กรมศุลฯรับลูกแบงก์โลกชู 3 ม.ยกอันดับยาก-ง่าย
กรมศุลกากร ชู 3 มาตรการยกอันดับ “ยาก-ง่าย” ประกอบธุรกิจในไทยของธนาคารโลก ด้านการค้าระหว่างประเทศ ช่วงปี’61 – 62 พร้อมจัดเวทีชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นต่อมาตรการทางศุลกากร ร่วมกับการท่าเรือฯ และภาคเอกชน โฟกัสแบบสอบถาม Doing Business 2020 : Trading Across Border หลังจากไทยถูกสุ่มสำรวจกลุ่มตัวอย่างนับแต่ ก.พ.ที่ผ่านมา
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวถึงมาตรการทางศุลกากรเพื่อยกอันดับความยาก-ง่าย ในการประกอบธุรกิจในประเทศไทยของธนาคารโลก ด้านการค้าระหว่างประเทศ (Doing Business : Trading Across Border) ในช่วงปี 2561 – 2562 ประกอบด้วย 3 มาตรการ ดังนี้
มาตรการแรก กระบวนการทางศุลกากรล่วงหน้าก่อนสินค้ามาถึงสำหรับของนำเข้า (Pre – Arrival Processing : PAP) เป็นหนึ่งในมาตรการทางศุลกากรที่สำคัญ ขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) ภายใต้ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการค้า (Trade facilitation Agreement:TFA) สำหรับประเทศไทย นอกจากการส่งบัญชีสินค้า (Manifest) ล่วงหน้าแล้ว ผู้ประกอบการนำของเข้าสามารถยื่นใบขนสินค้าและชำระภาษีอากรล่วงหน้า พร้อมติดต่อเพื่อรับสินค้าทันทีเมื่อเรือ/อากาศยานมาถึง
โดยเมื่อเปรียบเทียบเวลาระหว่างการขนส่งแบบปกติกับกระบวนการทางศุลกากรล่วงหน้าก่อนสินค้ามาถึงสำหรับของนำเข้า (Pre – Arrival Processing) พบว่า ระยะเวลาเฉลี่ยตั้งแต่สินค้ามาถึง จนกระทั่งถึงกระบวนการรับของออกจากอารักขาศุลกากร ใช้เวลาลดลงดังนี้ การนำเข้า, การเปิดตรวจ และระยะเวลาเฉลี่ยตั้งแต่ของมาถึง–รับของออกจากอารักขา ทั้งนี้ กรมศุลกากรได้เปิดใช้ระบบให้บริการครอบคลุมทุกพื้นที่ ตั้งแต่เดือน พ.ค.61 ที่ผ่านมา และมีการส่ง Manifest ล่วงหน้าทางเรือและทางอากาศยาน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 99 (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค.61)
มาตรการที่สอง การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Payment) กรมศุลกากรได้เปิดให้บริการระบบ e-Bill Payment ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา โดยผู้ประกอบการสามารถชำระเงินเกี่ยวกับการดำเนินพิธีการทางศุลกากรผ่านช่องทาง Internet Banking, Mobile Banking, ATM, Counter Bank และตัวแทนชำระเงิน ได้ทุกพื้นที่ ทำให้ระยะเวลาติดต่อกับกรมศุลกากร ลดลง 3 ชั่วโมงต่อครั้ง และลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการได้ครั้งละ 433.74 บาท
มาตรการที่สาม การไม่เรียก/ไม่รับสำเนาใบขนสินค้าที่มีในระบบ e-Customs (No Customs Declaration Copy) โดยสำนักงานศุลกากร ด่านศุลกากร การท่าเรือแห่งประเทศไทย และท่าเรือแหลมฉบัง ไม่เรียก/ไม่รับสำเนาใบขนสินค้าในขั้นตอนการตรวจปล่อย ทำให้สามารถลดสำเนาใบขนสินค้าที่ผู้มาติดต่อ/ผู้ประกอบการต้องพิมพ์ ปีละประมาณ 60 ล้านแผ่น และลดค่าใช้จ่ายกระดาษได้ไม่น้อยกว่าปีละประมาณ 30 ล้านบาท
กรมศุลกากรมุ่งเน้นที่จะพัฒนามาตรการทางศุลกากรเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับผู้ประกอบการ เพื่อลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการนำเข้า ส่งออกสินค้า และยกระดับความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ www.customs.go.th ในหัวข้อ Doing Business : Trading Across Border.