IRM เผยต้องมีกฎเหล็ก แก้ปัญหาการอยู่อาศัยในหมู่บ้าน-คอนโด
“อินเตอร์ เรียลตี้ แมเนจเม้นท์ฯ” เผยปัญหาที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม แนะทางออกให้กับผู้อยู่อาศัย ย้ำทุกหมู่บ้านต้องกำหนดกติกาและผู้อยู่อาศัยต้องมีวินัย เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา
นายธนันทร์เอก หวานฉ่ำ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อินเตอร์ เรียลตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด (IRM) และอดีตนายกสมาคมบริหารทรัพย์สินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การอยู่อาศัยในอาคารและบ้านจัดสรรในปัจจุบันมักจะมีปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้น ทั้งนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาเรื่องบ้านร้าวและบ้านทรุด ซึ่งจะมีการร้องเรียนกันอยู่เสมอ ปัญหานี้ผู้อยู่อาศัยต้องไปดูสัญญาจะซื้อจะขายซึ่งมีการประกันโครงสร้างและวัสดุก่อสร้าง หากเป็นส่วนประกอบของบ้านมีระยะเวลาในการประกัน 1 ปี ส่วนโครงสร้างมีระยะเวลาการประกัน 5-10ปี ดังนั้น ตอนรับบ้านจะต้องตรวจสอบให้ดี ถ้ามีการชำรุดสามารถให้ผู้จัดสรรแก้ไข และเมื่ออยู่อาศัยมาสักระยะหากมีการชำรุดผู้จัดสรรจะต้องซ่อมแซมตามสัญญา
นอกจากนี้แล้วยังมีปัญหาเรื่องของความปลอดภัย ซึ่งนิติบุคคลจะต้องตกลงเรื่องนี้กับบริษัทรักษาความปลอดภัยที่หมู่บ้านใช้บริการอยู่ให้ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องหลักเกณฑ์ความรับผิดชอบ เพราะที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ขึ้น บริษัทรักษาความปลอดภัยจะอ้างเหตุผลต่าง ๆ เพื่อจะปัดความรับผิดชอบ ดังนั้น ควรกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยให้ดี เช่น การเข้าออกจะใช้การ์ดหรือสติ๊กเกอร์ และมีวิธีการดูแลบุคคลภายนอกที่เข้าออกหมู่บ้าน
อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องสาธารณูปโภคส่วนกลางให้ไม่ครบก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่บ้านจัดสรรต้องเผชิญ หากไม่ครบก็สามารถเรียกร้องจากผู้จัดสรรได้ ปัญหานี้เคยเป็นคดีฟ้องร้องกันอยู่ต่อเนื่อง ปัญหาการจอดรถกรีดขวางหรือไม่เป็นระเบียบ เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านจัดสรร เช่น จอดรถนอกบ้านหรือจอดหน้าบ้านคนอื่น นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรจะต้องกำหนดกฎเกณฑ์หรือชี้แจงว่า จอดรถอย่างไรได้บ้าง รวมทั้งปัญหาเรื่องการตกแต่งต่อเติม ปกติหมู่บ้านจัดสรรจะไม่เหมือนคอนโด เพราะส่วนใหญ่จะต้องตกแต่งต่อเติมเพิ่ม เพราะฉะนั้นระเบียบในการตกแต่งต่อเติมเพิ่มก็ต้องขออนุญาตกับคณะกรรมการหรือผู้จัดการที่ดูแล ซึ่งแต่ละแห่งจะมีกฎระเบียบแตกต่างกัน
สำหรับปัญหายอดฮิต ที่ทำให้ผู้บริหารทรัพย์สินปวดหัว คือ ปัญหาลูกบ้านไม่จ่ายค่าส่วนกลาง ดังนั้น นิติบุคคลต้องมีประสิทธิภาพในการติดตามทวงถามและต้องรายงานผลให้กับคณะกรรมการหมู่บ้านทราบอยู่ตลอดเวลา รวมถึงปัญหาที่เพื่อนบ้านส่งเสียงดัง เป็นเรื่องที่แก้ยาก นิติบุคคลต้องทำหน้าที่ดูแลว่าบ้านไหนที่มีกิจกรรมงานเลี้ยง ไม่ว่าจะฉลองเทศกาลต่าง ๆ ทำบุญบ้าน งานมงคลต่าง ๆ ต้องไปขออนุญาตบ้านข้างเคียงในการใช้เสียง ระบุไปให้ชัดเจนว่าจะใช้เวลาไหนกี่โมงถึงกี่โมงหลังจากนั้นจะต้องหยุด ทำระบบเหล่านี้ให้คล้าย ๆ เป็นระบบของโรงแรมเพราะว่าการอาศัยอยู่ร่วมกัน ถ้าเราไม่มีกติกาตั้งแต่ต้น ปัญหาเหล่านี้จะเกิดขึ้นและอาจส่งผลกระทบด้านอื่น ๆ ตามมา