“ย่านเมืองเก่า จังหวัดสงขลา” เมืองท่องเที่ยววัฒนธรรมต้นแบบ
การออกเดินทางท่องเที่ยวนอกจากไปชมน้ำตก ป่าไม้ และทะเลฟ้าครามแล้ว การไปเที่ยวสัมผัสวิถีชีวิต วัฒนธรรม ชมบ้านเมืองย่านเก่าแก่ ก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์ไม่แพ้กัน เพราะนอกจากจะชื่นชมความงดงามของสถาปัตยกรรม และบรรยากาศรอบข้างแล้ว ย่านชุมชนเก่าเหล่านี้ยังมีเรื่องเล่า และของอร่อย ๆ ซ่อนอยู่มากมายนับไม่หวาดไหว
วันนี้อยากจะพาไปเที่ยวย่านเก่าแห่งหนึ่ง ซึ่งมีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 200 ปี นั่นคือ “ย่านเมืองเก่า จังหวัดสงขลา” เป็นหนึ่งในชุมชนริมฝั่งทะเลสาบสงขลา ที่มีการผสมผสานทางวัฒนธรรม ซึ่งมาจากเส้นทางการเดินเรือยุคโบราณ นั่นจึงทำให้คนมากหน้าหลายตาที่เข้ามายังพื้นที่กลายเป็นย่านการค้าที่สำคัญมาตั้งแต่อดีตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน บ้านเรือน อาคาร ร้านค้าจึงมีความเป็นเอกลักษณ์ ผสมผสานศิลปวัฒนธรรมของชนชาติต่าง ๆ ที่มาตั้งรกรากบริเวณนี้
อย่างที่หลายคนบอกไว้ว่า คนหนึ่งคนไม่ว่าจะมาจากเชื้อชาติ หรือถิ่นฐานดังเดิมจากที่ไหน เมื่อคนเหล่านี้ย้ายหลักแหล่งถิ่นที่อยู่ สิ่งที่จะตามติดคน ๆ นั้นไปด้วย ไม่ใช่สิ่งของ แต่ะเป็นวัฒนธรรม ประเพณี ศิลปะ อาหาร และเครื่องนุ่งห่ม สิ่งเหล่านี้จะสืบต่อกันรุ่นต่อรุ่น เหมือนกับพื้นที่บริเวณ ย่านเมืองเก่า จังหวัดสงขลา ที่ยังคงมีกลิ่นของอดีตอยู่เสมอ ๆ
พื้นที่แห่งนี้ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง มีถนนสายสำคัญน่าเดินเที่ยว 3 สาย คือ ถนนนครนอก ถนนนครใน และ ถนนนางงาม เป็นถนนที่ประกอบไปด้วยอาคารและสถาปัตยกรรมที่งดงาม เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวความเป็นมาของชาวสงขลา ผ่านมุมมองทางสถาปัตยกรรม คงเอกลักษณ์ดั้งเดิมเอาไว้ มีห้องแถวไม้แบบจีน ตึกคลาสสิคสไตล์ ชิโนโปรตุกีส และยังมีอาคารตึกแถวแบบจีนโบราณของชาวจีนฮกเกี้ยนอยู่ปะปนกันทั้งสองฟากฝั่งถนน
โดยอาคารหลายหลังมี การปรับปรุง ทาสีใหม่ แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของอาคารอาคารเก่าเหล่านี้สะท้อนภาพการเป็นเมืองสำคัญด้านการปกครอง และทางเศรษฐกิจมาแต่ครั้งสมัยธนบุรีอีกทั้งการเป็นเมืองท่าติดทะเลทำให้ได้รับวัฒนธรรมจากหลากหลายเชื้อชาติ ผสมผสาน กันเป็นวัฒนธรรมเฉพาะตัวแบบสงขลา
ว่ากันว่าในอดีตบริเวณนี้เป็นท่าเทียบเรือเพื่อการค้าขายและขนส่งสินค้าจากต่างประเทศ ดูได้จากการมีโรงสีข้าวขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันที่แห่งนี้ได้ชื่อว่า หับ โห้ หิ้น หรือที่ชาวสงขลาเรียกกันว่า โรงสีแดง โรงสีข้าวแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณริมทะเลสาปสงขลา มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับพื้นที่เพาะปลูกข้าว แต่ในปัจจุบันได้ยกเลิกกิจการไปเนิ่นนานแล้ว เพราะเกิดจากสภาพแวดล้อม สังคม เทคโนโลยี ที่มีการพัฒนาและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว
ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ได้กลายมาเป็นแหล่งเรียนรู้ ให้กับผู้คนที่มาเยี่ยมชมที่นี่ เพื่อจะได้รู้ถึงประวัติ ความเป็นมา และวัฒนธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต จนถึงปัจจุบัน ถนนนครใน เป็นถนนที่อยู่ตรงกลางระหว่าง ถนนนครนอก และถนนนางงาม
ถนนนครนอกนี้มีสถานที่สำคัญ คือ บ้านนครใน จะเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งการอนุรักษ์ เสริมสร้างคุณค่า บ้านนครในเป็นบ้านไม้จีนแบบโบราณ และบ้านตึกสีขาว ภายในจะเป็นการจัดแสดงของเก่า การอนุรักษ์ของเก่า ให้ได้ชมกัน
ส่วนถนนนางงาม เดิมชื่อ ถนนเก้าห้อง หรือเรียกว่า ย่านเก้าห้อง ถนนเส้นนี้เกิดจากการตัดถนน เพื่อเป็นเส้นทางในการประกอบพิธีสมโภชเสาหลักเมือง ถนนนางงามนี้มีสถานที่สำคัญ คือ ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา ศาลเจ้าพ่อกวนอู ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้าน คู่เมือง ของชาวสงขลาและเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยสายเชื้อจีนด้วย
นอกจากความงดงามของบ้านเรือนแล้ว ด้วยความที่เป็นเมืองเก่าแก่ ผู้คนอยู่อาศัยปักหลักกันมานาน ก็ย่อมมีอาหารการกินประจำถิ่นอร่อย ๆ ควบคู่กันไปด้วย พื้นที่วัฒนธรรมย่านเก่าเมืองสงขลาแห่งนี้ มีขนมอร่อยมากมาย ทั้งไทย จีน ฝรั่ง โดยเฉพาะถนนนางงาม หรือถนนเก้าห้องนั้น ละลานตาไปด้วยอาหารคาวหวานท้องถิ่นอันเลื่องชื่อ ทั้งร้านขนมไทย ร้านไอศกรีม ร้านกาแฟโบราณ ร้านซาลาเปา
จุดไฮไลท์ที่ต้องไม่พลาด คือ โจ๊กเกาะลอย ข้าวสตูร้านเกียดฟั่ง (โกยาว) สตูแบบจีนที่กินคู่กับซาลาเปาร้อน ๆ หรือจะลองก๋วยเตี๋ยวหางหมู ก๋วยเตี๋ยวเป็ด และไส้กรอกสูตรเวียดนาม รวมทั้งขนมสำปันนี ขี้มอด ทองเอก ข้าวฟ่างกวน ขนมเทียนสด ซึ่งเป็นขนมโบราณที่หากินยาก รอคอยให้ลองไปลิ้มรสดูสักครั้ง เดี๋ยวจะหาว่าไปไม่ถึงสงขลาจริง ๆ
ล่าสุดเพื่อเป็นการยกระดับเมืองเก่าสงขลาให้เกิดการพัฒนาต่อไปโดยที่ยังคงเอกลักษณ์ดั้งเดิมเอาไว้ ล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีการเห็นชอบ โครงการพัฒนาเมืองต้นแบบด้านศิลปวัฒนธรรม : เมืองเก่าสงขลา (Culture Smart City : Songkhla Old Town) ในนามรัฐบาล มีแม่งานคือ กระทรวงวัฒนธรรม มีนโยบายที่จะผลักดันและส่งเสริมงานวัฒนธรรม เชิงพื้นที่ จังหวัดสงขลา โดยพัฒนาเป็นเมืองต้นแบบด้านศิลปวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาต่อยอดให้เป็นเมืองต้นแบบในการทำกิจกรรมและพัฒนาพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทย
โดยเห็นว่าย่านเมืองเก่าและบริบทโดยรวมของเมืองสงขลา มีต้นทุนทางประวัติศาสตร์ที่ชัดเจน จากองค์ประกอบหลักของเมืองสงขลาไม่ว่าจะเป็นศาสนสถาน ชุมชน อาคารบ้านเรือนทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมที่เก่าแก่ ถนน ตรอก ซอก ซอย รวมถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยังคงมีกลิ่นอายของชุมชนที่เหลือร่องรอยทางประวัติศาสตร์ย่านการค้าสมัยโบราณที่มีอายุมากกว่า 200 ปี
สิ่งเหล่านี้ ถือว่าเป็นสินทรัพย์ทางกายภาพและเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ นับเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมในการพัฒนาเมืองสงขลาให้เป็นเมืองต้นแบบด้านวัฒนธรรมที่สามารถสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับเมืองและชุมชนในอนาคตได้
ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ร่วมกับมูลนิธิเมืองเก่าสงขลาและภาคีเครือข่ายทางวัฒนธรรมทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดสงขลาขับเคลื่อนงานทางด้านวัฒนธรรมเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เช่น การจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมความจงรักภักดีในสถาบันพระมหากษัตริย์และรักบ้านเกิดย่านเมืองเก่าสงขลา งานมหกรรมศิลปะนานาชาติ สงขลา เป็นการจัดแสดงนิทรรศการผลงานศิลปะในสถานที่ทรงคุณค่า โดดเด่น ในพื้นที่ของชุมชนเมืองเก่าสงขลา
การเปิดตลาดนัดศิลปวัฒนธรรมเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในจังหวัดและชุมชน การจัดงานมหกรรมมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม “สาระศิลป์ถิ่นสงขลา” เป็นการนำทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญ เช่น อาหารไทยท้องถิ่น นำมาพัฒนาต่อยอดสู่อาหารฟิวชั่น การจัดงานศิลป์สุวรรณภูมิ เพื่อให้คนในท้องถิ่นเกิดความรู้ความเข้าใจในรากเหง้าของตนเอง และตระหนักรู้ถึงความเชื่อมโยงกันทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
การจัดงานเฉลิมฉลองการขึ้นทะเบียนโนรา เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เพื่อสร้างการรับรู้และการพัฒนาต่อยอดมรดก ภูมิปัญญาศิลปะการแสดงโนรา การจัดงานมรดกโนรา “โนรา” ศิลปะการแสดงไร้พรมแดน กรีดกรายร่ายรำให้โลกจำ ณ สงขลาพาวิเลียน เมืองเวนิส สาธารณรัฐอิตาลี เนื่องในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยเบียนนาเล่ รวมทั้งการพัฒนาแอปพลิเคชันบนมือถือ “Treasure Thailand” สำหรับบริการนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ
ผลสำเร็จจากดำเนินกิจกรรมทั้งหมด พบว่า มีนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวมาเลเซียและสิงคโปร์นิยมเดินทางมาท่องเที่ยวในจังหวัดสงขลาเป็นจำนวนมาก ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบว่ามีนักท่องเที่ยวจากประเทศในพื้นที่ทวีปยุโรปและเอเชียเพิ่มมากขึ้น เช่น อังกฤษ สเปน โปรตุเกส จีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ซึ่งทำให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวและช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของชุมชนในพื้นที่จังหวัดสงขลาประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี
ดังนั้นจึงเห็นว่าควรต่อยอดด้วยการจัดทำ “ย่านเมืองเก่าสงขลา” เมืองต้นแบบ เพื่อสร้างพื้นที่ให้ทุกคนได้แสดงออกทางวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์ ผลักดัน Soft Power อันเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น และทำให้วัฒนธรรมสามารถอยู่ร่วมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปเพื่อตอบสนองคนรุ่นใหม่ และสร้างให้เกิดเครือข่ายเป็นพลังในการขับเคลื่อน รวมทั้งผลักดันให้ “เมืองสงขลาเป็นเมือง Culture Smart City” ในมิติทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสังคม สร้างชุมชนที่เข้มแข็งต่อไป