“ฝ่ายค้าน” ชำแหละงบ 66 ส่อโกง-ช้างป่วย
สภาพิจารณางบประมาณ ปี 2566 วันแรก ฝ่ายค้านเพื่อไทย-ก้าวไกล ชำแหละ ส่อโกง-ช้างป่วย ลั่น ไม่รับ
เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 65 ที่รัฐสภา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎกร พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร ถึงเป้าหมายและแนวทางร่าง พ.ร.บ.ฯ ว่า เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนให้สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจและโรคโควิด-19 โดยแนวทางการจัดสรรงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของรัฐบาล ประกอบด้วย
1.ดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนย่อย (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) และนโยบายของรัฐบาล
2.ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า
3.ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
4.จัดทำงบประมาณให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน
5.ดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 รวมทั้งกฎหมาย ระเบียบ และมติ ครม. ที่เกี่ยวข้อง
พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้ชี้แจงกรณีที่มีการกล่าวหาว่ารัฐบาลใช้จ่ายงบประมาณในการลงทุนในปีงบประมาณ 2565 ลดลงกว่าที่เสนอไว้ ว่า ในปีงบประมาณดังกล่าว ได้มีการเสนองบประมาณไว้ 624,399.8520 ล้านบาท แต่เมื่อถึงขั้นการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติ ขั้นกรรมาธิการวิสามัญ ได้มีการปรับลดงบประมาณรายจ่ายลงทุนลงจำนวน 12,466.4041 ล้านบาท ทำให้เหลือรายจ่ายลงทุน ทั้งสิ้น 611,933.4479 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 19.74 ของวงเงินงบประมาณ รัฐบาลตั้งงบประมาณมาแต่ถูกตัด และที่บอกว่าพอตัดงบประมาณแล้วไปใช้งบประมาณงบกลาง ซึ่งในส่วนของงบกลาง นายกรัฐมนตรีไม่สามารถสั่งใช้งบกลางได้เองได้ทั้งหมด จะต้องมีการเสนอโครงการให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ทำให้ต้องปรับไปใช้กับโครงการที่ไม่ได้รับงบประมาณ และโครงการอื่น ๆ ที่รอการจัดสรรงบประมาณอยู่ โดยโครงการที่เสนอมาก็ต้องให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ไม่ใช่ว่านึกจะให้ใครก็ให้ สามารถตรวจสอบได้ว่า แผนงานโครงการของรัฐบาลเข้าถึงทุกพื้นที่ ทุกจังหวัดหรือไม่ ในส่วนเรื่องของการที่ส่อโกงต่าง ๆ ก็ให้ไปพิสูจน์กันในกระบวนการยุติธรรม ถ้ามีหลักฐานก็ให้เป็นการฟ้องร้องกันไป โดยขอให้ย้อนกลับไปดูในอดีตที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นในกระบวนการยุติธรรม มีติดคุก มีหนีคดีหรือไม่
ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายว่า รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรัฐบาลที่หมดสภาพ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาประเทศได้ การจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ก็ไม่แก้โจทย์วิกฤตประเทศ ทำให้ถึงทางตันทุกมิติ สินหวัง ส่อโกง และเอื้อประโยนช์พวกพ้อง ไม่สมควรที่รัฐบาลชุดนี้จะบริหารประเทศและงบประมาณประเทศต่อไป จำเป็นอย่างยิ่งที่จะไม่รับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนผู้นำประเทศ เพื่อพาประเทศพ้นวิกฤต และยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยพร้อมที่จะบริหาประเทศและนำเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ที่มีประสิทธิภาพและสามารถพาออกจากวิกฤตครั้งนี้ได้
