินทุกวัน วันละ 1 เที่ยวบิน (ปัจจุบันบินสัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน) เริ่มวันที่ 30 ตุลาคม 2565 และยังมี สายการบิน SCAT (Sunday Airline) Сharter Flight ประกาศทำการบินในช่วงฤดูหนาวนี้ จากเมือง Almaty, Astana (อัสตานา), คอสตาเนย์(Kostanay), เชมเคนท์ (Shymkent), อูราลสค์Uralsk มายังสนามบินภูเก็ต และ อู่ตะเภา
ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวคาซัคสถาน นั้น ในปี 2562 หรือช่วงก่อนโควิด-19 นักท่องเที่ยวคาซัคสถานเดินทางเข้าไทย 56,529 ราย วันพักเฉลี่ย 14.03 วัน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 4,365.25 ต่อคนต่อวัน รายได้รวม 3462 ล้านบาท และในปี 2565 ตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน มีนักท่องเที่ยวคาซัคสถานเดินทางเข้าไทยแล้วกว่า 21,971 ราย โดยประเมินว่านักท่องเที่ยวคาซัคสถานเดิน ทางเข้าไทยทั้งในปี 2565 มากถึง 55,000 ราย เกือบเท่าสถานการณ์ก่อนเกิดโควิด 19
อย่างไรก็ตาม จากการพูดคุยหารือกับผู้ประกอบการท้องถิ่นและสายการบินในช่วงการจัดโรดโชว์ เมื่อต้นเดือนกันยายน ต่างเรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกการขอวีซ่าเข้าประเทศไทยให้กับนักท่องเที่ยวคาซัคสถานหรือยกเว้น ค่าธรรมเนียม Visa on Arrival และต้องการร่วมมือในกิจกรรมส่งเสริมการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วงฤดูหนาวนี้
อีหนึ่งประเทศที่น่าสนใจ คือ “อุซเบกิสถาน” การขอวีซ่าเข้าประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565- 31 มีนาคม 2566 นักท่องเที่ยวชาวอุซเบกิสถานได้รับสิทธิเข้าประเทศไทยภายใต้เงื่อนไข Visa on Arrival ขยายจาก 15 วันเป็น 30 วัน ส่วนสถานการณ์เที่ยวบิน ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีเที่ยวบินจากอุซเบกิสถานมายังประเทศไทย สายการบิน Uzbekistan Airways อยู่ระหว่างการเจรจาขอกลับมาเปิดเที่ยวบินระหว่างประเทศ
ปัจจุบันนักท่องเที่ยวอุซเบกิสถานเดินทางมาประเทศไทย โดยบินจากเมืองทาชเค้นท์ (Tashkent) และเมืองซามาร์คานด์ (Samarkand) ต่อเครื่องที่เมือง Almaty สาธารณรัฐ คาซัคสถาน โดยสายการบิน Air Astana หรือต่อเครื่อง ณ เมืองอิสตันบูล (Istanbul) โดยสารการบิน Turkish Airlines หรือต่อเครื่อง ณ เมืองดูไบ โดยสายการบิน Emirate Airlines หรือเดินทางโดยรถยนต์ประมาณ 2 ชม. จากเมืองทาชเค้นท์ (Tashkent) มาขึ้น Сharter Flight ที่เมืองเชมเคนท์ (Shymkent) สาธารณรัฐคาซัคสถาน
โดยในปี 2562 พบว่า มีนักท่องเที่ยวอุซเบกิสถานเดินทางเข้าไทย 19,891 ราย และในปี 2565 ตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม มีนักท่องเที่ยวอุซเบกิสถานเดินทางเข้าไทยแล้วกว่า 2,496 ราย โดยประเมินว่า นักท่องเที่ยวอุซเบกิสถานเดินทางเข้าไทยในปี 2565 มากถึง 8,500 ราย ซึ่งจากการพูดคุยหารือกับผู้ประกอบการท่องถิ่น มีการรายงานข้อมูลความไม่สะดวกสำหรับนักท่องเที่ยวอุซเบกิสถานที่ต้องการจะอยู่ประเทศไทยมากกว่า 30 วัน ซึ่งจะต้องส่งเอกสารมายื่นขอวีซ่า ณ สถานทูตเมืองมอสโก ของรัสเซียเท่านั้น
