QUEQ มาตราฐานใหม่แห่งการรอคิว
เบื่อไหมกับเข้าคิวและต้องยืนรอ นั่งรอเป็นเวลานาน โดยที่เวลาช่วงนั้นต้องหายไปโดยเปล่าปะโยชน์ จนบางครั้งทำให้เราเลิกล้มความตั้งใจที่จะต่อคิวรอเข้าใช้บริการร้านอาหารที่เราต้องการ และหันไปใช้บริการร้านอื่นที่ไม่ต้องต่อคิวแทน
ปัจจุบันปัญหาดังกล่าวได้ถูกขจัดให้หมดสิ้นไป ด้วยไอเดียของผู้ชายที่มีชื่อว่า รังสรรค์ พรมประสิทธิ์ CEO บริษัท QueQ ที่นำปัญหาที่ตนเองประสบพบเจอมากลั่นกรองจนตกตะกอนทางความคิด และนำไปสู่การสร้างสรรค์แอพลิเคชั่นเพื่อการจองคิว ที่ฉีกกฎเกณฑ์ของการต่อคิวในรูปแบบเดิมๆออกไปอย่างสิ้นเชิง ภายใต้ชื่อ “QueQ”
สร้างธุรกิจจากปัญหา
รังสรรค์ บอกเล่าถึงที่มาที่ไปซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ QueQ ว่า เกิดขึ้นจากการที่ต้องเข้าไปใช้บริการที่สาขาของธนาคารแห่งหนึ่งในช่วงของวันสิ้นปี ซึ่งมีจำนวนคนที่รอคิวเข้าใช้บริการอยู่จนล้นออกมาภายนอกสาขา โดยเมื่อรับบัตรคิวไปแล้วก็ต้องเดินวนไปวนมาอยู่บริเวณนั้น เพื่อรอตรวจสอบว่าใกล้ถึงคิวที่จะได้รับบริการหรือยัง แวบของความคิดที่เป็นไอเดียของธุรกิจจึงเริ่มก่อตัวขึ้นจากจุดเล็กๆตรงนั้นว่า น่าจะมีตัวช่วยที่ทำให้คนต่อคิวสามารถใช้เวลาช่วงนั้นให้เกิดประโยชน์ได้มากกว่าแค่การต้องมานั่งรอ หรือยืนรอเพื่อที่จะเข้าใช้บริการ โดยเป็นลักษณะของแจ้งเตือนเมื่อใกล้ที่จะถึงคิวของตนเอง จะได้เดินกลับมาเพื่อใช้สิทธิ์ของตนได้อย่างทันท่วงที
หลังจากนั้นจึงนำแนวคิดดังกล่าวมาหารือกับทีมงาน เพื่อขยายความประกายไอเดียเล็กๆว่าจะนำไปพัฒนาสู่การให้บริการในรูปแบบใดไดบ้าง จนเป็นที่มาของแอพลพิเคชั่น QueQ ในรูปแบบของการออนไลน์ โดยมีการพัฒนาฟีเจอร์ และบูรณาการมาจนถึงขั้นการจองคิวได้โดยไม่ต้องไปถึงหน้าร้าน ผ่านทางแอพลิเคชั่น หลังจากนั้นจะไปทำธุระด้านอื่นก่อนเมื่อถึงคิวที่จะได้รับบริการก็จะมีการแจ้งเตือนเข้ามาบนสมาร์ทโฟน เพื่อให้ผู้ใช้งานเดินไปยังร้านที่ได้ลงชื่อจองคิวไว้ โดยสามารถใช้งานดั้งระบบ IOS และ Android
“แรกเริ่มตนเองมีบริษัทที่ทำเกี่ยวกับซอฟแวร์เฮาส์มาก่อน โดยรับทำโปรดักส์แบบให้กับผู้ประกอบการธุรกิจเจ้าอื่น หรือที่เรียกว่า B2B และส่งมอบงานให้ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่ใช่ธุรกิจที่ตรงกับความต้องการของตลาด และมีอัตราการเติบโตแบบ SMEs ประมาณปีละ 10-20% จึงมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้มีการเติบโตได้แบบก้าวกระโดด ครั้นจะขยายงานและรับงานให้มากขึ้น ก็จะต้องเพิ่มจำนวนพนักงาน ซึ่งก็ยังไม่ได้ตอบโจทย์ตามที่ต้องการ ดังนั้น แนวความคิดในการเป็นธุรกิจ Startup จึงผุดขึ้นมา ภายใต้ปัญหาที่เจอมากับกับตัวจากการรอคิวเป็นเวลานาน”
