‘ซอฟต์ พาวเวอร์’ กับโอกาสการพัฒนาเศรษฐกิจไทย
การปรากฏตัวของแร็ปเปอร์สาวสุดฮอตชาวไทย “ดนุภา คณาธีรกุล” หรือ “น้องมิลลิ” ที่ขึ้นไปร้องเพลงแร็ปพร้อมกับกินข้าวเหนียวมะม่วงบน เวทีคอนเสิร์ต Coachella 2022 ที่สหรัฐฯเมื่อสัปดาห์ก่อน กลายเป็นกระแสที่ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวาง จนทำให้ข้าวเหนียวมะม่วงกลายเป็นเมนูขายดีติดต่อกันหลายวัน เรื่องราวของแร็ปเปอร์สาวชาวไทยกลายเป็นที่พูดถึงและค้นหาในช่องทางอินเตอร์เน็ต จนติดเทรนด์ความนิยมในโซเชียลมีเดียร์
สิ่งที่ตามมาก็เช่นเดียวกับที่ก่อนหน้านี้ศิลปินชาวไทยหลายคนที่ไปปรากฎตัวสร้างชื่อเสียงในเวทีระดับโลก โดยเอาวัฒนธรรม ประเพณี และอาหารไทยไปเผยแพร่สู่สายตาชาวโลก คือคำถามกลับมายังรัฐบาลว่าจะมีการสนับสนุนสิ่งที่เรียกว่า “ซอฟต์ พาวเวอร์” (Soft Power) หรือสิ่งที่เรียกว่า “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” (Creative Economy) ของไทยอย่างไร เพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างอุตสาหกรรมที่เกี่ยวขึ้น สร้างงานและความเป็นอยู่ที่ดีของคนในประเทศได้เหมือนกับหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมซอฟต์ พาวเวอร์ จนเป็นที่นิยมทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งสหรัฐฯที่ส่งออกภาพยนตร์ฮอลลีวูดวิถีชีวิต และความคิดแบบอเมริกันชนออกไปทั่วโลกมาหลายทศวรรษ
ทำความเข้าใจทฤษฎี “ซอฟต์พาวเวอร์”
แนวคิดเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ถูกพัฒนาขึ้นจากแนวความคิดในวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งมีการเรียนการสอนกันในมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่ง ก่อนที่ศาสตราจารย์ Joseph S. Nye อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์แห่งสถาบันจอห์น เอฟ เคนเนดี มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จะพัฒนาแนวความคิดและทฤษฎีเรื่องของซอฟต์พาวเวอร์ขึ้นมาว่าเกี่ยวข้องกับการใช้อิทธิพลทางวัฒนธรรม คุณค่าทางสังคมเพื่อเชิญชวนให้คนสนใจทั้งสองส่วนนี้แล้วต้องการที่จะเลียนแบบหรือทำตาม
อำนาจของซอฟต์พาวเวอร์ในระยะยาวสามารถที่จะสร้างอิทธิพลได้ไม่ต่างจากอำนาจทางหหารและมีอำนาจที่จะยึดครองความคิดของคนประเทศอื่นๆให้มีค่านิยม ความเชื่อ ความคิด การดำเนินชีวิตในแบบที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นเจ้าของ ต้นตำรับซอฟพาวเวอร์ที่จะสามารถส่งออกสินค้า แฟร์ชั่น และแม้แต่เทคโนโลยี ไปยังประเทศอื่นๆที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต้นทางที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรม แนวความคิดต่างๆได้ต่อเนื่องยาวนาน ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ เกาหลีใต้ที่ส่งออกซีรีย์ ภาพยนตร์เกาหลี รวมถึงเหล่าศิลปิน K-pop โด่งดังไปทั่วโลก สหรัฐฯที่ขายภาพยนตร์ฮอลลีวูดไปทั่วโลก และญี่ปุ่นที่สามารถส่งออกอาหาร และวัฒนธรรมการกินอาหาร รวมทั้งการท่องเที่ยว จากแดนซามูไรไปทั่วทุกมุมโลก หรือแม้แต่เยอรมันที่ส่งผ่านซอฟต์พาวเวอร์ผ่านการทำแบรนด์สินค้าที่มีคุณภาพจนสามารถขายสินค้าไปได้ทั่วโลก และการมีซอฟพาวเวอร์ที่แข็งแกร่งแบบนี้ก็ทำให้ประเทศเหล่านี้สามารถเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่มาได้จนถึงปัจจุบัน
ประเทศไทยรั้งอันดับ 35 ซอฟต์พาวเวอร์โลก
ประเทศไทยมีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ดีของการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ไปในระดับโลก ในปี 2564 ที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับการจัดอันดับจากนิตยาสาร “CEO World magazine” ในปี 2564 ให้เป็น 1 ใน 5 ประเทศที่ทรงอิทธิพลทางด้านมรดกวัฒนธรรมของโลก ขณะที่การจัดอันดับประเทศที่มีซอฟพาวเวอร์ทรงพลังที่สุดในโลกทุกๆปี โดยในปี 2565 บริษัท Brand Finance Positioning ได้จัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 35 ของโลกจากทั้งหมด 120 ประเทศทั่วโลก ลดลงจากปีก่อน 2 อันดับ แต่ก็ยังถือว่าเป็นอันดับที่ดีเมื่อเทียบกับหลายประเทศในอาเซียน หากมีการพัฒนาที่ต่อเนื่องก็สามารถที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้
มูลค่าซอฟต์พาวเวอร์ไทยสูงถึง 1.46 ล้านล้านบาท
เป็นเรื่องที่ยากที่จะประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดจากซอฟต์พาวเวอร์ได้อย่างแน่ชัด เพราะซอฟต์พาวเวอร์เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหลายสาขา ซึ่งรวมทั้งเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาเกมส์ ไปจนถึงการท่องเที่ยว สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ได้เปิดเผยรายงานของศูนย์บริการวิชาการเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้ประเมินมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทยไว้ ณ ปี 2562 ว่ามีมูลค่าถึง 1.46 ล้านล้านบาท โดยสาขาที่มีมูลค่าสูงสุด คือการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่มีมูลค่าถึง 4.09 แสนล้านบาท รองลงมาคือเรื่องของอาหารไทยที่มีมูลค่าถึง 2.6 แสนล้านบาท ตามมาด้วยโฆษณาที่มีมูลค่าสูง 2.08 แสนล้านบาท แฟร์ชั่น 1.89 แสนล้านบาท และสาขาออกแบบ 1.25 แสนล้านบาท
ทั้งนี้หากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์พาวเวอร์โดยตรง กระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามข้อมูลการส่งออกดังกล่าวในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 (ต.ค. – มี.ค.) โดยกรมส่งเสริม การค้าระหว่างประเทศรายงานว่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมามีการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย ใน 4 กลุ่มสินค้าเป็นมูลค่าประมาณ 3,905 ล้านบาท และมีการส่งเสริมผู้ประกอบการแล้ว 1,878 ราย ผ่านการผลักดันการส่งออกในกลุ่มสินค้าเกี่ยวข้องกับซอฟต์พาวเวอร์ ได้แก่ อาหาร-ผลไม้ ดิจิทัลคอนเทนต์ สุขภาพความงาม และสินค้าสร้างสรรค์อัตลักษณ์ไทย โดยมีแนวทางการดำเนินการผ่าน 4 แนวทางหลัก ได้แก่ บ่มเพาะผู้ประกอบการยุคใหม่ให้มี Mindset ด้าน Soft Power พัฒนาสินค้าสร้างสรรค์อัตลักษณ์ไทย ขยายตลาดสินค้าอาหารไทย อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์และธุรกิจบริการ Wellness Medical Service (WMS) และประชาสัมพันธ์และสร้างความเชื่อมั่นให้กับแบรนด์ประเทศไทย
สำหรับการส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าอาหารไทย และธุรกิจบริการอาหารไทยในต่างประเทศ ผ่านการส่งเสริมตราสัญลักษณ์ Thai Select ร่วมกับร้านอาหารและผู้นำเข้าอาหารไทย ดำเนินการแล้วใน 16 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น แคนาดา จีน โปแลนด์ เยอรมนี เกาหลีใต้ สาธารณรัฐเช็ก สเปน เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส มาเลเซีย สหราชอาณาจักร และอิตาลี ซึ่งสินค้าอาหารจากประเทศไทยถือว่าเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมในการต่อยอดเป็นสินค้าซอฟต์พาวเวอร์ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้
รัฐบาลเร่งส่งเสริมแนวทางซอฟต์พาวเวอร์เพิ่มเติม
