ธ.ก.ส.เผยนโยบายรัฐช่วยเพิ่มเงินเกษตรกร
ข่าวดีท่ามกลางข่าวร้าย หลังศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. เผยผลประเมินทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินโครงการนโยบายรัฐ ช่วยสร้างรายได้เพิ่มขึ้นถึง 26.49% ด้านการสร้างความยั่งยืน และประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจจากการลงทุน 1 บาท ให้ผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจกว่า 1.48 บาท ขณะที่ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมให้ผลประโยชน์มากถึง 1.85 บาท
ท่ามกลางความกังวลใจของคนไทยต่อปฏิกิริยาทางการเมือง ที่แม้การเลือกตั้งจะจบไปแล้ว ตั้งแต่หลังเวลา 5 โมงเย็นของวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา กระนั้น เจตจำนงของคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี’60 ก็ดูเหมือนจะไม่เอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองพรรคหนึ่งพรรคใดได้ครองเสียงข้างมาก เหมือนรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ หน้านี้
และนั่น จึงเป็นต้นเหตุให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการเมือง ตั้งแต่การ “จับขั้วพรรคการเมือง” เพื่อจัดตั้ง “รัฐบาลใหม่” ไปจนถึงปัญหา “ไร้เสถียรภาพ” ในการบริหารราชการแผ่นดิน
กระทั่ง นักวิชาการและเซียนการเมืองหลายคน กริ่งเกรงกันว่า…อายุของ “รัฐบาลใหม่” อาจอยู่ได้ไม่นาน เพราะที่สุดแล้ว หากเสียงสนับสนุนในการผ่านร่างกฎหมายสำคัญๆ อย่าง…พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ไม่ผ่านสภาฯ
ภาพการ “สิ้นสุด” ของ “รัฐบาลใหม่” ก็จะปรากฏขึ้นในทันทีเช่นกัน!
นั่นอาจเป็นภาพที่ไกลตัวไปนิดนึง หันมาดูภาพใกล้ตัวและเพิ่งจะผ่านพ้นมาได้ไม่กี่วัน นั่นคือ การที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ นำโดย ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ออกมาระบุ ผ่านการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการว่า EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี’62 จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 3.8% มาเหลือเพียง 3.6% เพราะผลกระทบจากการส่งออกไทยที่มีอัตราการเติบโตลดลงตามเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวมากกว่าคาด และมีลักษณะ synchronized slowdown มากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากสงครามการค้าและภาวะการเงินโลกตึงตัวขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปีก่อน ยังส่งผลลบอย่างต่อเนื่องต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ
อันที่จริง EIC เคยปรับลดจีดีพีปี’62 มาก่อนหน้านี้แล้วครั้งนึง จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะเติบโตที่ระดับ 3.9% ก็ปรับลดเหลือ 3.8% กระทั่ง ล่าสุด ปรับลดเหลือแค่ 3.6% และไม่แน่ว่า…กว่าจะสิ้นสุดปี’62 ทางฝั่งธนาคารไทยพาณิชย์ ยังจะปรับอะไรกันอีกหรือไม่?
ตรงนี้ สะท้อนภาพอนาคตของประเทศไทยได้หรือไม่ว่า…จากนี้ ทุกอย่างกำลังเดินเข้าสู่ “ทางตัน” ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ
“ในเสียย่อมมีดี” ฉันใด? ท่ามกลางข่าวไม่สู้จะดีนัก ก็มีเรื่องดีๆ ให้สังคมไทยได้ชื่นหัวใจกัน เมื่อ นายสมเกียรติ กิมาวหา ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ออกมาเผยถึงผลการประเมินทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินโครงการตามนโยบายรัฐบาล ที่ได้จัดทำร่วมกับ สถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยประเมินจาก 11 โครงการ ระหว่างปี 2559-2561 จากกลุ่มตัวอย่าง คือ เกษตรกร สหกรณ์การเกษตร และผู้ประกอบการ SME เกษตร รวมทั้งสิ้น 1,223 ตัวอย่าง
พบว่า การดำเนินโครงการนโยบายรัฐของ ธ.ก.ส. ประสบความสำเร็จอย่างมากทางด้านเศรษฐกิจ โดยในภาพรวม เกษตรกร สหกรณ์การเกษตร และผู้ประกอบการ SME เกษตร หลังจากการเข้าร่วมโครงการมีรายได้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 26.49 (เกษตรกร มีรายได้เฉลี่ยต่อปีเพิ่มขึ้น 5,128 บาทต่อราย สหกรณ์การเกษตร มีรายได้ต่อปีเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 15.72 ล้านบาทต่อแห่ง และผู้ประกอบการ SME เกษตร มีรายได้ต่อปีเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.46 ล้านบาทต่อราย) มีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 21.83 คุณภาพผลผลิตดีขึ้น ร้อยละ 2.86 มีทักษะในการประกอบอาชีพเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.16 ต้นทุนการผลิตลดลง ร้อยละ 5.07 มีช่องทางการตลาดและจัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.23 มีอำนาจในการต่อรองทางการตลาดเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.94 มีแหล่งวัตถุดิบเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.86 และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.13