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ตลอด 8 ปี รัฐบาลนี้ทำให้ประเทศมีคนจนเพิ่มขึ้นแบบไม่เคยปรากฎมาก่อน เกิดภาวะตกงานครั้งใหญ่ มาตรการที่ผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่าทำให้ภาคเอกชนต้องล้มตาย ภาคเอกชนต้องปิดตัว นายจ้าง ลูกจ้าง แรงงานในระบบและนอกระบบ ทุกข์ระทม ไม่เห็นความหวัง ไม่เห็นทางออก และรัฐบาลที่ขาด Rule of Law ส่งผลให้ไม่สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้ ในที่สุดเราก็ถูกแย่งชิงฐานการผลิตไป ตลอด 8 ปีนำพาประเทศมาสู่จุดเสื่อมที่สุด ทรุดโทรมที่สุดและตกต่ำที่สุด
“ทางออกของประเทศขณะนี้ คือ จะต้องเปลี่ยนผู้นำ วันนี้รัฐบาลที่ล้มเหลว กำลังจะมาขอสภาให้อนุมัติงบประมาณ 3.185 ล้านล้านบาท แต่ 8 ปีแห่งความล้มเหลวเป็นที่ประจักษ์ต่อการรับรู้ของคนไทยทั้งประเทศ จึงไม่เห็นว่ารัฐบาลและนายกรัฐมนตรีคนนี้จะสามารถใช้งบก้อนนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งการจัดงบประมาณ 66 นี้ก็ยังไม่แยแสต่อสถานการณ์ประเทศ ไม่ตอบโจทย์ ไม่ทันสถานการณ์ และส่อไปในทางทุจริต เป็นการจัดทำงบฯ ที่เจอทางตันในทุกมิติ สร้างหนี้เป็นภาระเพิ่มของคนไทยทั้งประเทศ งบลงทุนก็ต่ำ กลายเป็นงบฯ ที่สิ้นหวัง จากรัฐบาลที่ล้มเหลว
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า อีกทั้งยังส่อทุจริต เอื้อพวกพ้อง อาทิ งบฯ คมนาคม ทั้งในส่วนของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบทพุ่งสูงขึ้น และยังถูกซ่อนในแผนบูรณาการด้านโลจิสติกส์อีกกว่า 130,000 ล้านบาท แม้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งจำเป็น แต่นี่เป็น ‘งบประมาณที่ถูกเรียกค่าไถ่’ จากพรรคร่วมรัฐบาล ขูดรีดประชาชน เพื่อสืบทอดอำนาจหรือไม่ รัฐบาลที่สิ้นหวัง จัดงบฯ แบบสิ้นคิด จัดงบส่อโกง เอื้อพวกพ้อง เราจึงไม่สามารถรับหลักการร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีนี้ได้ เพราะมองไม่เห็นหนทางว่า รัฐบาลที่สิ้นสภาพจะบริหารจัดการงบประมาณประเทศให้เหมาะสมกับการพัฒนาและฟื้นฟูประเทศได้อย่างไร เพราะฉะนั้นท่านไม่ต้องนำกลับไปแก้ไข ไม่ต้องนำกลับไปปรับปรุง และขอให้งบฉบับนี้ ตกไปพร้อมกับรัฐบาลชุดนี้
ด้าน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ภาพรวมของงบประมาณปี 66 เป็นเหมือน ‘ช้างป่วยที่เต้นระบำไม่ได้’ ในขณะที่เรากำลังเจอสถานการณ์รายได้ผันผวน รายจ่ายแข็งตัว การกู้ที่จะมีต้นทุนมากขึ้น ในเรื่องของรายจ่าย ส่วนใหญ่ยังใช้งบไปเพื่อเป็นรายจ่ายบุคลากรที่สูงถึง 40% อีกส่วนเป็นงบที่เอาไว้ชำระหนี้ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นงบบุคลากร ใช้หนี้สาธารณะ ใช้หนี้นโยบาย หนี้ ธกส. สุดท้ายเหลือจริงๆแค่ 1 ใน 3 เพื่อเอาไว้รับมือกับปัญหาปีต่อปีและความท้าทายในอนาคต
ต่อมา เรื่องรายได้ มีปัญหาว่าเก็บภาษีต่ำกว่าเป้า 2-3 แสนล้านบาท ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเค้าโครงเศรษฐกิจของเราเน้นแต่การท่องเที่ยวในเชิงปริมาณไม่ใช่เชิงคุณภาพ และเน้นอุตสาหกรรมส่งออกรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ยังไม่สามารถจัดเก็บรายได้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะมีเศรษฐกิจที่อยู่นอกระบบการเก็บภาษีสูงถึง 40% และระบบภาษีแบบ 1 คนเลี้ยง 9 คน มีจำนวนผู้เสียภาษีเพียง 4 ล้านคนจากแรงงาน 40 ล้านคน
“เมื่อรายได้ผันผวนลดลงได้แต่รายจ่ายแข็งตัว ก็ต้องกู้มากขึ้น ซึ่งในขณะนี้มีวิกฤตเงินเฟ้อทั่วโลก ธนาคารกลางในประเทศพัฒนาแล้วต่างขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ถึงธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม ต่อไปนี้รัฐบาลก็ต้องกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น” นายพิธา ระบุและว่า
“ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น จึงไม่สามารถรับหลักการวาระเเรกของร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2566 ในวงเงิน 3.185 ล้านล้านบาทได้ “