อีกหนึ่งประเทศ คือ “คีร์กีซสถาน” ปัจจุบันนักท่องเที่ยวคีร์กีซต้องขอวีซ่าเข้าประเทศไทย โดยส่งเอกสารที่ สถานทูตเมืองอาสตาน่า สาธารณรัฐคาซัคสถานเท่านั้น ซึ่งมีความยากลำบากเนื่องจากการขนส่งระหว่างประเทศ โดย TourOperator มีการเสนอให้รัฐยาลช่วยผลักดันให้การขอวีซ่าสามารถทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด19 นักท่องเที่ยวคีร์กีซสถานเคยขอวีซ่าผ่านสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ เมืองบิชเคก (Bishkek) สาธารณรัฐคีร์กีซได้
ทั้งนี้ ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีเที่ยวบินจากคีร์กีซสถานมายังประเทศไทย ซึ่งช่วงก่อนการระบาดโควิด19 บริษัท Pegas Touristik เคยจัด Сharter Flight ของสายการ Sunday Airlines เส้นทาง บิชเคก (Bishkek) – ภูเก็ต โดยปัจจุบันนักท่องเที่ยวคีร์กีซสามารถเดินทางมาประเทศไทยได้โดยบินต่อเครื่องจากคาซัคสถาน ซึ่งในปี 2562 นักท่องเที่ยวคีร์กีซเดินทางเข้าไทย 4,608 ราย วันพักเฉลี่ย 14 วัน และค่าใช้จ่ายต่อคนต่อวัน 4,365 บาท สามารถสร้างรายได้ 281 ล้านบาท
ขณะที่ “เติร์กเมนิสถาน” นักท่องเที่ยวเติร์กเมนิสถานต้องขอวีซ่าเข้าประเทศไทย โดยต้องส่งเอกสารมายื่นขอวีซ่า ณ สถานทูตกรุงอังการ่า ตุรกีเท่านั้น ซึ่งไม่คล่องตัวเนื่องจากยังไม่มีเที่ยวบินจากเมืองอาชกาบัต (Ashgabat) ไปยังตุรกี โดย TourOperator มีการเสนอให้รัฐช่วยผลักดันให้การขอวีซ่าสามารถทำได้ ณ สถานทูตมอสโก เนื่องจากมีสายการบิน Turkmenistan Airlines ที่บินเข้ามอสโกและเมืองคาซานของรัสเซีย
ส่วนเที่ยวบิน ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีเที่ยวบินจากประเทศเติร์กเมนิสถานสู่ประเทศไทย ซึ่งช่วงก่อนการระบาดโควิด-19 สายการบิน Turkmenistan Airlines เคยทำการบินเส้นทางอาชกาบัต (Ashgabat) – กรุงเทพ ประมาณ 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ไม่เพียงแค่สำหรับนักท่องเที่ยวจากประเทศเติร์กเมนิสถานเท่านั้น แต่ยังมีนักท่องเที่ยวจากรัสเซีย ยูเครน เบลารุส และบางประเทศในยุโรปเดินทางต่อเครื่องเส้นทางนี้ ซึ่งในปี 2562 นักท่องเที่ยวเติร์กเมนิสถานเดินทางเข้าไทย 2,902 ราย
ส่งท้ายด้วย “ทาจิกิสถาน” ประเทศเล็ก ๆ ของเอเชียกลางที่มีประชากรไม่ถึง 10 ล้านคน ปัจจุบันนักท่องเที่ยวทาจิกิสถานต้องขอวีซ่าเข้าประเทศไทย โดยส่งเอกสารมายื่นขอวีซ่า ณ สถานทูตกรุงมอสโก ส่วนข้อมูลเที่ยวบินนั้น ก็ไม่มีเที่ยวบินจากทาจิกิสถานสู่ประเทศไทย ซึ่งจากข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยว ในปี 2562 นักท่องเที่ยวทาจิกิสถานเดินทางเข้าไทยเพียง 770 ราย เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศไม่เอื้ออำนวยให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศได้
อย่างไรก็ตามหากประเทศไทยลองหันมาเจาะตลาดเหล่านี้อย่างจริงจังบ้าง ก็น่าจะกระจายนักท่องเที่ยวให้ลากหลายมากขึ้น และไม่ต้องไปพึ่งประเทศใดประเทศหนึ่งเหมือนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา