คลังย้ำ!ไม่แทรกแซงนโยบายการเงิน
คลังคาดจีพีดีไทยปี’62 โต 4% ย้ำไม่แทรกแซงนโยบายการเงิน คาดแบงก์ชาติยืดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.75% ออกไปก่อน เชื่อบาทแข็งเพราะต่างชาติเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย มั่นใจครึ่งปีหลังทุกอย่างจะกลับเข้าที่
กับบทบาทที่เป็นกระทรวงเศรษฐกิจสำคัญ มีหน้าที่จัดหารายได้แผ่นดิน เพื่อนำมาจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีนั้น กระทรวงการคลังมองแนวโน้มและทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2562 นี้อย่างไร? ลองไปฟัง นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง กันดู…
“กระทรวงการคลังมองอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ไม่แตกต่างไปจากหน่วยงานอื่นๆ คือ เติบโตที่ระดับ 4% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้” นายประสงค์ย้ำ และว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง และจากปัญหาสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของโลกและของไทย โดยเฉพาะการส่งออก ซึ่งคาดว่าน่าจะลดลงเหลือราว 5% จากเดิมที่ขยายตัวประมาณ 8% ในปีก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นอีกกลไกสำคัญในการสร้างรายได้เข้าประเทศ ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เชื่อว่าหลังการเลือกตั้งและได้รัฐบาลชุดใหม่ ก็น่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นภาพรวมเศรษฐกิจของไทย ทั้งด้านการค้า การลงทุน การส่งออก การท่องเที่ยว และอื่นๆ ได้อย่างแน่นอน
สำหรับอัตราดอกเบี้ยนั้น กระทรวงการคลังจะไม่ก้าวล่วงการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กำกับดูแลนโยบายด้านการเงิน แต่ในฐานะหน่วยงานที่จัดหารายได้เพื่อจัดทำงบประมาณแผ่นดิน และมีหน้าที่กำกับดูแลนโยบายด้านการคลัง ก็หวังจะเห็นการดำเนินนโยบายด้านอัตราดอกเบี้ยของธปท.เป็นไปในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจไทยและต่อทุกภาคส่วน ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าธปท.ก็ให้ความสำคัญกับนโยบายเช่นนี้อยู่แล้ว ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น เชื่อว่าธปท. โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 1.75% เอาไว้ก่อน โดยพิจารณาดูปัจจัยรอบด้านทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ก่อนนำมาเป็นข้อมูลเพื่อการตัดสินใจในอนาคต
ด้านค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากสุดในรอบหลายปี และมีโอกาสหลุดแนวต้านที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯนั้น ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า ต้องไปดูสาเหตุแท้จริงที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า กล่าวคือ เพราะโครงสร้างและตัวเลขเศรษฐกิจเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยมีความแข็งแกร่ง เมื่อเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาคนี้ กอปรกับนักลงทุนต่างชาติเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจและค่าเงินบาทของไทยว่าจะไม่ผันผวนมากนัก จึงนำเงินมาลงทุนและพักไว้ในประเทศไทย นอกจากนี้ การฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ทั่งการท่องเที่ยวภายในประเทศและการเดินทางท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ ทั้งหมดยิ่งเป็นการเพิ่มปริมาณเงินตราต่างประเทศของไทยมากยิ่งขึ้น จึงไม่แปลกหากค่าเงินบาทในช่วงนี้จะแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในช่วงครึ่งปีหลังไปแล้ว ทุกอย่างจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และค่าเงินบาทจะกลับมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม กล่าวคือ ระดับที่ไม่ก่อปัญหาต่อภาพรวมเศรษฐกิจของไทยนั่นเอง.