ชูจุดเด่นไม่ต้องวางแผนก่อนเดินทาง
สำหรับจุดเด่นของ QueQ นอกจากเรื่องของการจองคิวโดยไม่ต้องยืนรอที่เห็นอย่างรูปธรรมที่ชัดเจนแล้ว รังสรรค์ยังบอกอีกว่า เป็นความแตกต่างจากกาให้บริการของผู้ให้บริการรายอื่น เนื่องจากผู้ที่ใช้งาน QueQ จะไม่ใช่ผู้ที่ต้องวางแผนมาก่อนล่วงหน้าก่อนเดินทางว่าจะเลือกรับประทานอะไรร้านไหน แต่จะเป็นการเลือกจองคิวมาเมื่อถึงห้างสรรพสินค้า โดยเลือกว่าต้องการรับประทานอาหารร้านไหน หลังจากนั้นก็จะไปทำกิจกรรม หรือธุระส่วนตัวก่อนในช่วงเวลาที่รอคิวก่อนทีจะเข้าไปใช้บริการเมื่อถึงเวลา
“การใช้แอพพลิเคชั่น หรือบริการอื่นอาจจะเป็นการรีวิวร้านอาหาร หรือการมอบส่วนลดให้เมื่อลูกค้าต้องการเข้าไปใช้บริการ ทำให้ผู้ใช้งานต้องเกิดการวางแผนล่วงหน้าก่อนที่จะเดินทาง แต่ QueQ จะเป็นแบบที่ผู้ใช้งานไม่ต้องวางแผนก่อนที่จะเดินทาง แต่จะเลือกร้านหลังจากที่ไปถึงแล้วว่าจะเลือกใช้บริการใด มีคิวในการรออยู่ที่จำนวนเท่าไหร่ โดยสามารถไปทำอย่างอื่นก่อนได้ช่วงระยะเวลาที่ต้องรอคิว”
กลยุทธ์เจาะไข่แดงเพิ่มผู้ใช้งาน
ด้านกลยุทธ์ที่ใช้ในการทำตลาดนั้น รังสรรค์ชี้แจงให้ทราบว่า กลุ่มแรกที่มองในเบื้องต้นเลยก็คือกลุ่มลูกค้าธนาคาร เนื่องจากไอเดียของตนมีจุดเริ่มต้นจากตรงนั้น แต่ปัจจุบันมีธนาคารทีเลือกใช้บริการ QueQ เพียงแห่งเดียว หลังจากนั้น จึงมองมาที่กลุ่มของร้านอาหาร ซึ่งกำลังมีแนวโน้มการใช้บริการที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเลือกร้านอาหารระดับท็อปที่ให้บริการอยู่ในห้างสรรพสินค้าเป็นหลัก ซึ่งเมื่อเราเข้าไปเจรจานำเสนอรูปแบบการให้บริการ ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร
“การที่เราเลือกร้านอาหารที่เป็นระดับท็อปอยู่แล้ว จะมีข้อดีตรงที่ลูกค้ามีความต้องการที่จะเข้าไปใช้บริการเป็นทุนเดิมโดยที่ไม่ต้องการส่วนลดเข้ามาเพื่อเป็นการจูงใจ เพียงแค่ต้องการความสะดวกสบายในการเข้าไปบริการเท่านั้น ยิ่งเมื่อเรามีตู QueQ ไปตั้งอยู่หน้าร้าน จึงสร้างความแปลกใหม่ให้กับลูกค้ายิ่งเกิดความสนใจที่จะใช้บริการ โดยเมื่อใช้บริการแล้วก็จะเกิดการบอกต่อแบบปากต่อปากทำให้จำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเราเปรียบกลยุทธ์ดังกล่าวเสมือนการเจาะไข่แดง เพราะเน้นให้บริการในห้างสรรพสินค้า ขณะที่แอพพลิเคชั่นอื่นจะเน้นไปที่ร้านอาหารที่มีจำนวนสาขาอยู่นอกห้างสรรพสินค้า”
