สคร.ชี้ “รฟท.-ทอท.” เบิกจ่ายงบลงทุนหลุดเป้า
สคร.แจง! ผลการกำกับการเบิกจ่ายงบลงทุนปี 62 อย่างใกล้ชิด สามารถเร่งให้รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายเพื่อการลงทุนได้ตามเป้า ยกเว้น! รฟท.และทอท. ที่มีก้อนลงทุนขนาดใหญ่ จนไม่สามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมาย ชี้ส่งผลกระทบต่อผลการเบิกจ่ายฯในภาพรวม
นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวถึงผลการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 45 แห่ง ที่ สคร. กำกับดูแลโดยตรง โดยในเดือน ม.ค.62 พบว่ามีการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม 37,616 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 60 ของแผนการเบิกจ่ายสะสม ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่เป็นไปตามแผนการเบิกจ่ายสะสม อย่างไรก็ดี รัฐวิสาหกิจที่มีวงเงินลงทุนขนาดใหญ่ ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมาย จึงทำให้กระทบต่อผลการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในภาพรวม
ด้านนายชาญวิทย์ นาคบุรี รองผู้อำนวยการ สคร. ในฐานะโฆษก สคร. กล่าวเสริมว่า รัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ จำนวน 34 แห่ง เบิกจ่ายงบลงทุนสะสม 28,875 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 53 ของแผน, การเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม และรัฐวิสาหกิจปีปฏิทิน 11 แห่ง, เบิกจ่ายงบลงทุนสะสม 8,741 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 109 ของแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม โดยมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมาย เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม – มีนบุรี ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน แห่งประเทศไทย, งานก่อสร้างปรับปรุงขยายของการประปาส่วนภูมิภาค, โครงการจัดซื้อรถโดยสารใช้ก๊าซ NGV ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และโครงการโรงไฟฟ้าบางปะกง (ทดแทนเครื่องที่ 1 – 2) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีการเบิกจ่ายงบลงทุนล่าช้า ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย – จีน ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) ของ รฟท. และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของ ทอท.
ทั้งนี้ นายประภาศ ยังได้กล่าวสรุปอีกว่า สคร. ได้กำกับดูแลการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจร่วมกับกรรมการผู้แทนกระทรวงการคลังในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจและผู้บริหารสูงสุดอย่างใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อให้การลงทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นไปตามเป้าหมายที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้ นอกจากนี้ สคร. ยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงการประเมินผลงานด้านการเบิกจ่ายงบลงทุนของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจและผู้บริหารสูงสุดให้เข้มข้นมากขึ้นและสอดคล้องกับวงเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง ซึ่งจะสามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย.