KBANK คาดการณ์ ไทยเกิดผลกระทบ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทบระยะยาวไม่มากนัก เนื่องจากสหราชอาณาจักรมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับไทย
หลังจากนายกรัฐมนตรีเทเรซ่า เมย์ พ่ายแพ้การลงมติของรัฐสภาสหราชอาณาจักรต่อร่างข้อตกลงออกจากสหภาพยุโรปที่เสนอโดยรัฐบาลไปเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา รัฐสภาสหราชอาณาจักรมีกำหนดลงมติเพื่อพิจารณาร่างข้อตกลงออกจากสหภาพยุโรปอีกครั้ง ในวันที่ 12 มีนาคม 2562 ซึ่งถือว่าเป็นการลงมติชี้ชะตาครั้งที่ 2 (The Second Meaningful Vote) ว่า สหราชอาณาจักรจะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปโดยปราศจากเงื่อนไข (No deal) หรือไม่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า รัฐสภาจะลงมติไม่เห็นชอบต่อร่างข้อตกลงในวันที่ 12 มีนาคม โดยคะแนนไม่เห็นชอบจะสูงกว่าคะแนนเห็นชอบค่อนข้างสูง หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีเมย์ จะเสนอให้รัฐสภาลงมติให้ความเห็นชอบต่อการออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีเงื่อนไข (No deal) ในวันที่ 13 มีนาคม 2562
ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า รัฐสภาจะลงมติไม่เห็นด้วย หรือต้องการให้มีข้อตกลงออกจากสหภาพยุโรป หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีเมย์จะเสนอให้ลงมติเพื่อขยายเวลาเลื่อนวันเริ่มต้นออกจากสหภาพยุโรป ในวันที่ 14 มีนาคม 2562 ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า รัฐสภาจะลงมติให้ขยายเวลาเลื่อนวันเริ่มต้นออกจากสหภาพยุโรปออกไปอีก อย่างไรก็ตาม ยังมีความเป็นไปได้ที่ไม่อาจหาข้อยุติจากกลุ่มการเมืองที่มีความเห็นต่าง จนไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ทันกำหนดเวลาที่อาจได้รับการขยายเลื่อนออกไปใหม่อีกครั้ง แต่ทางสหภาพยุโรปได้แสดงท่าทีแล้วว่าจะไม่ให้โอกาสเจรจาใหม่เป็นครั้งที่สาม ซึ่งสหราชอาณาจักรอาจจำเป็นจะต้องกลับไปใช้ร่างข้อตกลงเดิม แม้จะมิใช่เงื่อนไขที่ดีที่สุดสำหรับกลุ่มการเมืองต่างๆ นับถึงขณะนี้เหลือเวลาเพียงประมาณสองสัปดาห์เท่านั้น ก่อนจะถึงกำหนดเส้นตายที่สหราชอาณาจักรจะต้องออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในวันที่ 29 มีนาคม 2562
โดยในช่วงวันที่ 12-14 มีนาคม 2562 จะเป็นช่วงเวลาสำคัญต่อการตัดสินว่า สหราชอาณาจักรจะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปโดยปราศจากเงื่อนไข (No deal) หรือไม่ โดยรัฐสภาสหราชอาณาจักรจะลงมติในวันที่ 12 มีนาคม 2562 เพื่อพิจารณาร่างข้อตกลงออกจากสหภาพยุโรปอีกครั้ง นับจากการลงมติครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการลงมติชี้ชะตาครั้งที่ 2 (The Second Meaningful Vote) ว่า รัฐสภาจะตัดสินใจอย่างไรต่อร่างข้อตกลงออกจากสหภาพยุโรป เพื่อให้การค้าและบริการ การเคลื่อนย้ายทุน และแรงงานระหว่างกัน ในระยะเปลี่ยนผ่านเป็นไปโดยราบรื่น
อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสถานการณ์ล่าสุด ซึ่งนายกรัฐมนตรีเทเรซ่า เมย์ ได้เดินทางไปเจรจากับนายโดนัลด์ ทัสก์ ประธานสหภาพยุโรป และ นายฌอง คล็อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ณ นครสตาร์สบูร์ก ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2562 นายกรัฐมนตรีเมย์ได้กล่าวว่า สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปต่างเห็นพ้องที่จะประกาศเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกันว่า สหราชอาณาจักรจะสามารถออกประกาศฝ่ายเดียว (Unilateral Declaration) โดยไม่มีมาตรการอื่นใดที่จะสกัดกั้นสหราชอาณาจักร หากเลือกที่จะไม่ปฏิบัติตาม Backstop เพื่อเป็นหลักประกันว่า Backstop จะเป็นเพียงมาตรการชั่วคราวเท่านั้น สหภาพยุโรปจะไม่ดำเนินความพยายามที่จะยับยั้งสหราชอาณาจักร หากไม่ปฏิบัติตาม Backstop อันจะผูกมัดให้สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปร่วมกันดำเนินการสร้างทางเลือก (Alternative arrangement) ถ้อยแถลงความมุ่งมั่นระหว่าง สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป เพื่อเจรจากำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันในอนาคตให้บังเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ นายยุงเกอร์ ยังยืนยันด้วยว่า สหราชอาณาจักรได้รับโอกาสครั้งที่ 2 จากผู้แทนสหภาพยุโรปแล้ว แต่จะไม่ได้รับโอกาสเพิ่มเติมอีกเป็นครั้งที่ 3 สะท้อนว่า สหภาพยุโรปต้องการกดดันให้นักการเมืองฝ่ายต่างๆในสหราชอาณาจักรร่วมกันแสวงหาข้อยุติให้ได้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่า ความไม่แน่นอนดังกล่าวจะส่งผลต่อความผันผวนในภาคการเงิน โดยเฉพาะผลกระทบระยะสั้นต่อตลาดการเงิน กดดันให้ค่าเงินปอนด์อ่อนค่า รวมถึงการลดการถือครองสินทรัพย์ทางการเงินในรูปเงินปอนด์ ตลอดจนการชะลอการตัดสินใจลงทุนที่อาจส่งผลให้การผลิตรวมของสหราชอาณาจักรอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพ ขณะที่ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบระยะสั้น จากความผันผวนของค่าเงินปอนด์ อย่างไรก็ตาม คาดว่า ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบระยะยาวไม่มากนัก เนื่องจากสหราชอาณาจักรมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับไทยในสัดส่วนที่ต่ำกว่าประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลต่อการส่งออกของไทยโดยรวมไม่มากนัก