สรรพากรชี้ 10 สัญญาณจุดเสี่ยงธุรกิจ
เปิด “10 สัญญาณอันตราย…จุดเสี่ยงธุรกิจ” สรรพากรชี้ มีแค่ 1 รายได้จากกลุ่มไหนก็ตาม ทั้ง “สินทรัพย์-หนี้สินและทุน-รายได้-ค่าใช้จ่าย” ล้วนเสี่ยงโดนสอบย้อนหลังทั้งสิ้น เผยต้องการออกจากกลุ่มเสี่ยง ที่ต้องทำคือเร่งปรับปรุงงบการเงินและแบบแสดงรายการภาษี รวมถึงจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการเท่านั้น
นายเกรียงศักดิ์ ประสงค์สุกาญจน์ รองอธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเตือนบรรดาผู้ประกอบการให้ระมัดระวัง “จุดเสี่ยงธุรกิจ” จาก “10 สัญญาณอันตราย” ที่หากปล่อยทิ้งไว้ จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม อาจกลายเป็นปัญหาตามมาในอนาคต โดยเฉพาะการถูกสุ่มตรวจสอบภาษีย้อนหลัง เนื่องจากกรมสรรพากรวันนี้ มีทั้งเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ประกอบกับมีเจ้าหน้าที่เองก็มีประสบการณ์มากพอจะวินิจฉัยหรือประเมินได้ว่าผู้ประกอบการรายใดอยู่ในภาวะมีความเสี่ยงดังกล่าว ทั้งนี้ 10 สัญญาณ ความเสี่ยงธุรกิจ ประกอบด้วยกลุ่มสินทรัพย์ (3 รายการ) กลุ่มหนี้สินและทุน (2 รายการ) กลุ่มรายได้ (2 รายการ) และกลุ่มค่าใช้จ่าย (3 รายการ)
โดยในกลุ่มสินทรัพย์ ส่วนใหญ่มักเป็น “ธุรกิจที่ใช้เงินสดเป็นหลัก” บ้างก็จัดทำบัญชี “สินค้าคงเหลือไม่ถูกต้อง” รวมถึงแจ้งแสดงรายการบัญชีว่า “ไม่มีสินทรัพย์” หรือ “มีสินทรัพย์มากผิดปกติ” ส่วนกลุ่มหนี้สินและทุน มักจะพบว่ามีการทำบัญชีในทำนองว่ามี “เงินกู้ยืมจากกรรมการบริษัทมาก กระทั่งไม่สามารถชี้แจงได้” ขณะที่ กลุ่มรายได้นั้น มักจะทำรายการ “บันทึกรายได้ไม่ถูกต้อง” และ/หรือ “บันทึกรายได้ไม่ครบถ้วน” สำหรับกลุ่มค่าใช้จ่าย ส่วนมากจะพบว่าการจัดทำบัญชีในลักษณะ “ค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่รายได้ลดลง” และ “ค่าใช้จ่ายสูง เมื่อเทียบกับรายได้” รวมถึง ทำการ “สร้างค่าใช้จ่ายเท็จ”
“ซึ่งทั้ง 10 สัญญาณ ความเสี่ยงธุรกิจนี้ ไม่ว่า ผู้ประกอบการจะมีเพียงรายการเดียว หรือมีมากกว่า 1 รายการ ก็อยู่ในวิสัยที่กรมสรรพากร สามารถจะตรวจสอบย้อนหลังกลับไปได้ จึงขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ ซึ่งบางคนอาจไม่ได้ตั้งใจ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ได้กลับเข้าสู่ระบบบัญชีเดียวอย่างถูกต้องต่อไป ซึ่งการเข้ามาอยู่ในระบบบัญชีเดียว และมีการจัดงบการเงินที่ถูกต้องนั้น จะส่งผลดีอย่างมากมายตามมาทีเดียว” รองอธิบดีกรมสรรพากรย้ำ
ทั้งนี้ หากผู้ประกอบที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงและต้องการจะออกจากกลุ่มนี้ ก็จะต้องดำเนินการตามที่ รองอธิบดีกรมสรรพากรรายนี้ แนะนำไว้ นั่นคือ เร่งปรับปรุงงบการเงินและแบบแสดงรายการภาษี จากนั้น ก็จัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ ก่อนยื่นแสดงต่อกรมสรรพากรในช่วงเวลาที่กำหนดไว้ กล่าวคือ ยื่นได้ไม่เกินวันที่ 30 มิ.ย.62.