อุตฯ อาหาร วิจารณ์มาตรการเก็บ “ภาษีเกลือ”
กรณี “ภาษีเกลือ” ที่คณะกรรมการนโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียม เพื่อลดโรคไม่ติดต่อระดับชาติ ได้มีมติเห็นชอบให้มีการจัดเก็บภาษีเกลือใน 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูป ขนมกรุบกรอบ และผงชูรส (MSG) เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมานั้น
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารได้ตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพอันเกิดจากการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม โดยตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ได้ทำงานร่วมกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการกำหนดเกณฑ์ของปริมาณสารอาหารในผลิตภัณฑ์ที่เป็นทางเลือกสุขภาพ และให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการปรับสูตรส่วนประกอบให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดโดยสมัครใจ
และในปัจจุบันมีอาหารจำนวนมากที่ได้รับการรับรองเครื่องหมาย ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Logo) แต่การบริโภคอาหารรสเค็มถือเป็นพฤติกรรมการบริโภคส่วนบุคคล ซึ่งไม่สามารถอนุมานได้ว่าเมื่อมีการเก็บภาษีเกลือแล้ว จะทำให้ผู้บริโภคบริโภคผลิตภัณฑ์นั้นลดลง จนทำให้ปริมาณการรับโซเดียม (Sodium intake) ลดลงตามไปด้วย เพราะในอาหารอื่นที่รับประทานในแต่ละวันล้วนมีองค์ประกอบที่เป็นแหล่งของโซเดียมอยู่ด้วย ทั้งนี้โซเดียมยังเป็นตัวช่วยในกระบวนการถนอมอาหารโดยป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคได้อีกด้วย
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารจึงมีความเห็นว่า การจัดเก็บภาษีเกลือกับผลิตภัณฑ์อาหารนั้น นอกจากจะมิใช่มาตรการที่ถูกต้อง และเหมาะสมในการจัดการกับปัญหาสุขภาพจากโรคไม่ติดต่อได้อย่างตรงประเด็นแล้ว ยังเป็นการทำลายความแข็งแกร่งของผู้ประกอบการจากภาระต้นทุนที่สูงขึ้น และทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดลดลงทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบไปถึงผู้ประกอบการภัตตาคาร ร้านค้า แผงลอย รวมถึงอุตสาหกรรมทุกระดับ ซึ่งเมื่อมีภาระต้นทุนที่สูงขึ้น ก็มีความจำเป็นต้องปรับราคาอาหารสูงขึ้นตามไปด้วย ท้ายที่สุดผลกระทบจะตกไปอยู่ที่ผู้บริโภคในฐานะผู้แบกรับราคาอาหารและค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้