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการผ่านหน่วยงานต่างๆให้มีการต่อยอดพัฒนาซอฟพาวเวอร์ของประเทศให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ขณะที่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และ ฉบับที่ 13 ที่กำลังประกาศใช้ในปีนี้ก็มีการบรรจุเรื่องของทุนทางวัฒนธรรม และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไว้ในแผนระดับชาติ อย่างไรก็ตามยังต้องอาศัยการขับเคลื่อนติดตาม และวางแผนอย่างเป็นระบบเพื่อให้การสร้างซอฟพาวเวอร์ของไทยสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้อย่างแท้จริง
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้มีนำเสนอรายงานพิเศษเรื่องการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยเน้นที่การให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ นำวัฒนธรรมมาต่อยอด เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ โดยรัฐบาลต้องดำเนินการใน 4 เรื่องที่สำคัญ คือ
1.การตั้งเป้าหมายและแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน ปัจจุบันประเทศไทยมีนโยบายที่ใกล้เคียงกับ Soft Power คือ การส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ Creative Economy เป็นแนวคิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนพื้นฐานของ การใช้องค์ความรู้ การศึกษา การสร้างสรรค์งาน การใช้ทรัพย์สินทางปัญญา ที่เชื่อมโยงกับพื้นฐานทางวัฒนธรรม ตลอดจนการสั่งสมความรู้ของสังคมและเทคโนโลยีนวัตกรรม ในการผลิตสินค้าและบริการใหม่เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งแนวทางการขับเคลื่อนดังกล่าวเป็นการนำวัฒนธรรมมามีส่วนร่วมในสินค้าและบริการ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของSoft Power และจำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนให้เกิดการรับรู้ และยอมรับในสินค้า ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน
2.กำหนดหน่วยงาน และการขับเคลื่อน การดำเนินงานเกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์ ของประเทศให้มีความชัดเจน ปัจจุบันมีหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมทั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ซึ่งเป็นองค์การมหาชน แต่การดำเนินอย่างแยกส่วน ขณะเดียวกันยังขาดการเชื่อมโยงกับภาคเอกชนในฐานะผู้ผลิต เช่น ภาพยนตร์ที่สอดแทรกสินค้า หรือวัฒนธรรมให้เกิดการรับรู้ในต่างประเทศ
3.การส่งเสริม และสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ในทางเศรษฐกิจทั้งห่วงโซ่อุปทาน ได้แก่ การสนับสนุนการถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศ โดยการปรับปรุงมาตรการการคืนเงินจากการใช้จ่ายระหว่างถ่ายทำในประเทศไทย รวมถึงให้เพิ่มเติมกรณีที่มีการใช้นักแสดงชาวไทย อุปกรณ์ของไทย หรือแม้กระทั่งหากเนื้อหาภาพยนตร์ มีส่วนในการส่งเสริมภาพลัษณ์ของประเทศไทยก็จะได้รับเงินคืนมากขึ้น รวมทั้งเร่งส่งเสริมหรือสนับสนุนตลอดห่วงโซ่ หากมีการบูรณาการการทำงาน ร่วมกับระหว่างหน่วยงานรัฐ และภาคเอกชน
และ 4.ประเทศไทยควรมีการแต่งตั้งบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลกทำหน้าที่ในการเผยแพร่ วัฒนธรรมของประเทศ หรือให้เป็น “ทูตวัฒนธรรม” เพื่อให้ช่วยโปรโมตการจัดงานแสดง สินค้าไทยในต่างประเทศ ให้ได้รับความนิยมมากขึ้น รวมทั้งสอดแทรกวัฒนธรรมไว้ในสินค้าและบริการ ต่าง ๆ เช่น การส่งเสริมให้เอกชนนำเสนอวัฒนธรรมในรูปแบบต่าง ๆ ไว้ในละคร หรือภาพยนตร์ และการสนับสนุนให้ดารา นักแสดง หรือนักกีฬา และบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลกให้มีบทบาทเสมือนทูตวัฒนธรรม จะเป็นการส่งเสริม และเผยแพร่วัฒนธรรม และสินค้าเชิงวัฒนธรรมของประเทศให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง