สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 7 ต.ค. 65
บริเวณภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนลดลง แต่บริเวณภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.ประจวบคีรีขันธ์ (141 มม.) จ.เพชรบุรี (75 มม.) และ จ.ชุมพร (74 มม.)
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ใน 19 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ ตาก พิจิตร นครสวรรค์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานีขอนแก่น เลย ชัยภูมิ มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ ลพบุรี ปราจีนบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 65,181 ลบ.ม. (79%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 57,262 ล้าน ลบ.ม. (80%) เฝ้าระวังน้ำต่ำกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 1 แห่ง บริเวณภาคใต้ เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 23 แห่ง ได้แก่ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม แม่มอก แควน้อย ทับเสลา ป่าสัก กระเสียว ห้วยหลวง จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน ลำแซะ ลำนางรอง สิรินธร ขุนด่าน คลองสียัด บางพระ หนองปลาไหล นฤบดินทร และบึงบระเพ็ด
ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 48/2565 เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำชี
กอนช.ติดตามปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนอุบลรัตน์อย่างต่อเนื่องในวันนี้ มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนประมาณ 170 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งสามารถระบายออกได้เพียงวันละ 41 ล้าน ลบ.ม. ทำให้ระดับน้ำเพิ่มจนเกินระดับเก็บกักสูงสุดและยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ระดับน้ำ +183.35 ม.รทก. สูงกว่าระดับเก็บกักปกติ 1.15 ม. ปัจจุบันมีปริมาตรน้ำ 2,878 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 119% มีปริมาตรเกินความจุ 458 ล้าน ลบ.ม. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้มีหนังสือถึง กอนช. แจ้งเตือนระดับน้ำเขื่อนอุบลรัตน์เข้าสู่สภาวะวิกฤต ระดับ 3 คาดการณ์ว่าระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับวิกฤตหรือสูงกว่าคันดินโนนสัง ซึ่งเป็นคันดินป้องกันชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณรอบเขื่อนอุบลรัตน์ ดังนี้
1. ระดับน้ำจะสูงถึงระดับเตือนภัย (+183.50 ม.รทก. ) ในวันที่ 7 ต.ค. 65
2. ระดับน้ำจะสูงถึงระดับวิกฤต (+184.00 ม.รทก.) ในวันที่ 8 ต.ค. 65 เพื่อควบคุมปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมเพื่อรักษาเสถียรภาพความมั่นคงของตัวเขื่อน กฟผ.จึงมีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำ ตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 65 ซึ่งจะทำให้พื้นที่ท้ายเขื่อนอุบลรัตน์มีระดับน้ำสูงขึ้นและอาจกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณ อ.อุบลรัตน์ เขาสวนกวางซำสูง น้ำพอง และเมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น เฝ้าระวังพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในปัจจุบันจะมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีก และเฝ้าระวังพนังกั้นน้ำริมแม่น้ำชี ตั้งแต่ จ.ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และยโสธร
ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 49/2565 เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านบริเวณ จ.นครสวรรค์ (C.2) อยู่ในเกณฑ์ 3,077 ลบ.ม./วินาที ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวจะไหลมารวมกับแม่น้ำสะแกกรังและลำน้ำสาขาไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยา โดยกรมชลประทานได้พิจารณารับน้ำเข้าคลองฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกเต็มศักยภาพคลองที่สามารถรองรับน้ำได้ ปัจจุบันระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ +17.64 ม.รทก. ซึ่งสูงกว่าระดับเก็บกัก 1.14 (+16.50 ม.รทก.) เพื่อรักษาเสถียรภาพ ความมั่นคงของบานระบายน้ำและตัวเขื่อนเจ้าพระยา กรมชลประทานจำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ให้อยู่ในเกณฑ์ +17.60 ม.รทก. ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอยู่ในอัตรามากกว่า 2,900 – 3,000 ลบ.ม./วินาที ตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค. 65 ประกอบกับกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ได้คาดการณ์ระดับน้ำทะเลหนุน ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณกองบัญชาการกองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร ป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ จ.สมุทรปราการ และพื้นที่ใกล้เคียง จะเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ โดยระดับน้ำจะมีความสูงประมาณ 1.90 – 2.20 ม.รทก. ในช่วงวันที่ 8 – 13 ต.ค. 65
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 7 ต.ค. 2565 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
