บัตรใบเดียว ฟื้นคืนชีพ บัตรสองใบ ฝุ่นตลบ
อีกไม่เกิน 8 เดือน การเลือกตั้งครั้งหน้าใกล้จะมาถึง แต่กติกาการเลือกตั้งบัตรสองใบ บัตรใบเดียว ยังคงฝุ่นตลบ
ออเดอร์จากทำเนียบรัฐบาล ยังไม่สะเด็ดน้ำ กลับไป กลับมา บัตรสองใบ ยังอยู่บนเส้นด้าย สูตรคำนวณ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ( ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์) หารด้วย 100 หารด้วย 500 ยังพลิกไป พลิกมา หลายตลบ
แม้การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภา (ส.ส.และ ส.ว.) ในวาระสอง จะพลิกโผ แหกด่าน คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ฉบับที่ .. พ.ศ. …. เสียงข้างมาก หักดิบ สูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จาก หารด้วย 100 กลับหลังหันเป็น หาร 500
ระหว่างทางมีความพยามที่จะแทรกกลาง แก้เกม เพื่อไม่ให้สูตรคำนวณ ส.ส.หารด้วย 500 ต้องเป็นหมัน เพื่อให้สูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ หาร 500 โดยการปรับแต่ง ไม่ให้ถูกคว่ำในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ
หลังจากมีผู้แสดงความประสงค์ล่วงหน้าว่าจะไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และอาจจะถอยหลังสุดซอย ไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว พ่วงด้วย ส.ส.พึงมี
เข้าทางพรรคพลังประชารัฐ ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค กลับมากุมความได้เปรียบ แต่ก็ต้องแลกมากับการดวลเกมของพรรคเพื่อไทย ในการแตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย
อีกแทคติก คือ การโยนหินถามทาง การปล่อยให้เวลาการพิจารณาล่วงเลยไปเกิน 180 วัน หรือ ตรงกับวันที่ 15 สิงหาคม 2565 มีอันร่างวาระสอง สูตรหาร 500 ต้องมีอันเป็นไป กลับไปใช้ร่างแรก สูตรหาร 100
หากเดินหน้าต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 132 และ มาตรา 148 กำหนดให้ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับที่ .. พ.ศ. …. ต้องผ่าน 3 ขั้นตอน
ขั้นตอนแรก รัฐธรรมนูญ มาตรา 132 (2) กำหนดให้ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้ส่ง กกต.เพื่อให้ความเห็น ในกรณีไม่มีข้อทักท้วงภายใน 10 วัน ให้รัฐสภาดำเนินการต่อไป
ขั้นตอนที่สอง กรณีกกต.ทักท้วง รัฐธรรมนูญมาตรา 132 (3) กำหนดไว้ว่า กรณี กกต.เห็นว่าร่างพ.ร.ป.ที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบมีข้อความใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้ ให้เสนอความเห็นไปยังรัฐสภาและให้รัฐสภาประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับความเห็นดังกล่าว
ทั้งนี้ รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมตามข้อเสนอของกกต.ตามที่เห็นสมควรได้ และเมื่อดำเนินการเสร็จแล้ว ให้รัฐสภาดำเนินกาต่อไป
ขั้นตอนที่สาม รัฐธรรมนูญมาตรา 148 (1) หาก ส.ส. ส.ว. หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันมีจํานวน ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี แล้วให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับความเห็นดังกล่าวส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย
เมื่อกติกา บัตรใบเดียว หรือ บัตรสองใบ ส่งผลต่อการเลือกตั้งครั้งหน้า กำหนดผู้แพ้และผู้ชนะ ทั้งพรรครัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน จึงไม่ยอมอ่อนข้อ ยอมกันไม่ได้
บัตรสองใบ เลือกพรรคที่ชอบ เลือกคนที่ใช่ พรรคใหญ่ พรรคเพื่อไทย ได้เปรียบ โบกธง แลนด์สไลด์ 253 ที่นั่ง เก็บชัยการเลือกตั้งครั้งหน้า
การเลือกตั้งภายใต้กติกา บัตรสองใบ ครั้งแรก การเลือกตั้งเมื่อปี 2544 พรรคไทยรักไทย ของ ทักษิณ ชินวัตร ชนะเลือกตั้งได้จัดตั้งรัฐบาล ด้วยจำนวน ส.ส. 248 ที่นั่ง จากทั้งหมด 500 คน
ครั้งที่สอง สมัยรัฐบาลทักษิณ 2 พรรคไทยรักไทย สามารถชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2548 และได้จำนวน ส.ส.เกินครึ่งสภา หรือ จำนวน 376 ที่นั่ง จาก ส.ส.ทั้งหมด 500 คน และจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว
ยังไม่นับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2549 พรรคไทยรักไทย ชนะได้ ส.ส.จำนวน 460 ที่นั่ง จากทั้งหมด 500 คน แต่การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะเสียก่อน
สาเหตุมาจากพรรคฝ่ายค้านบอยคอตเลือกตั้ง ทำให้ผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. แม้จะได้น้อยกว่าคะแนน NO VOTE (ไม่ประสงค์ลงคะแนน) แต่ได้คะแนน ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 20 และ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.มากกว่า 1 คน ซึ่งมีหลายสิบเขต
รวมถึงการจัดการเลือกตั้งที่ส่อ เสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง เช่น การตั้งคูหาเลือกตั้งหันหลังออก การติดชื่อผู้สมัครในคูหาเลือกตั้ง ผู้สมัครขาดคุณสมบัติไปลงรับเลือกตั้ง
ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และมีคำสั่งให้เพิกถอนการเลือกตั้ง
พรรคไทยรักไทยขณะนั้น ชนะการเลือกตั้ง เปิดซิงรัฐธรรรมนูญฉบับปฏิรูป ปี 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก ที่กำหนดให้เลือกตั้งด้วย บัตรสองใบ
ครั้งที่สาม การเลือกตั้งเมื่อปี 2550 พรรคพลังประชาชน ที่มี สมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรค ชนะการเลือกตั้ง เป็นพรรคจัดตั้งรัฐบาล ด้วยจำนวน ส.ส. 233 ที่นั่ง จากทั้งหมด 480 ที่นั่ง โดยได้รับคะแนนเสียงทั้งหมด 26,293,456 คะแนน
เป็นการชนะเลือกตั้ง หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงประมุข (คมช.) ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกในคณะนั้น เป็นผู้ก่อการปฏิวัติ
ครั้งที่สี่ การเลือกตั้งเมื่อปี 2554 พรรคเพื่อไทย ใช้เวลาขี่ม้าเรียบค่ายเพียง 49 วัน ก่อน ส่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขี่ม้าขาว เข้าทำเนียบรัฐบาล ด้วยจำนวน ส.ส.265 คน เกินครึ่ง จากทั้งหมด 500 คนของทั้งสภา
ขณะที่บัตรใบเดียว ภายใต้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 แม้ พรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.ระบบเขต มากที่สุด 134 ที่นั่ง แต่ไม่ได้ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว
ตลกร้าย พรรคเพื่อไทยยังกลายเป็น พรรคฝ่ายค้าน ทั้ง ๆ ที่ได้ ส.ส.ที่สุดเป็นอันดับ 1
สอดรับกับ พรรคพลังประชารัฐ ชิงความได้เปรียบจากกติกาฉบับสืบทอดอำนาจ บัตรใบเดียว ส่งผลให้การเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 สามารถได้รับเลือกตั้ง ส.ส.เข้าสภากว่า 116 ที่นั่ง แบ่งเป็น ส.ส.เขต 97 ที่นั่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 19 ที่นั่ง
หลังจากนั้น พรรคพลังประชารัฐ ช่วงชิงจังหวะรวบรวมสมัครพรรคพวก ประกอบเป็นนั่งร้าน ร่วมกับ ส.ว.ลากตั้ง 250 คน สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง
พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเก่าแก่ การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 แพ้ยับเยิน กลายเป็นพรรคการเมืองที่ได้จำนวน ส.ส. ต่ำร้อย หรือ 53 ที่นั่ง แบ่งออกเป็น ส.ส.เขต 33 คน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 20 คน
การเปลี่ยนจากบัตรเลือกตั้งใบเดียว เป็น บัตรเลือกตั้งสองใบ โหวตเตอร์ ซึ่งเป็นฐานเสียงเดียวกับพรรคพลังประชารัฐ จะแบ่งใจมากาบัตรใบอีกใบ ในช่องประชาธิปัตย์
ด้วยกติกาการเลือกตั้งด้วย บัตรสองใบ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จึงมั่นใจวว่า การเลือกตั้งครั้งจะคัมแบ็ค เพราะไม่ต้องบีบหัวใจคนที่เป็นแฟนคลับประชาธิปัตย์และรักลุงตู่ ต้องตัดสินใจเลือกพรรคใดพรรคหนึ่ง
ประชาธิปัตย์จึงหวังที่จะโกยคำแนนจาก บัตรเลือกพรรค เก็บแต้มสะสมไว้คิดเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์
ขณะที่พรรคภูมิใจไทย พรรคธนกิจ นักการเมืองภูธร การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา บัตรใบเดียว เก็บ ส.ส.ได้จำนวน 51 คน แบ่งออกเป็น ส.ส.เขต 39 คน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 12 คน
พรรคเสี่ยหนู อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ประกาศลั่น การเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคภูมิใจไทย กวาด 100 ที่นั่ง ซึ่งไม่ใช่ราคาคุย โอ้อวด หลังจากแสดงพลังดูด ส.ส.จากพรรคการเมืองคู่แข่ง โดยเฉพาะจากพรรคฝ่ายค้านมาเข้าสังกัดนับสิบราย
ส่วนพรรคก้าวไกล พรรคที่ได้รับอานิสงส์จากบัตรใบเดียวและส.ส.พึงมีมากที่สุด การรเลือกตั้งครั้งแรกของพรรคอนาคตใหม่เดิม สามารถโกย ส.ส.ได้จำนวน 81 ที่นั่ง แบ่งออกเป็น ส.ส.เขต 31 คน และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 50 คน
จากพรรคน้องใหม่ อัพเกรดเป็น พรรคการเมืองที่มี ส.ส.มากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของสภา แซงหน้าพรรคเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์ กับพรรคนายทุนอย่างพรรคภูมิใจไทย
การกลับตาลปัตร บัตรเลือกตั้ง จากบัตรใบเดียว เป็นบัตรสองใบ และสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ หารด้วย 500 หรือ ระบบการเลือกตั้งแบบประเทศเยอรมนี (MMP) เพราะอาจจะสู้กระสุนจาก ส.ส.เขต ไม่ได้ แต่มีกระแสคนรุ่นใหม่
พรรคเล็ก ส.ส.ปัดเศษ ล้มเลิกความหวังกติกาการเลือกตั้งทั้งบัตรใบเดียว บัตรสองใบ ไม่ว่าจะคำนวณ สูตรหาร 100 หาร 500 เพราะอทธิฤทธิ์พลังกล้วย พร้อมยุบพรรค ควบรวมกับพรรคใหญ่ เงินถุง เงินถัง