นอกจากนี้ ยังส่งผลเชิงบวกด้านสังคม โดยภาพรวมหลังจากเข้าร่วมโครงการ เกษตรกร สหกรณ์การเกษตร และผู้ประกอบการ SME เกษตร มีโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินของรัฐเพิ่มสูงขึ้น ร้อยละ 23.71 เข้าถึงความรู้ทางการเงินเพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 22.24 และมีสุขภาพและสุขอนามัยที่ดีขึ้น ร้อยละ 4.09 ในส่วนของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของทรัพยากรธรรมชาติ รูปแบบการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีโอกาสใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น
ด้านผลการประเมินบทบาทต่อการสร้างความยั่งยืน (Sustainability) และประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-efficiency) โดยวิเคราะห์ผ่านตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Table) พบว่า การขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ของ ธ.ก.ส. สามารถสร้างผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (Social Return on Investment: SROI) เท่ากับ 1.48 ถึง 1.85 ด้านเศรษฐกิจ การจ่ายเงินกู้ในปีบัญชี 2560 มูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 257,727 ล้านบาท สามารถสร้างผลประโยชน์ได้รวมทั้งสิ้น 380,270 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตรและธุรกิจแปรรูปการเกษตรที่ ธ.ก.ส. ให้สินเชื่อ อาทิ การทำไร่อ้อย การทำข้าวโพด การทำนา รวมทั้งธุรกิจภายในประเทศที่มีความเชื่อมโยงกับภาคเกษตรกรรมและธุรกิจการแปรรูปการเกษตร อาทิ ปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืช ซึ่งคิดเป็นผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน เท่ากับ 1.48 หรือการจ่ายเงินกู้ของ ธ.ก.ส. มูลค่า 1 บาท สามารถสร้างประโยชน์สู่สังคมคิดเป็นมูลค่า 1.48 บาท
ด้านสังคม การจัดสรรเงินลงทุนด้านพัฒนาชุมชน ปี 2556-2558 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 518 ล้านบาท
สามารถสร้างผลประโยชน์ได้รวมทั้งสิ้น 764 ล้านบาท โดยผลประโยชน์จะเกี่ยวข้องกับการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในชุมชนและสร้างวินัยทางการเงิน รวมทั้งเกี่ยวกับการรวมกลุ่มอาชีพหรือกลุ่มการเงินและเครือข่ายในชุมชนเพื่อสร้างรายได้ ซึ่งคิดเป็นผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน เท่ากับ 1.48 หรือเงินลงทุนด้านพัฒนาชุมชน มูลค่า 1 บาท สามารถสร้างประโยชน์สู่สังคมคิดเป็นมูลค่า 1.48 บาท
ด้านสิ่งแวดล้อม การจัดสรรเงินลงทุนด้านพัฒนาสิ่งแวดล้อม ปี 2556-2558 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 762
ล้านบาท สามารถสร้างผลประโยชน์ได้รวมทั้งสิ้น 1,408 ล้านบาท โดยผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับการสร้างมูลค่าของทรัพย์สินจากต้นไม้ที่ปลูก การมีแหล่งน้ำใช้ทำการเกษตร รวมทั้งการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งคิดเป็นผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน เท่ากับ 1.85 หรือเงินลงทุนด้านพัฒนาสิ่งแวดล้อม มูลค่า 1 บาท สามารถสร้างประโยชน์สู่สังคมคิดเป็นมูลค่า 1.85 บาท
ทั้งนี้ โครงการของ ธ.ก.ส. ในการสร้างความยั่งยืนและประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-efficiency) ที่สำคัญ ได้แก่ โครงการธนาคารต้นไม้ โครงการสร้างฝายชะลอน้ำให้ชุมชนทั่วประเทศ โครงการให้ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) และโครงการพัฒนาส่งเสริมศักยภาพชุมชนต้นแบบตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับสู่ชุมชนอุดมสุข
บางคนอาจมองว่า…งานวิจัยของ ธ.ก.ส.ครั้งนี้ เป็นเพียงแค่การสำรวจคนในกลุ่มเกษตรกรและอาชีพใกล้เคียงรวมถึงรายงานดังกล่าวเป็นเพียงผลกระทบเชิงบวกต่อเฉพาะคนกลุ่มนี้เท่านั้น แต่ต้องไม่ลืมว่า…คนกลุ่มนี้ มีรวมกันทั่วประเทศมากถึงเกือบ 4 ล้านครอบครัว (ครัวเรือน) เฉียด 30 ล้านคน หรือราว 40% ของประชาชนทั้งประเทศ
หากคนกลุ่มนี้ ลืมตาอ้าปาก มีเงินหมุนเวียน และจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อการขับเคลื่อนของระบบเศรษฐกิจไทยอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ และเมื่อผลออกมาประจักษ์ชัดว่า…การดำเนินงานของ ธ.ก.ส. อันเป็นผลพวงจากนโยบายของรัฐบาล ได้ส่งผลดีต่อภาคการเกษตรและตัวเกษตรกรในมิติต่างๆ ทั้งที่เป็นและไม่เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส.แล้ว
สิ่งนี้…ก็น่าจะเป็น “ข่าวดี” ท่ามกลางข่าวที่ไม่สู้ดีนัก! มิใช่หรือ?