1.1 ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 48/2565 ลงวันที่ 6 ต.ค. 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำชี ในวันที่ 6 ต.ค. 2565 ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนอุบลรัตน์ ประมาณ 170 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งสามารถระบายออกได้เพียงวันละ 41 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนอุบลรัตน์ ทำให้ระดับน้ำเพิ่มจนเกินระดับเก็บกักสูงสุดและยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่ระดับน้ำ + 183.35 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง สูงกว่าระดับเก็บกักปกติ 1.15 เมตร ปัจจุบันมีปริมาตรน้ำ 2,878 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 119 มีปริมาตรเกินความจุ 458 ล้านลูกบาศก์เมตร และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้มีหนังสือถึงกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ แจ้งเตือนระดับน้ำเขื่อนอุบลรัตน์เข้าสู่สภาวะวิกฤต ระดับ 3 คาดการณ์ว่าระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับวิกฤตหรือสูงกว่าคันดินโนนสัง ซึ่งเป็นคันดินป้องกันชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณรอบเขื่อนอุบลรัตน์เพื่อควบคุมปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมเพื่อรักษาเสถียรภาพความมั่นคงของตัวเขื่อน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจึงมีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำ ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2565 ซึ่งจะทำให้พื้นที่ท้ายเขื่อนอุบลรัตน์มีระดับน้ำสูงขึ้นและอาจกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณอำเภออุบลรัตน์ เขาสวนกวาง ซำสูง น้ำพอง และเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น เฝ้าระวังพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในปัจจุบันจะมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีก และเฝ้าระวังพนังกั้นน้ำริมแม่น้ำชี ตั้งแต่จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และยโสธร
1.2 ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 49/2565 ลงวันที่ 6 ต.ค. 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติเฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ในวันที่ 6 ต.ค. 2565 มีปริมาณน้ำไหลผ่านบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ (C.2) อยู่ในเกณฑ์ 3,077 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวจะไหลมารวมกับแม่น้ำสะแกกรังและลำน้ำสาขาไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยา โดยกรมชลประทานได้พิจารณารับน้ำเข้าคลองฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกเต็มศักยภาพคลองที่สามารถรองรับน้ำได้ ปัจจุบันระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ +17.64 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ซึ่งสูงกว่าระดับเก็บกัก 1.14 (+16.50 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง) เพื่อรักษาเสถียรภาพความมั่นคงของบานระบายน้ำและตัวเขื่อนเจ้าพระยา กรมชลประทานจำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ให้อยู่ในเกณฑ์ +17.60 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอยู่ในอัตรามากกว่า 2,900 – 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2565 ประกอบกับกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ได้คาดการณ์ระดับน้ำทะเลหนุน ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา
บริเวณกองบัญชาการกองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร ป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ จังหวัดสมุทรปราการ และพื้นที่ใกล้เคียง จะเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ โดยระดับน้ำจะมีความสูงประมาณ 1.90 – 2.20 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ในช่วงวันที่ 8 – 13 ตุลาคม 2565 จึงขอให้เฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ตั้งแต่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท อำเภออินทร์บุรี เมืองสิงห์บุรี และพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอป่าโมก และไชโย คลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล อำเภอเสนา และผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.10 – 0.15 เมตร และบริเวณตั้งแต่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี กรุงเทพมหานคร และจังหวัดสมุทรปราการ ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 0.15 – 0.30 เมตร
2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับฤดูฝน ปี 2565
วานนี้ (6 ต.ค. 65) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) พร้อมคณะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ จังหวัดปทุมธานี โดย นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี กล่าวต้อนรับและบรรยายสรุปสถานการณ์ภาพรวม จังหวัดปทุมธานี นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รักษาการที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นำเสนอแผนงานด้านทรัพยากรน้ำใน จังหวัดปทุมธานี และภาพรวมสถานการณ์น้ำปัจจุบัน นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นำเสนอแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ จังหวัดปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร ณ ศาลากลางจังหวัดปทุมธานี ก่อนลงพื้นที่ตรวจติดตามการบริหารจัดการน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณท่าน้ำวัดโบสถ์ อำเภอสามโคก การก่อกระสอบทรายกั้นน้ำ อบต.กระแชง อำเภอสามโคก และประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ที่ใช้บริหารจัดการน้ำคลองรังสิตประยูรศักดิ์และการระบายน้ำในพื้นที่ จังหวัดปทุมธานี และกรุงเทพฯ ก่อนพร้อมพบปะให้กำลังใจประชาชนในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี