ญี่ปุ่นขาดสถานรับเลี้ยงเด็ก
อัตราการเกิดของญี่ปุ่นต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่คือ การขาดแคลนสถานรับเลี้ยงเด็กเล็กก่อนวัยเรียน ทำให้บริษัทต่างชาติมองเห็นโอกาสที่จะเข้ามาทำธุรกิจนี้ในประเทศ
จากการสำรวจของสื่อนิกเคอิเอเชียนรีวิวในปี 2560 ใน 34 เขตเทศบาล มี 16 เขตที่มีรายชื่อเด็กที่รอเข้าสถานรับเลี้ยงเด็กเพิ่มมากขึ้นกว่าปีก่อนหน้า และจากข้อมูลของรัฐบาลในเดือนเม.ย.ในปีที่แล้ว มีจำนวนเด็กๆ ที่รอคิวเข้าสถานรับเลี้ยงเด็กถึง 26,081 คน
ญี่ปุ่นเพิ่มจำนวนสถานรับเลี้ยงเด็กเล็กในช่วงไม่กี่ปีมานี้ แต่ยังคงมีงานต้องทำอีกมาก ประเด็นนี้ยังกลายเป็นปัญหากับแผนการของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ที่จะปรับปรุงการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในตลาดแรงงาน และหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจยิ่งขึ้นไปอีก
หลังจากมีไวรัลจากบล็อกที่ไม่พอใจจนต้องโพสต์ถึงรายละเอียดของปัญหาสำคัญที่แม่ซึ่งต้องทำงานนอกบ้านด้วยต้องเจอคือการขาดแคลนสถานรับเลี้ยงเด็กเล็กมานานกว่า 2 ปี บริษัทต่างชาติจึงสนใจในตลาดญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น
หนึ่งในบริษัทเหล่านั้นคือ Busy Bees ผู้ประกอบการสถานรับเลี้ยงเด็กในสิงคโปร์และมาเลเซีย ปัจจุบัน บริษัทไม่มีศูนย์กลางในญี่ปุ่น แต่ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อ CNBC ว่า สนใจในตลาดญี่ปุ่นอย่างจริงจัง แม้จะไม่ได้ให้รายละเอียดมากนัก
BusyBees ชอบญี่ปุ่นเพราะอุตสาหกรรมรับเลี้ยงเด็กกำลังเติบโต June Rusdon ซีอีโอของ BusyBees Asia กล่าว โดยเสริมว่า บริษัทต้องการโอกาสที่จะได้รับความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมนี้ในญี่ปุ่น
นอกจากนี้ มีความต้องการสถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียนในระบบนานาชาติเพิ่มมากขึ้นในญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีพ่อแม่ที่ชื่นชอบระบบการศึกษาแบบนานาชาติเพิ่มขึ้น อ้างอิงจาก Tan Anli ผู้อำนวยการ EtonHouse International Pre-School ที่กรุงโตเกียว โดยผู้ปกครองต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับเด็กแต่ละคนสูงถึง 2.5 ล้านเยน หรือราว 750,500 บาทต่อปี แต่ก็มีเด็กเต็มหมด
ทั้งนี้ นายกฯอาเบะให้คำมั่นว่า จะลดจำนวนการต้องรอคิวเข้าสถานรับเลี้ยงเด็กให้เป็นศูนย์ ภายในเดือนมี.ค.ปี 2564 แต่หลายคนไม่เชื่อ เนื่องจากรัฐบาลเคยให้สัญญาเช่นนี้มาก่อนแล้วในปี 2556
ขณะที่การขาดแคลนสถานรับเลี้ยงเด็กเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง แต่รากฐานของสาเหตุคือเงินสนับสนุนจากภาครัฐไม่เพียงพอ ซูซูมุ นิชิโอกะ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยโทโฮกุในญี่ปุ่น โดยเขากล่าวว่า อดีตนายกรัฐมนตรีจูนิชิโร โคอิซูมิ เคยกำหนดยุทธศาสตร์ลดการรอคิวเข้าสถานรับเลี้ยงเด็กเป็นศูนย์ แต่ไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมาย เพราะไม่ได้ปรับขึ้นภาษีเพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่าย
โดยเมืองใหญ่ที่มีจำนวนประชากรหนาแน่นอย่างกรุงโตเกียว และโอซากา มีปัญหาขาดแคลนในพื้นที่ตัวเมือง อจ.นิชิโอกะ กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเจ้าหน้าที่ในสถานรับเลี้ยงเด็กขาดแคลนอีกด้วย
“ เป็นเรื่องยากที่จะหาพนักงานจริงๆ ” มิกะ อิเคโมดตะ นักวิจัยอาวุโสที่สถาบันวิจัยแห่งญี่ปุ่นกล่าวกับสื่อ CNBC โดยเธอชี้ว่า ปัญหาสำคัญคือเงินค่าจ้างต่ำเกินไป.