ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ สูญเสีย 15,300ล้านบาท
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 15,300 ล้านบาท จากภัยแล้งปี 2562
ภัยแล้งในปี 2562 ได้เริ่มส่งสัญญาณให้เห็นจากฤดูร้อนที่มาเร็วและนานกว่าทุกปี ทำให้ปริมาตรน้ำในเขื่อนหลักอยู่ในระดับต่ำ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ฤดูแล้งที่เกิดขึ้นในปี 2562 ซึ่งอาจลากยาวจนถึงเดือนพ.ค.2562 อาจกระทบในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อผลผลิตข้าวนาปรัง และอ้อยเป็นหลัก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลกระทบจากภัยแล้งในปี 2562 อาจอยู่ในวงจำกัด ด้วยปัจจัยด้านพื้นที่และจำนวนพืชที่ได้รับผลกระทบ โดยภัยแล้งที่เกิดขึ้นดังกล่าว นอกจากจะสร้างความเสียหายต่อผลผลิตแล้ว ยังอาจไม่ได้เป็นปัจจัยผลักดันราคาข้าวและอ้อยได้อย่างมีนัยสำคัญ เพียงแต่อาจช่วยประคองราคาไว้ได้บ้างในระยะสั้น ท่ามกลางภาวะที่คู่แข่งในตลาดข้าวและอ้อยรุนแรงขึ้น ท้ายที่สุด อาจส่งผลต่อรายได้เกษตรกรในปี 2562 ให้ยังคงหดตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.2-1.6 (YoY) จากผลของแรงฉุดด้านผลผลิต
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลกระทบในเบื้องต้นของสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2562 ที่ส่งผลกระทบต่อความเสียหายของข้าวนาปรังและอ้อยเป็นหลัก อาจทำให้เกิดมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 15,300 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.1 ของ GDP ทั้งนี้ หากรวมผลเสียหายของพืชเกษตรอื่น อาจทำให้มีมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่าที่ประเมินไว้
จากการที่ภัยแล้งในปีนี้ได้ส่งสัญญาณที่มาเร็วและยาวนานกว่าทุกปี ซึ่งส่อเค้าถึงระดับน้ำในเขื่อนที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะกระทบต่อพืชเกษตรสำคัญที่กำลังเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคดังกล่าวคือ ข้าวนาปรัง ซึ่งมีผลผลิตอยู่ในภาคกลางเป็นหลักถึงร้อยละ 47.8 และอ้อย ซึ่งมีผลผลิตอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นหลักถึงร้อยละ 43.5 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ข้าวนาปรัง คิดเป็นผลผลิตราวร้อยละ 23.5 ของผลผลิตข้าวทั้งประเทศ โดยในช่วงที่เกิดภัยแล้งหนักในเดือนมี.ค.-พ.ค.2562 ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปรังเพื่อออกสู่ตลาดกว่าร้อยละ 75.0 ของปริมาณผลผลิตข้าวนาปรังทั้งประเทศ อาจทำให้ผลผลิตข้าวนาปรังได้รับความเสียหาย และอาจช่วยดันราคาข้าวในช่วงนี้ให้ขยับขึ้นได้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ราคาข้าวอาจขยับขึ้นได้ในช่วงเดือนมี.ค.-พ.ค.2562 แต่โดยภาพรวมราคาข้าวทั้งประเทศในปี 2562 อาจยังให้ภาพที่หดตัวอยู่ เพราะปริมาณผลผลิตข้าวนาปรังมีเพียงราว 1 ใน 4 ของปริมาณข้าวทั้งประเทศ จึงอาจยังไม่มีน้ำหนักมากพอในการผลักดันให้ภาพรวมราคาข้าวขยายตัวได้ในแดนบวก จึงคาดว่าราคาข้าวเฉลี่ยในปี 2562 อาจอยู่ที่ 10,650-10,740 บาทต่อตัน หรือหดตัวร้อยละ 0.8-1.7 (YoY)
