กนอ.ได้ข้อยุติ ค่าถมทะเลท่าเรือมาบตาพุด
กนอ.ปิดโต๊ะเจรจาค่าถมทะเลท่าเรือมาบตาพุด ระยะ 3 (ช่วงที่1)รัฐรับผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มเป็น 9.21 % มูลค่า 6,721 ล้านบาท เตนียมเสนอเข้า ครม.เห็นชอบสัปดาห์หน้า
นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่าภายหลังจาก ที่คณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศ หรือ กนอ. ไปเจรจากับบริษัทเอกชนกลุ่มกิจการร่วมค้า กัลฟ์และพีทีทีแทงค์ โดยภาคเอกชนเสนอขอร่วมลงทุนของรัฐแก่ภาคเอกชนที่ผ่านการชนะประมูลโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 (ช่วงที่1) ระยะเวลา 30 ปี ในวงเงิน 45,480 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ Public Private Partnership (PPP) NET Cost ได้ข้อสรุปผลการเจรจาในเรื่องค่าใช้จ่ายและผลตอบแทนลดลงให้ กนอ.เหลือจ่ายเงินร่วมลงทุนเพียง 710 ล้านบาทต่อปี จากเงื่อนไขของเอกชนเดิมที่ให้จ่าย 720 ล้านบาท รวมเป็นอัตราผลตอบแทนทางการเงินและทางเศรษฐศาสตร์ของการลงทุน หรือ FIRR ที่ กนอ.จะได้รับไม่น้อยกว่า 9.21 % จากเดิมอยู่ที่ 9.14 %
ขณะที่เอกชนจะได้รับอัตราผลตอบแทนทางการเงินและทางเศรษฐศาสตร์ของการลงทุน หรือ FIRR ลดลงอยู่ที่ 10.73% จากเดิมอยู่ที่ 10.75 % รวมผลประโยชน์ที่ กนอ.จะได้รับจากโครงการเพิ่มขึ้น 6,721 ล้านบาท จากเดิมอยู่ที่ 6,606 ล้านบาท โดยในวันนี้ (27 พ.ค 62) ได้นำข้อสรุปดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ) ครั้งที่ 5/2562 ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
ทึ้งนี้มติที่ประชุม กพอ.ให้รอผลการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานงบประมาณ กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้เรียบร้อยก่อนนำเสนอ ครม. โดยคาดว่าจะสามารถนำเสนอ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบภายในสัปดาห์หน้า(4 มิ.ย.2562)
จากนั้นคณะกรรมการฯจะส่งร่างสัญญาไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาร่างสัญญาแล้วเสร็จ ภายใน 19 มิ.ย.2562 หลังจากนั้น กพอ.เห็นชอบผลการคัดเลือกและร่างสัญญาภายในวันที่ 22 มิ.ย.2562 และเตรียมเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกได้ภายใน 9 ก.ค.2562 และคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาร่วมลงทุนระหว่าง กนอ.-กลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์ และ พีทีที แทงค์ ภายในเดือนก.ค.2562
“การเจรจาดังกล่าว ได้ดำเนินการอย่างถึงที่สุด ซึ่งเอกชนได้ลดวงเงินและอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งการเป็นคำนวณหลักการของเงื่อนไขทางการเงิน ที่คำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การใช้งบลงทุนในโครงการ ที่ต้องใช้วงเงินที่สูง และกู้เงินเพื่อการลงทุน รวมทั้งการขอใบอนุญาตในการดำเนินกิจการ ภายหลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จ และอาจต้องมีปัจจัยในเรื่องของจำนวนผู้ใช้บริการท่าเรือที่จะเข้ามาใช้บริการในอนาคต ทั้งนี้ ในขั้นตอนดังกล่าว หาก กพอ. และครม. เห็นชอบ ตามที่คณะกรรมการฯเสนอ จะดำเนินการส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาสัญญาของโครงการฯดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับภาคเอกชนเข้าพัฒนาในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานได้ประมาณเดือน ก.ค.นี้”