ข่าวเด่น ข่าวดัง วันที่ 28-29 มี.ค.2565
สรุปแล้วการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งแรกในรอบ 9 ปี จะมีผู้สมัครมากกว่า 10 คนที่แสดงตัวแล้ว โดยแต่ละคนล้วนโด่งดัง มีผลงานและชื่อเสียง
เรื่องที่ 958 ก่อนการเปิดรับสมัครวันที่ 31 มี.ค.นี้ ผู้เขียนจึงอยาก จะชวนมาทบทวนกันสักหน่อย ว่ามีใครกันบ้างที่จะสมัครผู้ว่าฯท กทม.
เริ่มจาก ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคมในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ลงเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในนามอิสระ
ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ลงเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในนามพรรคประชาธิปัตย์
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ลงเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในนามพรรคก้าวไกล
คุณรสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม. ลงเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในนามอิสระ
สกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ลงเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในนามอิสระ
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม. ลงเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในนามอิสระโดยกลุ่ม “รักษ์กรุงเทพ”
ศิธา ทิวารี อดีต ส.ส.กทม. พรรคไทยรักไทย ลงเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในนามพรรคไทยสร้างไทย
นี่แค่บางส่วนนะ คัดมาเฉพาะคนดัง หากรวมโนเนมด้วย เชื่อว่าผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.รอบไม่คงเกือบๆ 20 คนเห็นจะได้
เรื่องที่ 959 ต้องถือว่าวันนี้ (28 มี.ค.) เป็นงานสุดท้ายของ “สุพันธุ์ มงคลสุธี” ในฐานะประธานสภาอุตสาหกรรมแห่ประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่กำลังจะหมดวาระลง คุณสุพันธุ์เลยไว้ลายด้วยการเดี่ยวไมโครโฟนภายใต้หัวข้อ “FUTURE INDUSTRY อนาคตภาคอุตสาหกรรมไทย” อย่างยิ่งใหญ่ สมกับตำแหน่งประธาน ส.อ.ท. 2 สมัยล่าสุดผู้ที่ขยัน มุ่งมั่นทำงานเพื่อองค์กร ภายใต้งานประชุมสามัญประจำปี 2565 และเลือกตั้งคณะกรรมการ ส.อ.ท. โดยหลังจากที่ได้คณะกรรมการเรียบร้อยแล้ว กำหนดการในลำดับต่อไปก็คือการประธาน ส.อ.ท. คนใหม่ในเดือนเมษายนตามขั้นตอน ส่วนใครได้เป็นประธานคนใหม่นั้น ตำแหน่งนี้เรียกว่านอนมาตั้งแต่คุณสุพันธุ์ยังไม่หมดวาระแล้ว อยากรู้ว่าเป็นใครหลังไมด์มาถาม แล้วจะกระซิบบอกให้ขอรับกระผม
เรื่องที่ 960 กระทรวงพลังงานเวลานี้กำลังรณรงค์เรื่องการลดใช้พลังงาน หาร 2 ตามนโยบายประหยัดพลังงานของภาครัฐที่ถูกหยิบยกให้เป็นวาระแห่งชาติ ล่าสุดก็เป็นกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ที่ได้ดำเนินการจัดกิจกรรม “พพ. นำร่อง ลดใช้พลังงานภาครัฐ 20% รวมพลังคนไทย ลดใช้พลังงาน หาร 2” เพื่อเป็นต้นแบบและเป็นผู้นำในการประหยัดพลังงานภาครัฐ แต่เท่าที่ บก.ชวนคุยดูแล้ว มองยังไงก็ไม่น่าจะใช่ต้นแบบแล้วนะครับผม เพราะก่อนหน้านี้หน่วยงานที่ขยับไวกว่าก็คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ประกาศมุ่งเป้าลดการใช้พลังงานในสำนักงานลง 20% ด้วยมาตรการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การบริหารจัดการควบคุมระบบแสงสว่างในอาคารโดยการตั้งเวลา (Timer) และติดตั้งเซนเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว (Motion Sensor) กำหนดเวลาปิดเครื่องปรับอากาศในช่วงพักกลางวันและก่อนเวลาเลิกงานอย่างน้อย 30 – 60 นาที รวมถึงปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้สูงขึ้น 26 – 27 องศาเซลเซียส พร้อมรณรงค์ให้พนักงาน กฟผ. สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดีแทนการสวมเสื้อสูท แต่เอาเถอะเนอะจะเริ่มก่อนเริ่มหลังแต่ก็ถือว่าประหยัดพลังงานเพื่อชาติเหมือนกันครับผม
โดยนพวัชร์