นิคมฯสะเดา เชื่อม 3 ประเทศ เสร็จปี63
กนอ.คาด ปี 2563 เปิดให้ใช้พื้นที่ นิคมอุตสาหกรรมสงขลา ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ อำเภอสะเดา หลังได้ผู้รับเหมาพัฒนาพื้นที่เดือนเมษายนนี้ มั่นใจทุนไทย-เทศ ใช้เป็นฐานการผลิต-ส่งออกเชื่อมโยงไปยังกลุ่ม IMT-GT
นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยความคืบหน้าการพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมสงขลาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ระยะที่ 1 พื้นที่ 629 ไร่ ว่า นิคมฯดังกล่าว อยู่ในพื้นที่ ต.สำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา ขณะนี้ กนอ.พร้อมเข้าพัฒนาพื้นที่แล้ว โดยบริษัท พี.ที.เอ.คอนสตรัคชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการฯ ที่ กนอ.คัดเลือกและให้เป็นผู้พัฒนาพื้นที่โดยจะเริ่มดำเนินการภายในเดือนเมษายนนี้ด้วยเงินลงทุน ประมาณ 900 ล้านบาท คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 18 เดือน แล้วเสร็จ และจะพร้อมเปิดให้นักลงทุนเข้าใช้พื้นที่ได้ภายในปี 2563
“นิคมฯดังกล่าว นับเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งที่สองของ กนอ.ภายใต้นโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) ที่รัฐบาลมุ่งหวังที่จะกระตุ้นการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมยางพารา อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและเครื่องหนัง อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยคาดว่าหากมีการใช้พื้นที่เต็มจำนวนแล้วจะทำให้เกิดการจ้างงาน เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 3,400 อัตรา และก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนในจังหวัดสงขลา ประมาณ 13,800 ล้านบาท” ดร.สมจิณณ์กล่าว
ทั้งนี้พื้นที่โครงการการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสงขลาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอำเภอสะเดา ระยะแรก 629 ไร่ กนอ.แบ่งเป็นพื้นที่สำหรับรองรับอุตสาหกรรมทั่วไป เขตพาณิชยกรรม และโรงงานสำเร็จรูป รวมทั้งสิ้น 347 ไร่ และ ส่วนที่เหลืออีก 283 ไร่ กนอ.จะพัฒนาให้เป็นพื้นที่สาธารณูปโภคส่วนกลางและพื้นที่สิ่งอำนวยความสะดวกและพื้นที่สีเขียวสำหรับให้บริการทั้งผู้ประกอบการและชุมชน ประชาชนทั่วไปในพื้นที่ที่เข้ามาใช้บริการภายในนิคมฯเพื่อความยั่งยืนของการอยู่ร่วมกันของสังคมชุมชนและสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิดการออกแบบไปสู่การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (EcoIndustrial Estate)
นิคมอุตสาหกรรมสงขลา ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอำเภอสะเดา ถือเป็นพื้นที่เศรษฐกิจของพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ที่มีศักยภาพมีความพร้อมในเรื่องของวัตถุดิบ แรงงาน และระบบขนส่ง ที่สามารถเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ตลอดจนยังสามารถรองรับการขยายตัวด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมด้านโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงอุตสาหกรรมบริการ และอื่นๆ เป็นต้น
สำหรับจังหวัดสงขลาเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพโดดเด่นและมีแนวโน้มเติบโตทางเศรษฐกิจเนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีโอกาสในการเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนของภาคใต้ที่สามารถเชื่อมโยงไปยังประเทศในกลุ่มความร่วมมือเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) เนื่องจากมีด่านสะเดาและด่านปาดังเบซาร์ ซึ่งเป็นด่านทางบกที่มีมูลค่าการค้าสูงสุดที่อยู่ใกล้ท่าเรือปีนัง และท่าเรือกลางของมาเลเซียมีการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย-มาเลเซียผ่านทางปาดังเบซาร์ มีฐานการผลิตในพื้นที่ด้วยศักยภาพที่มีอยู่แล้วทำให้ทำเลที่ตั้งมีความโดดเด่นมากที่ถือเป็นความพร้อมที่จะรอบรับการเป็นฐานการผลิตและส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะมาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย เข้ามาลงทุนในนิคมฯดังกล่าว ซึ่งขณะนี้เริ่มมีนักลงทุนในกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มธุรกิจด้านโลจิสติกส์ กลุ่มธุรกิจสิ่งทอ สนใจเข้าสอบถามรายละเอียดของโครงการมา อย่างต่อเนื่อง.