รสก.โชว์ผลงานเด่นตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ
จัดเป็นงานใหญ่ส่งท้าย “รัฐบาล คสช.” กันเลยทีเดียว กับการเดินทางมาเพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ “รองนายกฯด้านเศรษฐกิจ” ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 4 กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา
เครดิตงานนี้ ต้องยกนิ้วให้ ทั้ง นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง และนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดฯคลัง รวมถึง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ภายใต้การนำของ นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการฯ ที่เป็นเจ้าภาพเตรียมการและจัดงานได้อย่างยิ่งใหญ่อลังการ รับการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
ไม่ว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจในกลุ่ม “แบงก์รัฐ” กลุ่ม “โครงสร้างพื้นฐาน” กลุ่มพลังงาน ต่างขนผลงานที่ได้ดำเนินการมายาวนาน ออกมาโชว์ให้ “รองฯสมคิด” ได้ยลโฉม ก่อนส่งต่อไปยัง “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เพื่อเอาไปเป็น “ผลงานชิ้นโบว์แดง” ที่ “รัฐบาล คสช.” ได้ดำเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรม ประกาศให้สังคมไทยได้รับรู้กัน (ซะ) บ้าง
การรายงานผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจทั้ง 8 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ บมจ.ปตท. รวมถึง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม ที่กลายเป็น “แขกรับเชิญ” ของงานนี้ ถือว่าประสบผลสำเร็จอย่างงดงามทีเดียว
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ สคร. ระบุว่า การจัดงานในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ และช่วยผลักดันให้งานต่างๆ ของรัฐวิสาหกิจดำเนินการได้อย่างราบรื่น รวมทั้งสนับสนุนรัฐวิสาหกิจให้สามารถพัฒนาคุณภาพการให้บริการและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนต่อไป ซึ่งได้แบ่งรัฐวิสาหกิจทั้ง 8 แห่ง เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสถาบันการเงิน กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม และกลุ่มพลังงาน โดยสามารถสรุปการรายงานความคืบหน้าในประเด็นที่สำคัญ ดังนี้
1.กลุ่มสถาบันการเงิน มีบทบาทต่อการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเป็นกำลังหลัก
ในการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและหนี้นอกระบบ รวมทั้งยังได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ และให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินได้รายงานผลการดำเนินงานของโครงการที่สำคัญ เช่น
ธนาคารกรุงไทย กับการดำเนินงานในการวางระบบ Digital Payment Super Highway ทุกตำบลทั่วประเทศตามนโยบาย MOF 4.0 เพื่อผลักดันสู่สังคมไร้เงินสด, โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในรูปแบบ e – Wallet สำหรับคนไทย 14 ล้านคน ร่วมกับ ธกส. และออมสิน ทำให้สามารถกระจายความช่วยเหลือถึงมือประชาชนได้แล้วกว่า 76,000 ล้านบาท เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และจะขยายไปสู่ Mobile Application รวมทั้ง สร้าง Digital Platform ให้ร้านค้าประชารัฐสร้างเงินหมุนเวียนกว่า 30,000 ล้านบาท, การวางโครงสร้างระบบของการจ่ายเงินในระบบการคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงรถเมล์ รถไฟ รถไฟฟ้า และรถโดยสารระหว่างจังหวัด, การสนับสนุนกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาโดยการต่อยอดสร้างกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาแบบดิจิทัล
