ลุงตู่นายกฯอีกสมัยแต่ไร้ดาบ ม.44
คนไทยตื่นตัวมากขึ้น! แม้ยอดผู้ออกไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ จะต่ำกว่าประมาณการร้อยละ 80 ที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประเมินไว้ โดยมีเพียง ร้อยละ 65.96 จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 51,205,624 ล้านคน แต่นั่น…ก็มีสัดส่วนที่สูงกว่าการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา
ภาพรวมการจัดการเลือกตั้งของ กกต.ชุดนี้ ถือว่าผ่านไปด้วยความสงบเรียบร้อย นอกจากมีผู้มาใช้สิทธิอย่างที่เกริ่นไปแล้ว ยังพบว่ามีบัตรเสียสูงถึงร้อยละ 5.6 และโหวตโนอีกร้อยละ 1.5 ซึ่งอย่างหลังนี้…จะมีผลต่อการจัดให้มีการเลือกตั้งกันใหม่ ในบางเขต? บางพื้นที่? บางจังหวัดหรือไม่? ต้องลุ้น!
และไม่ว่าปัญหา “คนน้อยกว่าบัตรเลือกตั้ง” ที่เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร หรือกับพื้นที่อื่นในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ…จะลงเอยอย่างไร?
แต่ดูเหมือนความชอบธรรมที่ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. จะ “คัมแบ๊ก” กลับมานั่งนายกรัฐมนตรีอีกสมัยอย่างสง่างาม หลังจากพรรคพลังประชารัฐที่ประกาศสนับสนุนให้ “ลุงตู่” รับบท “หัวหน้ารัฐบาล” ตามระบอบประชาธิปไตย ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งตามความคาดหมายในหลายพื้นที่ ด้วยจำนวนเสียงสนับสนุนกว่า 7.6 ล้านเสียง
แม้ตัวเลขความเปลี่ยนแปลงจะยังไม่นิ่ง เพราะหลังจากนี้…เชื่อว่า กกต.เอง คงต้องประกาศ “ใบเหลือ-แดง-ส้ม” ให้กับผู้สมัครบางคน จากบางพรรค ด้วยเหตุและหลักฐานมัดแม่น ว่ามีการกระทำอันเป็นการทุจริตหาเสียงเลือกตั้งจริง!
กระทั่ง อาจมีผลทั้งต่อจำนวน ส.ส.เขตเลือกตั้ง และ ส.ส.บัญชีรายชื่อบ้าง แต่นั่นคงไม่กระทบกับ “เส้นทางสายกุหลาบ” สายนี้แน่!
ลองไปสำรวจจำนวน ส.ส.ที่พรรคพลังประชารัฐได้มา ทั้งในกลุ่ม ส.ส.เขตเลือกตั้ง และบัญชีรายชื่อ เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เคยครองเสียงส่วนใหญ่ ทว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่เหลือที่ ส.ส.ให้กับพรรคเก่าแก่ที่สุดพรรคนี้..สักเพียงเก้าอี้เดียว ดังที่ผู้สมัครฯ รายหนึ่งของพรรค ตัดพ้อผ่านโลกโซเชียลทำนอง… “ผมและพรรคประชาธิปัตย์ทำอะไรผิดมากมาย จึงลงโทษกันรุนแรงขนาดนี้ครับ”
และนั่น ก็เป็นเหตุผลหนึ่งทำให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จำต้องประกาศลาออกจากตำแหน่ง “หัวหน้าพรรคฯ” ยืนยันในหลักการเดิม “พูดคำไหนคำนั้น”
หากนับจำนวนสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ว่าจะต้องอยู่ในอาณัติของ คสช. ทั้ง 250 คน และเป็น 250 คน ที่โหวตเลือก “ลุงตู่” นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีล่ะก็ นั่นก็หมายความว่า…พรรคพลังประชารัฐ ต้องการที่นั่งของ ส.ส. เพียงแค่ 116 คนเท่านั้น แค่ก็นี้…เสียงก็เกินกึ่งหนึ่งของ “500 ส.ส.+ 200 ส.ว.” หรือขั้นต่ำ 375 เสียงแล้ว
ทว่า ล่าสุดที่มีการประเมินจำนวน ส.ส. เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่า พรรคพลังประชารัฐมีจำนวน ส.ส. ทั้ง 2 ระบบรวมกันถึง 123 คน เกินตัวเลขขั้นต่ำที่ 116 คนไปไกล นี่ยังไม่นับรวมพรรคเครือข่ายและพรรคการเมืองที่พร้อมสนับสนุนอีกกว่า 100 เสียง
ไหนยังอาจจะมี “งูเห่าภาคพิศดาร” ตามมาคอยหลอกหลอนพรรคการเมืองฝั่งตรงข้าม อันเป็นผลพวงจากการเปิดช่องของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ให้ ส.ส. ไม่จำเป็นต้องทำตามเจตนารมณ์ของพรรคต้นสังกัด ย้ายมาซบและยกมือสนับสนุน “ลุงตู่” กันอีก
นัยว่า “ลุงตู่” เอง ก็ต้องการเสียงสนับสนุนจากพรรคการเมืองอื่นๆ เพราะแม้จะมีเสียงของ ส.ว. 250 คน คอยยกมือให้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่การบริหารราชแผ่นดิน โดยเฉพาะการผ่านร่างกฎหมายสำคัญๆ อย่าง…พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี และกฎหมายการเงินอื่นๆ นั้น หวังได้แค่เสียงสนับสนุนจาก ส.ส.เท่านั้น
ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเสร็จ ก็ไม่มีหน้าที่อะไรต่อการจะทำหน้าที่ “องครักษ์พิทักษ์นาย” ให้กับ “รัฐบาลลุงตู่” ได้อีกแล้ว
นั่นจึงนำมาสู่ท่าทีของพรรคพลังประชารัฐ ที่ “โฆษกพรรคฯ” นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประกาศชัด! ได้ทำการเจรจาและทาบทามพรรคการเมืองอื่นๆ ไว้บ้างแล้ว ด้วยหวังจะเป็นรัฐบาลที่มี ส.ส.มากกว่า 251 ที่นั่ง เป็นฐานสนับสนุน
แต่ก่อนจะถึงตรงนี้ ก็ต้องมาลุ้นกันต่อว่า…สปิริตพรรคการเมือง และของนักการเมือง ต่อการ “เปิดโอกาสให้กับพรรคการเมือง ที่ได้ ส.ส.มากสุด ดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลก่อน” ยังจะมีอีกหรือไม่?
เพราะพรรคเพื่อไทย ที่แม้จะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อสักคนเดียว กระนั้น พวกเขาก็ยังกวาด ส.ส.เขตเลือกตั้งได้มากถึง 133 คน นำมาเป็นอันดับ 1
และหากนับเสียง ส.ส.เพื่อไทย รวมกับพรรคพันธมิตร หลักๆ คงไม่พ้น พรรคอนาคตใหม่ ที่มีจำนวน ส.ส.เพียง 52 คน และพรรคเสรีรวมไทยอีก 11 คน “133+52+11” มีเพียง 196 เสียง ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง 251 เสียง
นั่นจึงเท่ากับว่า…แม้พรรคพลังประชารัฐจะเปิดโอกาสให้พรรคเพื่อไทยที่ได้ ส.ส.มากสุด ทำการรวม ส.ส.จากพรรคการเมืองอื่นๆ จัดตั้งรัฐบาลก่อน ก็ไม่อาจจัดตั้งได้อยู่ดี
สรุป! จนถึงตอนนี้ เป็นที่แน่นอนแล้วว่า…“ลุงตู่” ได้กลับมาเป็นนายกัฐมนตรีอีกสมัย และพรรคพลังประชารัฐ สามารถจะรวม ส.ส. เพื่อมาสนับสนุน “ลุงตู่” ก้าวสู่เส้นทางนักการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไม่ต้องสงสัย?
ใครเคยที่เคยสนับสนุน “ลุงตู่” และพรรคพลังประชารัฐมาก่อน จากนี้ไป…รอเก็บเกี่ยวความสำเร็จกันได้เลย เพราะทั้งนโยบาย โครงการ และมาตรการต่างๆ ที่เคยทำเอาไว้ใน “รัฐบาล คสช.” นั้น จะถูกนำมาดำเนินการต่อและมีการ “ต่อยอด” กันอย่างแน่นอน
ส่วนการบริหารราชการแผ่นดิน ในฐานะ “นายกรัฐมนตรี” ตามวิถีทางระบอบประชาธิปไตย จะง่ายเหมือนยุค “สภาฝักถั่ว” อย่าง…สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือไม่? คงต้องวัดใจ ฝ่ายค้านมืออาชีพอย่าง…ส.ส.พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นๆ
แต่ที่แน่ๆ รอบนี้…“ลุงตู่” ไร้อภินิหาร-ดาบอาญาสิทธิ์ “ม.44” ไว้คอย “ชี้เป็น-ชี้ตาย” ใส่ใครๆ ได้เช่นแต่ก่อนอีกแล้ว คงต้องรอดูกันว่า…สภาวะ “จุดเดือดต่ำ” ของ “ลุงตู่” จะทานทนต่อลีลาของนักการเมือง “มืออาชีพ” ได้หรือไม่? ถ้าได้…ได้ในระดับใด? น่าลุ้นยิ่งนัก!!!.