CPFพาผู้บริหาร บมจ.บ้านปูเยี่ยมป่าต้นน้ำ ‘เขาพระยาเดินธง’
กรมป่าไม้ – CPF ต้อนรับผู้บริหาร บมจ.บ้านปู เยี่ยมชมโครงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่”เขาพระยาเดินธง” จ.ลพบุรี
นายถนอมพงษ์ สังข์ธูป หัวหน้าโครงการฟื้นฟูสภาพป่าไม้เขาพระยาเดินธงของกรมป่าไม้ นายสุธี สมุทระประภูต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หน่วยงานด้านพัฒนาความยั่งยืนองค์กร ซีพีเอฟ พร้อมด้วยคณะทำงานโครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง ให้การต้อนรับ นายสิทธิรัชต์ ชัยมงคล ผู้อำนวยการสายอาวุโส ด้านพัฒนาธุรกิจ บมจ.บ้านปู และทีมงานเยี่ยมชมโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ พื้นที่เขาพระยาเดินธง ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี เพื่อศึกษาขั้นตอนและกระบวนการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม นำไปใช้เป็นแนวทางดำเนินโครงการปลูกป่าของบริษัทเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกต่อไป
ตัวแทนกรมป่าไม้ และคณะทำงานของโครงการฯ นำทีมงานของบมจ.บ้านปู ลงพื้นที่ พร้อมทั้งให้ข้อมูลกระบวนการฟื้นฟูป่า โดยนำชมแปลงปลกูป่าแบบพิถีพิถัน ซึ่งเป็นแปลงปลูกแปลงแรกของโครงการฯ ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 รวมทั้งชมแปลงส่งเสริมการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติ การปรับปรุงแหล่งน้ำสำหรับสัตว์ป่า ซึ่งปัจจุบันผืนป่าที่นี่ ได้รับการอนุรักษ์และฟื้นฟูจนสามารถพลิกสภาพจากป่าเขาหัวโล้น กลับสู่ผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ นอกจากนี้ ทีมงานของบมจ.บ้านปู ทำกิจกรรมยิง Seed Ball ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการฟื้นฟูป่าที่เลียนแบบธรรมชาติ ช่วยเพิ่มอัตราการงอกของเมล็ดตามธรรมชาติ โดยชนิดของพันธุ์ไม้ที่ใช้ ต้องเลือกชนิดไม้เปลือกแข็ง งอกได้เร็ว และเป็นไม้โตเร็ว
“โครงการ ซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” เป็นโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำลุ่มน้ำป่าสัก ภายใต้ความร่วมมือ 3 ประสาน โดยกรมป่าไม้ ชุมชนรอบพื้นที่เขาพระยาเดินธง และซีพีเอฟ อนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าใหม่ โดยที่ผลการดำเนินงานระยะที่หนึ่ง (ปี 2559 -2563) แล้วเสร็จ 5,971 ไร่ ปัจจุบันเข้าสู่ระยะที่สอง (ปี 2564-2568) มีแผนอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าใหม่เพิ่มเติมเป็น 6,971 ไร่ โดยเมื่อปี 2564 ซีพีเอฟ นำโครงการปลูกป่าเข้าร่วมโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) โดยเลือกพื้นที่ที่ขอรับรองโซนส่งเสริมการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติ 1,500 ไร่ ซึ่ง อบก. ได้รับรองปริมาณการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก 18,807.300 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ และในระยะต่อไปจะทยอยส่งแปลงปลูกป่าในโซนอื่นๆ อาทิ แปลงปลูกป่าแบบพิถีพิถัน ปลูกป่าเชิงนิเวศ ปลูกป่าแบบเสริมป่า เข้าโครงการของอบก. เพื่อขอรับรองปริมาณการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก ร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายประเทศไทยสู่ Carbon Neutral และ NET ZERO ทั้งนี้ ในปี 2564 จนถึง ต้นปี 2565 มีองค์กรภาคเอกชนที่เข้ามาศึกษาดูงาน และเยี่ยมชมกระบวนการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ ใน โครงการ ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง อาทิ กลุ่มมิตรผล บมจ.บางจากคอร์ปอเรชั่น และ บมจ. บ้านปู เป็นต้น