ธนาคารออมสิน ผ่านโครงการ National e-Payment รองรับสังคมไร้เงินสด โดยมีผู้ลงทะเบียน 2.75 ล้านราย มีจุดชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์มากกว่า 1.95 แสนจุดทั่วประเทศ มีผู้ใช้บริการ Mobile Banking 5.4 ล้านราย และผู้ถือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ 6.6 ล้านราย, การยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ผ่าน 3 กลไก ได้แก่ 1) การสร้างความรู้/อาชีพโดยการส่งเสริมและสนับสนุนเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพ 2) การสร้างช่องทางตลาดเพื่อสร้างรายได้โดยการเพิ่มจุดค้าขายทั้ง Online และ Offline และ 3) การสร้างประวัติทางการเงินผ่านการใช้ธุรกรรมทางการเงินโดยให้รับชำระเงินผ่าน QR code
โครงการพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ด้านการเงินและอาชีพ 502,586 ราย และแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งมีผู้มีบัตรฯ ได้รับอนุมัติสินเชื่อแล้ว 258,725 ราย, แผนงานส่งเสริมผู้ประกอบการ SME/Startup โดยการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) แก่ SMEs การให้สินเชื่อ GSB SMEs/Startup และการจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุน Venture Capital
ธกส. กับโครงการสนับสนุนการจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม ข้าว และยางพาราผ่านการให้สินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน และการพัฒนาผู้ประกอบการเกษตร SMEs ผ่านโครงการ SMAEs, การพัฒนาผู้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีผู้ลงทะเบียน โดยมีการให้ความรู้ทางการเงิน การผลิต และการตลาด รวมทั้งการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรการและการพัฒนาอาชีพของผู้มีบัตรฯ
ธอส. ที่ได้ดำเนินโครงการบ้านล้านหลัง ซึ่งเป็นสินเชื่อบ้านเพื่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มวัยทำงาน และกลุ่มผู้สูงอายุ มียอดจองทั่วประเทศกว่า 127,000 ล้านบาท, โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ มีโครงการช่วยเหลือผู้ที่อยู่อาศัยในจังหวัดชายแดนภายใต้และโครงการช่วยเหลือประชาชนผู้ปฏิบัติหน้าที่รับราชการให้มีบ้าน
ธพว. (SME D Bank) กับโครงการให้สินเชื่อผู้ประกอบรายย่อยผ่านโครงการคนตัวเล็กรวมมากกว่า 64,037 ราย จำนวน 157,617 ล้านบาท, การยกระดับขีดความสามารถให้ SMEs ขนาดเล็ก ผ่านการจัดอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ปีละมากกว่า 5,500 ราย โดยเป็นพี่เลี้ยงด้านการบัญชีและการเงิน และด้านการตลาดให้กับ SMEs
ขณะที่ 2.กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม เป็นการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ
โดยการลดต้นทุนการขนส่งคนและสินค้าผ่านการพัฒนาระบบการขนส่งทางราง ของ รฟท. และโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ของ รฟม. ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีโครงการสำคัญที่สามารถผลักดันให้เห็นผลเป็นรูปธรรม เช่น
รฟท. กับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในปี 2561 มีทางรถไฟ 4,044 กม. เป็นทางคู่ 357 กม. มีเป้าหมาย
ในปี 2566 มีทางรถไฟ 4,360 กม. เป็นทางคู่ 2,464 กม. และรถไฟความเร็วสูง 473 กม. โดยมีโครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่ จำนวน 14 เส้นทาง ได้รับอนุมัติแล้ว 8 โครงการ และจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2567, โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ ทางรถไฟช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร- นครพนม (แล้วเสร็จปี 68) และช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ (แล้วเสร็จปี 66), รถไฟความเร็วสูง จำนวน 2 สาย ได้แก่ กรุงเทพ-นครราชสีมา (แล้วเสร็จปี 66) กรุงเทพ-อู่ตะเภา (แล้วเสร็จปี 66)
โครงข่ายรถไฟชานเมืองสายสีแดง ประกอบด้วย สายบางซื่อ-รังสิต สายบางซื่อ-ตลิ่งชัน (แล้วเสร็จปี 64) สายรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต สายตลิ่งชัน-ศาลายา สายตลิ่งชัน-ศิริราช (แล้วเสร็จปี 66) สายบางซื่อ-หัวลำโพง และสายบางซื่อ-หัวหมาก (แล้วเสร็จปี 67) โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีการอนุมัติเส้นทางรถไฟไปแล้ว 900 กม. ซึ่งสูงกว่าการพัฒนาเส้นทางรถไฟในช่วง 68 ปีที่ผ่านมาที่พัฒนาไปเพียง 700 กม.
