สถานการณ์การจ้างงานไทยปี 65 ฟื้นตัวดีแต่ยังเปราะบาง
สถานการณ์แรงงานถือว่าเป็นเครื่องชี้วัดที่สำคัญอย่างหนึ่งในระบบเศรษฐกิจ เพราะหากตัวเลขการจ้างานไม่ดี อัตราการว่างงานสูงเหมือนกับในช่วงที่เกิดวิกฤติโควิด-19 ก็บ่งบอกถึงเศรษฐกิจที่อ่อนแอ เพราะหากแรงงานมีการทำงานในอัตราที่ต่ำการว่างงานสูง ผลที่จะเกิดขึ้นมีตั้งแต่การชะงักงันของเศรษฐกิจจากการไม่มีกำลังซื้อของแรงงาน ไปจนถึงการผิดนัดชำระหนี้ ทำให้ตัวเลขหนี้ที่อยู่ในระบบกลายเป็นหนี้เฝ้าระวังหรือหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ได้
ในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้นใหม่ๆ และยังมีข้อกังวลมากการว่างงานในประเทศไทยจำนวนมากพบว่าสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้มีการประเมินในปี 2563 ว่าการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้แรงงานมีความเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างถึง 8.4 ล้านคน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
1.แรงงานในภาคการท่องเที่ยวซึ่งมีประมาณ 3.9 ล้านคน 2. แรงงานในภาคอุตสาหกรรม 1.9 ล้านคน และ 3.การจ้างงานในภาคบริการอื่นที่ไม่ใช่การท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด คาดว่าจะมีแรงงานได้รับผลกระทบประมาณ 4.4 ล้านคน
แรงงานไทยช่วงโควิดว่างงานสูงสุด 8.7 แสนคน
อย่างไรก็ตามตัวเลขการว่างงานอย่างเป็นทางการที่สูงที่สุดของไทยในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 อยู่ที่ 1.64 – 2.25 % คิดเป็นจำนวนการว่างงานจริงระหว่าง 6.5 แสนคน – 8.7 แสนคน โดยจำนวนแรงงานที่ว่างงานที่น้อยกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการบางส่วนออกมาช่วยเหลือการจ้างงานของภาคเอกชน การใช้เงินกู้เพื่อรักษาระดับการจ้างงาน รวมทั้งการใช้เม็ดเงินจากเงินกู้จาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ วงเงินรวม 1.5 ล้านล้านบาทมาใช้ในการจ้างงานระยะสั้นของภาครัฐ เพื่อรอให้ระดับการจ้างงานในประเทศค่อยๆฟื้นตัวขึ้นตามการสถานการณ์โควิด-19 ที่ปรับตัวดีขึ้น
หลังจากที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย มีการผ่อนคลายมมาตรการการควบคุมโรคระบาด รวมทั้งการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้ามายังประเทศไทยได้มากขึ้น ทำให้ตัวเลขการจ้างงานในไตรมาสล่าสุด (ม.ค. – เม.ย.) การจ้างงานปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยผู้มีงานทำโดยรวมอยู่ที่ 37.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4/2565 ที่มีการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าในประเทศไทยจนทำให้มีการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการระบาดโดยไตรมาสดังกล่าวการจ้างงานหดตัวไปถึง 1.2%
การจ้างงานไตรมาส 1/65 ฟื้นตัว 3%
โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 การจ้างงานที่ดีขึ้นเป็นการฟื้นตัวทั้งการจ้างงานในภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรม โดยภาคการเกษตรที่ดีขึ้นมาจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนในภาคอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 3% มาจากการส่งออก และการผลิตที่ขยายตัว รวมทั้งภาคการขนส่งที่ยังขยายตัวได้ดี โดยในสาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นยังมีการจ้างงานล่วงเวลา (OT) เพิ่มขึ้น จากช่วงปกติโดยเป็นการจ้างงานในกลุ่มที่ทำงาน 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพิ่มมากขึ้นสะท้อนการเร่งตัวของบางภาคอุตสาหกรรม เช่น อิเล็กทรอนิกส์ อาหารสัตว์ การส่งออกอาหาร เป็นต้น โดยเป็นผู้ที่ทำงานล่วงเวลาอยู่ประมาณ 5.7 ล้านคน ต่ำกว่าในช่วงปกติที่จำนวนการจ้างงานล่วงเวลาจะอยู่ที่ประมาณ 6 – 7 ล้านคน
ทั้งนี้เมื่อดูจากเครื่องชี้วัดเรื่องอัตราการว่างงาน ถือเป็นข่าวดีที่การว่างงานในไตรมาสที่ผ่านมาลดลงเหลือ 1.53% ถือว่าลดลงต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา โดยมีจำนวนผู้ว่างงานลดลงเหลือ 6.1 แสนคน ลดลงจาก 7.6 แสนคนในช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงจากไตรมาสก่อนที่มีจำนวนผู้ว่างงานที่ 6.3 แสนคน ส่วนผู้ประกันตนที่รับผลประโยชน์ว่างงานในระบบประกันสังคมก็มีจำนวนผู้ขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานลดลงต่อเนื่องโดยปัจจุบันอยู่ที่ 3.05 แสนคน คิดเป็น 2.7 % ลดลงเป็นจำนวนกว่า 9.1 หมื่นคน หรือลดลงกว่า 28.87% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
4 ปัจจัยเสี่ยงตลาดแรงงานไทย
ข้อมูลสถานการณ์แรงงานการจ้างงาน และอัตราว่างงานของไทยที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมาแม้จะดูมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าตลาดแรงงาน และภาวะการจ้างงานไทยเข้าสู่ภาวะปกติได้ทั้งหมด
