ไม้มีค่า.. มรดกที่กลายเป็นสินทรัพย์
เมื่อถึงช่วงชีวิตวัยเกษียณ เคยคิดไหมว่าจะมีเงินในบัญชีเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอใช้สำหรับชีวิตบั้นปลายที่เหลือ แล้วถ้ามีที่ดินเป็นของตัวเอง จะสามารถทำอะไรให้ที่ดินว่างเปล่าเหล่านั้นกลับกลายเป็นเม็ดเงินงอกเงยขึ้นมาได้ดังนั้นการปลูก “ไม้มีค่า” ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่คุ้มค่า ถึงแม้จะไม่เห็นผลในเร็ววัน แต่ในอีก 10 ปี 20 ปี ข้างหน้า จะกลับกลาย” สินทรัพย์” ที่สร้างมูลค่า และยังเป็นมรดกแก่ลูกหลานสืบทอดต่อไปได้
ยกตัวอย่าง ไม้มีค่าราคา 10 บาท ถ้าปลูกไว้ 10 ต้น ในช่วงระยะเวลา 1 ปี หรือ 365 วัน ไม้มีค่าก็จะมีมูลค่า 36,500 บาท หากปลูกไปอีก 10 ปี ไม้มีค่าก็จะมีมูลค่า 365,000 บาท ซึ่งจำนวนเงินนี้สามารถนำเป็นทุนไว้ใช้หลังเกษียณได้ หากเริ่มลงมือปลูกตั้งแต่เริ่มทำงาน
ทั้งนี้ตามกฎหมายเดิมของประเทศไทยยังไม่เปิดกว้างให้ประชาชนปลูกไม้มีค่าได้อย่างเสรี ซึ่งขณะนั้นใครตัดไม้มีค่าทางเศรษฐกิจเหล่านี้โดยไม่ได้รับอนุญาต ได้แก่ ไม้สัก ไม้ยาง ไม้ชิงชัน ไม้เก็ดแดง ไม้อีเม่ง ไม้พยุงแกลบ ไม้กระพี้ ไม้แดงจีน ไม้ขะยุง ไม้ซิก ไม้กระซิก ไม้กระซิบ เป็นต้น โดยจะต้องรับโทษตามกฎหมายสูงสุดถึงขั้นจำคุก
ดังนั้นรัฐบาลจึงได้มีปลดล็อกแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ป่าไม้ พ.ศ.2484 โดยกำหนดให้ไม้ทุกชนิดที่ขึ้นหรือปลูกขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้าม ซึ่งหมายถึง การปลดล็อกกฎหมายเพื่อให้ประชาชนที่ปลูกต้นไม้มีค่าในพื้นที่กรรมสิทธิ์ของตนเอง สามารถตัดไม้มีค่าเหล่านี้ไปขาย หรือสามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้
นอกจากการปลูกไม้มีค่าจะเป็นการสร้างรายได้ที่มั่นคงให้ประชาชนในพื้นที่ซึ่งมีที่ดินเป็นของตนเองแล้ว การปลูกไม้มีค่ายังมีส่วนช่วยทำให้เกิดพื้นที่ป่าในประเทศเพิ่มขึ้นด้วย หลังจากหลายปีที่ผ่านมาไทยต้องสูญเสียพื้นที่ป่าไม้จากการบุกรุกหรือการลักลอบตัดไม้เป็นจำนวนมาก ซึ่งสอดคล้องกับแผนที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่าภายใน 10 ปี จะเพิ่มพื้นที่ป่าในประเทศไทยให้ถึง 26 ล้านไร่
ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้ประกอบขนาดใหญ่และขนาดเล็กให้เล็งเห็นถึงความคุ้มค่าของการปลูกไม้มีค่าเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลจึงออกหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ทรัพย์สินอื่นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ที่กำหนดให้นำไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาเป็น หลักประกันทางธุรกิจเพื่อ “กู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน” ได้ โดยการแปลงไม้มีค่าเป็นทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้
สำหรับไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ได้รับการอนุญาต มีทั้งหมด 58 ชนิด ประกอบด้วย ไม้สัก, พะยูง, ชิงชัน, กระซิก, กระพี้เขาควาย, สาธร, แดง, ประดู่ป่า, ประดู่บ้าน, มะค่าโมง, มะค่าแต้, เคี่ยม, เคี่ยมคะนอง, เต็ง, รัง, พะยอม, ตะเทียนทอง, ตะเทียนหิน, ตะเทียนชันตาแมว เป็นต้น
อย่างไรก็ตามกฎหมายนี้ กำหนดอายุต้นไม้ตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ซึ่งต้องปลูกในที่ดินของตนเอง โดยที่ดิน 1 ไร่ จะรับขึ้นทะเบียนไม่เกิน 400 ต้น และในการวัดมูลค่าจะต้องมีกรรมการและสมาชิกธนาคารต้นไม้รวมกันอย่างน้อย 3 คน ร่วมประเมินมูลค่าต้นไม้เป็นรายต้น เพื่อบันทึกไว้ใช้เป็นหลักทรัพย์และหลักประกันในการกู้ยืม
นอกจากนี้ในเรื่องของการพัฒนาพื้นที่ปลูกไม้มีค่า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ เดินหน้า “โครงการชุมชนไม้มีค่า” เพื่อสนับสนุนเกษตรกรให้สามารถสร้างมูลค่าจากการใช้ต้นไม้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ และสร้างสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ โดยมีเป้าหมายให้เกิดชุมชนไม้มีค่า 2,000 ชุมชน คาดมีประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์กว่า 100,000ครัวเรือน และมีจำนวนต้นไม้ในประเทศเพิ่มขึ้น 40 ล้านต้นภายใน 1 ปี
ส่วนอีก 10 ปี ธ.ก.ส.จะยกระดับโครงการธนาคารต้นไม้ ธ.ก.ส. สู่ชุมชนไม้มีค่า รวมถึงสร้างวิสาหกิจชุมชนด้านผลิตภัณฑ์ไม้ของชุมชน เพื่อ “เพิ่มมูลค่า” จากการนำวัตถุดิบที่ได้จากต้นไม้ อาทิ กิ่ง ใบ ลำต้น มาแปรรูปไม้และสร้างรายได้แก่ชุมชน โดยมีเป้าหมาย 400 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกธนาคารต้นไม้กว่า 6,827 ชุมชน จำนวนสมาชิก 117,461 ราย และมีต้นไม้ที่ขึ้นทะเบียนในโครงการ 11 ล้านต้น
ดังนั้นจะเห็นได้ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการปลูกไม้มีค่ามาก โดยเอื้ออำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อผลักดันให้เกษตรกรกร ประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้ประกอบการต่างๆ หันมาปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งในอนาคตไม้มีค่าเหล่านี้จะกลับกลายมาเป็นเม็ดเงินทางเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้ประชาชนอย่างยั่งยืน และทำให้ประเทศไทยกลับมามีพื้นที่สีเขียวเพิ่มมากขึ้น