รฟม. กับผลงานการพัฒนารถไฟฟ้าตามแผนแม่บทการขนส่งทางราง 10 เส้นทาง โดยในปี 2572 จะมีระยะทางรวม 504 กิโลเมตรปัจจุบัน มีโครงการรถไฟฟ้าที่ได้รับอนุมัติและอยู่ระหว่างการดำเนินการ ได้แก่
สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางซื่อ – ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค (อยู่ระหว่างดำเนินการวางระบบรถไฟฟ้าและการเดินรถ), สายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี (PPP) (อยู่ระหว่างก่อสร้างงานโยธา), สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง (PPP) (อยู่ระหว่างก่อสร้างงานโยธา), สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (งานโยธา) และช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ (PPP) (อยู่ระหว่างเสนอ ครม. อนุมัติโครงการ), สายสีม่วง (ตอนล่าง) ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (อยู่ระหว่างจัดทำร่างรายงาน PPP) นอกจากนี้ มีแผนงานที่จะพัฒนารถไฟฟ้าในส่วนภูมิภาค ได้แก่ ในจังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ นครราชสีมา พิษณุโลก และอุดรธานี
และ 3.กลุ่มพลังงาน ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานและการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม
โดยในปัจจุบัน ปตท. มีโครงการที่สำคัญ เช่น การจัดหาแหล่งพลังงานให้เพียงพอกับความต้องการใช้พลังงานในประเทศ โดยการจัดหาก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติม โครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) อีกทั้งยังมีการพัฒนารูปแบบสถานีบริการให้เป็นศูนย์กลางของชุมชนและส่งเสริมช่องทางการจำหน่ายให้กับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยชุมชนและ SMEs
ด้าน นายอภิศักดิ์ (รมว.คลัง) กล่าวเพิ่มเติมถึง การดำเนินงานที่ผ่านมาของรัฐวิสาหกิจกลุ่มสถาบันการเงินมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม โดยต้องเป็นหลักในการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและเป็นหนี้นอกระบบ และช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เช่น Internet Banking e-Payment เป็นต้น นอกจากนี้ การดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมยังช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ
โดยในส่วนของการดำเนินงานของกระทรวงการคลัง มีภารกิจ 3 ด้าน ได้แก่ การเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ การลดความเหลื่อมล้ำ และการรักษาวินัยการเงินการคลัง โดยมีผลงานสำคัญของกระทรวงการคลัง ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกว่า 14.5 ล้านคน ให้สามารถจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งช่วยให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการผลิตสินค้าและเกิดการจ้างงานสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ การทำงานของกระทรวงการคลังจะต้องทำด้วยความรับผิดชอบให้เป็นไปตามหลักวินัยการเงินการคลัง
สำหรับ นายสมคิด (รองนายกรัฐมนตรี) ได้กล่าวชื่นชมและขอบคุณรัฐวิสาหกิจที่ช่วยผลักดันงานต่างๆ ตามนโยบายรัฐบาลได้อย่างดี และได้มอบนโยบายให้รัฐวิสาหกิจเดินหน้าสานต่องานต่างๆ ที่ยังไม่แล้วเสร็จต่อไป เพราะเห็นได้อย่างชัดเจนว่างานต่างๆ ที่รัฐวิสาหกิจดำเนินการมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างมากในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา
ทั้งหมด คือ ผลงานที่เกิดขึ้นแล้วและเกิดขึ้นจริง! ของรัฐวิสาหกิจ และรัฐบาลชุดนี้ รวมถึงผลงานที่กำลังจะมีตามมาในอนาคตอันใกล้ ไม่ว่าการเลือกตั้งใหม่นี้ จะได้พรรคการเมืองฟากไหน? มาเป็น “แกนนำจัดตั้งรัฐบาล” ก็ตามที นั่นเพราะ “เงื่อนปม” ที่กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คือ “เส้นทางสายบังคับ” ให้ทุกรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศ จำต้องเดินตามเส้นทางนี้.