โดยข้อมูลที่ สศช.ได้แถลงในภาวะสังคมไตรมาสที่ 1 /2565 พบว่าตลาดแรงงานของไทยยังเผชิญกับความไม่แน่นอนอย่าง 4 เรื่องที่ต้องมีการแก้ไข หรือต้องเร่งพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้การจ้างงานฟื้นตัวได้แข็งแกร่งขึ้นได้แก่
1.ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนยังคงมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาสที่ผ่านมามีจำนวนมากขึ้นเป็น 2.26 แสนคน เพิ่มขึ้น 5.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มผู้ว่างงานที่มีประสบการณ์การทำงาน แนวโน้มการว่างงานจะลดลง โดยผู้ว่างงานที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนหากแบ่งตามช่วงอายุพบว่า แรงงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนแล้วอยู่ในภาวะว่างงาน ส่วนใหญ่เป็นเยาวชน และวัยรุ่นที่มีอายุ 15 – 24 ปี มีสัดส่วนประมาณ 66.2% ส่วน ที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไปจะมีสัดส่วนคิดเป็น 33.8%
2.ผู้ว่างงานระยะยาวยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ว่างงานระยะยาวคือผู้ที่ไม่ได้ทำงานในระยะเวลาเกิน 1 ปี ของไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเมื่อดูจากผลการสำรวจพบว่าในไตรมาสที่ 1 ของปีจำนวนของแรงงานในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเป็น 1.74 แสนคน สูงกว่าในไตรมาสที่ 4 ของปีก่อนที่อยู่ที่ 1.36 แสนคน และสูงกว่าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 ที่มีจำนวนแรงงานที่ว่างงานเกิน 1 ปีประมาณ 1.46 แสนคน สะท้อนถึงจำนวนของผู้ที่ว่างงานเป็นระยะเวลานานและยังไม่ได้กลับเข้าสู่ตลาดแรงงานอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งต้องการการติดตาม และช่วยให้แรงงานกลุ่มนี้กลับเข้าสู่ระบบการทำงานโดยเร็วที่สุด
3.ชั่วโมงการทำงานของแรงงานบางกลุ่มยังอยู่ในระดับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น โดยผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่าการจ้างงานในไทยมีการกำหนดระยะเวลาการทำงานไม่เท่ากัน โดยหากทำงานต่ำกว่า 4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จะถือว่าเป็นแรงงานในกลุ่มเสมือนว่างงาน โดยแรงงานในกลุ่มนี้ถือว่าต้องจับตาเป็นพิเศษ เพราะเป็นแรงงานที่นายจ้างอาจกำลังตัดสินใจเลิกจ้าง เลิกกิจการ ถือว่าเป็นแรงงานที่มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นผู้ว่างงานได้
ทั้งนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่าแรงงานที่เป็นแรงงานกลุ่มเสมือนว่างงานของไทยในขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 3.78 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ของปีก่อนที่มีอยู่ประมาณ 2.63 ล้านคน ขณะที่แรงงานที่มีการทำงานน้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มีมากถึง 0.75 แสนคน และแรงงานที่ทำงาน 1 – 34 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือไม่เกิน 5 ชั่วโมงต่อวันมีจำนวน 8.12 ล้านคน ซึ่งหากรวม 2 กลุ่มนี้เข้าด้วยกันจะมีจำนวนแรงงานในกลุ่มนี้มากถึง 9 ล้านคน
เด็กจบระดับอุดมศึกษายังว่างงานสูง
และ4.การว่างงานในกลุ่มแรงงานที่เป็นนักเรียนนักศึกษาที่จบใหม่ จากผลการสำรวจพบว่าแรงงานในกลุ่มที่จบการศึกษาใหม่ที่มีระดับการศึกษาระดับอุดมศึกษาว่างงานสูงที่สุดคือเป็นสัดส่วน 52% ของแรงงานในกลุ่มนี้ สะท้อนถึงปัญหาการจบมาไม่ตรงกับความต้องการของตลาด หรือทักษะแรงงานที่ยังไม่ได้คุณภาพตรงกับที่ตลาดแรงงานต้องการ
โดยทาง สศช. ได้นำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาให้กับการว่างงานของนักเรียน นักศึกษาที่จบมาใหม่ว่าในระยะสั้นจำเป็นที่จะต้องมีการฝึกอบอรมทักษะในลักษณะของการ Re-skills และ Up Skills ให้กับแรงงานเพื่อให้มีความสามารถตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน
นอกจากนั้นในระยะยาวต้องมีการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ ที่สอดคล้องกับแนวโน้มของตลาดงานในอนาคต รวมถึงหารือกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดว่ามีความต้องการแรงงานที่มีคุณสมบัติ หรือทักษะที่จำเป็นอย่างไรบ้าง และร่วมกันผลิตนักเรียน นักศึกษาให้ออกมาตรงกับความต้องการ จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างเป็นระบบ โดยหน่วยงานที่ต้องเข้ามาเป็นเจ้าภาพในส่วนนี้ก็คือกระทรวงแรงงาน และกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมโดยตรง
จากปัญหา 4 ข้อที่ได้กล่าวมาจะเห็นว่าการฟื้นตัวของแรงงานในประเทศยังมีความไม่แน่นอน ความเสี่ยง และความท้าทายที่รออยู่อย่างมาก เมื่อรวมกับปัญหาภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่แรงงานไทยต้องเผชิญในขณะนี้ จำเป็นที่ภาครัฐจะยังต้องมีมาตรการในการช่วยเหลือ ประคับประคอง แรงงานให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปให้ได้ก่อนที่จะมีจำนวนผู้ที่ว่างงานมากกว่าที่เป็นอยู่