อ้อย โดยในช่วงที่เกิดภัยแล้งหนักในเดือนมี.ค.-พ.ค.2562 ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยเพื่อออกสู่ตลาด อาจทำให้ผลผลิตอ้อยได้รับความเสียหาย และอาจช่วยดันราคาอ้อยในช่วงนี้ให้ขยับขึ้นได้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ราคาอ้อยอาจขยับขึ้นได้ในช่วงเดือนมี.ค.-พ.ค.2562 แต่โดยภาพรวมราคาอ้อยในปี 2562 อาจยังให้ภาพที่หดตัวอยู่ ตามแนวโน้มราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกที่อยู่ในช่วงขาลง เนื่องจากผลผลิตอ้อยในตลาดโลกอยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะบราซิล จึงคาดว่าราคาอ้อยเฉลี่ยในปี 2562 อาจอยู่ที่ 750-760 บาทต่อตัน หรือหดตัวร้อยละ 1.3-2.6 (YoY)
จากผลของภัยแล้งในปี 2562 ที่มาเร็วและยาวนานขึ้น อาจไม่ได้ทำให้ราคาเพิ่มขึ้นมากนัก แต่จะมีผลต่อปริมาณผลผลิตที่ลดลง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภัยแล้งในปี 2562 น่าจะมีผลกระทบอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงมีพืชเกษตรเพียงไม่กี่รายการที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นพืชที่รวมแล้วมีน้ำหนักในตะกร้าดัชนีราคาสินค้าเกษตรไม่มากนัก โดยในแง่ของราคาอาจขยับขึ้นได้ในช่วงเดือนมี.ค.-พ.ค.2562 ทำให้โดยภาพรวมทั้งปี 2562 ราคาสินค้าเกษตรอาจขยับดีขึ้นเป็นหดตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.1-0.5 (YoY) เมื่อเทียบกับคาดการณ์เดิมที่ราคาสินค้าเกษตรจะหดตัวร้อยละ 0.2-0.6 (YoY) ขณะที่ในแง่ของผลกระทบต่อผลผลิตในช่วงภัยแล้งจะมีปริมาณลดลง ซึ่งถ้ามองต่อไปในมุมของรายได้เกษตรกร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลจากภัยแล้งในปี 2562 อาจทำให้รายได้เกษตรกรในช่วงเดือนมี.ค.-พ.ค.2562 ให้ภาพที่ไม่ดีนัก จากผลของแรงฉุดด้านผลผลิต ซึ่งจะส่งผลต่อภาพรวมรายได้เกษตรกรในปี 2562 ให้หดตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 1.2-1.6 (YoY) เมื่อเทียบกับคาดการณ์เดิมที่หดตัวร้อยละ 0.4-0.8 (YoY)
มูลค่าความเสียหายจากภัยแล้งปี 2562…ประเมินราว 15,300 ล้านบาท
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลกระทบในเบื้องต้นของสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2562 ที่ส่งผลกระทบต่อความเสียหายของข้าวนาปรังและอ้อยเป็นหลัก อาจทำให้เกิดมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 15,300 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.1 ของ GDP แต่ทั้งนี้ เป็นการประเมินในเบื้องต้น ซึ่งหากรวมผลเสียหายของพืชเกษตรอื่น อาจทำให้มีมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่าที่ประเมินไว้ นอกจากนี้ ยังต้องมีการติดตามระยะเวลาและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเป็นระยะ และอาจต้องมีการทบทวนตัวเลขนี้ตามความเหมาะสมในระยะต่อไป รวมทั้งต้องติดตามสภาพภูมิอากาศในช่วงระยะข้างหน้า เนื่องจากยังไม่สิ้นสุดฤดูแล้ง และระดับความรุนแรงของฤดูแล้งอาจไม่เท่ากันในแต่ละเดือน
ทั้งนี้ แม้ว่าตัวเลขผลกระทบดังกล่าวอาจมีผลไม่มากนักต่อภาพรวมเศรษฐกิจในระดับประเทศ รวมทั้งไม่กระทบต่อประมาณการเศรษฐกิจไทยของศูนย์วิจัยกสิกรไทยในปัจจุบัน ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5-4.2 ในปี 2562 อย่างไรก็ตาม ในระดับภูมิภาค จากเหตุการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อคนในพื้นที่ ซึ่งจะยิ่งเป็นการฉุดกำลังซื้อครัวเรือนภาคเกษตร การมีงานทำ รวมทั้งปัญหาในภาคธุรกิจ SME