ปัจจุบัน QueQ ครอบคลุมการให้บริการร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าประมาณ 100 สาขา และมีอีกหนึ่งธนาคารที่เลือกใช้บริการใน 50 สาขา โดยล่าสุดกำลังอยู่ในขั้นตอนของการหารือกับหน่วยงานราชการ เพื่อนำบริการของ QueQ ไปประยุกต์ใช้ในการให้บริการประชาชน
ขยายการให้บริการสู่ต่างประเทศ
ขณะที่เป้าหมายปลายทางของการให้บริการ QueQ นั้น รังสรรค์ต้องการขยายการให้บริการไปสู่โรพยาบาล ซึ่งในแต่ละวันจะมีผู้ที่ต้องเดินทางเข้ามาใช้บริการอยู่เป็นจำนวนมาก และมีความซับซ้อนมากในการจัดลำดับคิว อย่างไรก็ตาม ในปี 2560 จะเริ่มต้นขยายการให้บริการออกสู่พื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น จากเดิมที่มีให้บริการเฉพาะแค่ในเขตกรุงเทพฯเท่านั้น หลังจากนั้นจึงจะขยายบริการออกไปสู่ต่างประเทศ โดยเวลานี้ได้มีการเจรจากับพันธมิตรทางธุรกิจที่ประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซีย เพื่อนำบริการ QueQ ไปปรับใช้ในการให้บริการ
“การขยายตัวของ QueQ จนถึงปัจจุบันยังไม่เคยมีการระดมทุนจากภายนอกเข้ามาช่วยในการขยายธุรกิจ โดยเงินทั้งหมดที่ใช้มาจากธุรกิจของซอฟแวร์เฮ้าส์ที่ยังดำเนินการอยู่ โดยแผนการดำเนินงานในอนาคตอาจจะมีการระดมทุนเข้ามาเพื่อขยายตลาดให้ครอบคลุมไปในทุกอุตสาหกรรม และนำบริการ QueQ ไปสู่ต่างประเทศ”
รังสรรค์ กล่าวปิดท้ายว่า ปัจจุบันมีจำนวนผู้ที่ใช้งาน QueQ อยู่ที่ประมาณ 4 แสนราย โดยมีรายได้อยู่ที่ประมาณปีละ 12 ล้านบาท ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่จะเก็บจากผู้ประกอบการที่นำ QueQ ไปใช้สาขาละ 6,000 บาท ซึ่งในอนาคตจะขยายการให้บริการร่วมกับพันมิตรที่เป็นผู้สนับสนุนร้านค้าเหล่านั้น ในการให้โปรโมชั่นพิเศษลูกค้าในการเข้าไปใช้บริการ โดยเก็บเป็นค่าคอมมิชชั่นจากส่วนแบ่งในการเข้าไปใช้งาน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทางฝั่งผู้ใช้งานยังใช้บริการได้ฟรีเช่นเดิม
“เป้าที่คิดไว้ในใจคือการให้ QueQ เข้าไปแทนที่เรื่องของการต่อคิวให้กลายมาเป็นมาตรฐานในการรอ และขยายบริการไปสู่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีวัฒนธรรมในการต่อคิวเป็นเอกลักษณ์ และในลำดับสุดท้ายก็คือการนำธุรกิจเข้าระดมในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)”