ศก.สหรัฐฯชะลอตัวไตรมาสแรก
เศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวลงในไตรมาสแรกเนื่องจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคอ่อนแรงลงมากที่สุดในรอบเกือบ 5 ปี แต่ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นท่ามกลางตลาดแรงงานที่ตึงตัวและอัตราภาษีที่ลดลงชี้ว่าการทรุดตัวครั้งนี้อาจเป็นเพียงชั่วคราว
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพีเพิ่มขึ้น 2.3% ต่อปี โดยกระทรวงพาณิชย์ระบุว่าตัวเลขจีดีพีในไตรมาสแรก ถูกฉุดรั้งจากการใช้จ่ายในส่วนธุรกิจอุปกรณ์และการลงทุนในการก่อสร้างที่อยู่อาศัย
ปัจจัยเหล่านี้ส่วนหนึ่งมีการลงทุนที่เพิ่มขึ้นและการขาดดุลการค้าที่ลดลงมาชดเชย โดยเศรษฐกิจเติบโต 2.9% ในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว ดีมานด์ในประเทศเพิ่มขึ้นในอัตรา 1.7% ชะลอตัวที่สุดในรอบสองปี หลังจากเคยพุ่งขึ้นไปสูงถึง 4.8% ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2560
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์การเติบโตว่าจะเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 เนื่องจากภาคครัวเรือนจะรับรู้ได้ถึงผลกระทบเชิงบวกจากการปรับลดภาษีมูลค่า 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของรัฐบาล โดยการปรับลดภาษีเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนม.ค.
การลดภาษีรายได้นิติบุคคลและบุคคล รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้นจะช่วยหนุนให้การเติบโตทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกับเป้าหมาย 3% ของรัฐบาล จากโพลสำรวจของรอยเตอร์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจีดีพีจะอยู่ที่ 2.0% ในไตรมาสเดือนม.ค. – มี.ค.
“ การลดภาษีและการใช้จ่ายของภาครัฐจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น” Joel Naroff หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่ Naroff Economic Advisor ในเพนซิลวาเนียกล่าว
การใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็นกว่า 2 ใน 3 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ลดลงมาอยู่ที่ 1.1% ในไตรมาสแรก เป็นการชะลอตัวมากที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2556 โดยในไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน ตัวเลขการเติบโตเคยพุ่งสูงถึง 4.0%
การใช้จ่ายด้านอุปกรณ์ชะลอตัวลง 4.7% ในไตรมาสแรก หลังจากเคยเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 การลงทุนด้านอุปกรณ์ที่ชะลอตัวลงเนื่องจากการฟื้นตัวของราคาโภคภัณฑ์ยังอ่อนแรง
การลงทุนด้านการก่อสร้างที่อยู่อาศัยไม่เปลี่ยนแปลงมากนักในไตรมาสแรก เนื่องจากยอดขายบ้านซบเซา เมื่อเทียบกับจำนวนการลงทุนที่เพิ่มขึ้นถึง 12.8% ในไตรมาสเดือนต.ค. – ธ.ค.
โดยการใช้จ่ายภาครัฐเติบโต 1.2% ชะลอตัวลงจากตัวเลข 3.0% ในไตรมาส 4 ของปีก่อน คาดการณ์ว่าตัวเลขการใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 หลังจากสภาคองเกรสของสหรัฐฯมีการอนุมัติการใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้น
มูลค่าการค้าช่วยเพิ่มตัวเลข 0.20 % ให้การเติบโตของจีดีพี เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลง และเศรษฐกิจทั่วโลกที่แข็งแกร่งช่วยหนุนการส่งออกของสหรัฐฯ.