เศรษฐกิจโลกชะลอฉุดส่งออกไทยติดลบ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้เศรษฐกิจโลกชะลอ ปัจจัยสงครามการค้า และผลของฐานที่สูง ฉุดส่งออกไทย ม.ค. 62 ติดลบ 5.65%
การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนของสหรัฐฯ วัฏจักรขาลงของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ราคาน้ำมันดิบโลกที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงปัจจัยฐานที่สูงในปีก่อน เป็นปัจจัยที่กดดันให้การส่งออกสินค้าของไทยในเดือนม.ค. 2562 หดตัวร้อยละ 5.65 YoY ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการส่งออกสินค้าของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่หดตัวสูง เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในเดือนม.ค. 2562 อยู่ที่ 18,993.9 ล้านดอลลาร์ฯ ติดลบร้อยละ 5.65 YoY หดตัวมากกว่าที่คาด และนับว่าเป็นการหดตัวสูงสุดในรอบ 30 เดือน (ตั้งแต่เดือนก.ค. 2559 เป็นต้นมา) โดยเป็นผลของหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจสหภาพยุโรป (28) ที่มาจากการอ่อนแรงของอุปสงค์ภายในประเทศ ซึ่งทำให้การส่งออกสินค้าไทยไปยัง สองตลาดนี้หดตัวที่ร้อยละ (-)16.7 และร้อยละ (-)3.7 ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังเป็นผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงจากปัจจัยหนุนนำต่างๆ ในปีก่อน ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันดิบโลกที่อยู่ในระดับสูงกว่าปีปัจจุบัน วัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในช่วงขาขึ้น การซื้อขายข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) รวมไปถึงการเร่งนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของจีนเพื่อรองรับการผลิตเอทานอลและแอลกอฮอล์ตามนโยบายการใช้พลังงานทดแทนในประเทศหลังสต๊อกข้าวโพดจีนทยอยลดลงเพราะการหดตัวเป็นเดือนที่ 3 ของการส่งออกสินค้าไทย สอดคล้องกับการส่งออกสินค้าของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคที่หดตัวค่อนข้างมากในเดือนม.ค. 2562 ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกสินค้าของญี่ปุ่น (หดตัวร้อยละ 8.4) สิงคโปร์ (หดตัวร้อยละ 10.1) และเกาหลีใต้ (หดตัวร้อยละ 5.8) จากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ ประกอบกับการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ผลกระทบของสงครามการค้า และแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ จะยังเป็นปัจจัยกดดันมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในช่วงไตรมาสที่ 1/2562 ให้หดตัวในช่วงกรอบประมาณการที่ร้อยละ -8.0 ถึง -4.0 (ค่ากลางที่ร้อยละ -6.0) หรือคิดเป็นมูลค่าส่งออกเฉลี่ยประมาณ 19,300 – 20,100 ล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือน อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของการส่งออกสินค้าไทยในปี 2562 ไว้ที่ร้อยละ 4.5 (กรอบประมาณการที่ร้อยละ 2.0 – 6.0) โดยมองว่า ทิศทางการส่งออกสินค้าไทยในช่วงไตรมาสแรกจะหดตัวในช่วงร้อยละ (-) 8.0 ถึง (-) 4.0 หรือคิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 19,300 – 20,100 ล้านดอลลาร์ฯ จากปัจจัยฐานในปี 2561 ที่สูงผิดปกติเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสแรกของปีอื่นๆ ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลของปัจจัยเฉพาะ เช่น การซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ การส่งออกสินค้ารายการพิเศษ (สินค้าในหมวดอากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ) ไปญี่ปุ่น เป็นต้น อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกสินค้าไทยจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วง 3 ไตรมาสหลังของปี 2562 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมีสัญญาณที่ดีขึ้นมากกว่าที่ประเมินไว้ในช่วงก่อนหน้า กล่าวคือ สหรัฐฯ คงจะยืดระยะเวลาการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 25 ในวันที่ 1 มี.ค. 2562 ออกไปอีกสักระยะจนกว่าการเจรจาทางการค้าระหว่างสองประเทศจะเสร็จสิ้น ซึ่งก็น่าจะทำให้ผลกระทบเรื่องสงครามการค้าบรรเทาลงกว่าที่ประเมินไว้ แต่ยังต้องติดตามภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจสหภาพยุโรป รวมถึงประเด็นเรื่องแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลในระยะยาวต่อการส่งออกสินค้าไทย