แนะดูนโยบายขายฝัน ชี้มีงบสานต่อแค่แสนล้าน
คลังแนะวิธีให้คนไทยดูนโยบายขายฝันของพรรคการเมือง ระบุเหลือเงินให้ขับเคลื่อนนโยบายหาเสียงแค่ 3% ของงบประมาณ หรือราว 1 แสนล้านบาท เหตุมีกรอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ คอยควบคุม เผยอีก 10 ปีข้างหน้า ไทยจะมีงบประมาณ “สมดุล” ใช้บ้างแล้ว
สารพัดนโยบาย “ลดแลกแจกแถม” ที่พรรคการเมืองต่างสรรหามาจูงใจคนไทย หวังให้กลุ่มคนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ได้หย่อนบัตรเลือกตั้ง (คะแนนเสียง) ให้กับพรรคของพวกเขา ระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในทุกวันนี้
เอาเข้าจริง! นโยบายที่ว่านั้น…ทำได้จริงหรือเปล่า? โอกาสจะถูกบรรจุรวมเข้าไว้กับนโยบายรัฐบาลใหม่มีความเป็นเป็นได้มากน้อยแค่ไหนไม่? ที่สำคัญ…ยังมีงบประมาณแผ่นดินเหลือมากพอที่จะสนองตอบนโยบายข้างต้นหรือไม่? อย่างไร?
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะหน่วยงานจัดหารายได้ของรัฐบาล กล่าวว่า กระทรวงการคลังมีหน้าที่จัดหารายได้แผ่นดิน ปกติก็มักจะประหยัดการใช้งบประมาณ และตัดงบประมาณในส่วนที่ไม่จำเป็นออกไปก่อนอยู่แล้ว สำหรับนโยบายการเสียงของพรรคการเมืองนั้น ส่วนตัวมองว่าเป็นสีสันทางการเมือง เพราะข้อเท็จจริงแล้ว ใช่ว่าทุกพรรคการเมืองจะได้เป็นรัฐบาล และนโยบายของพรรคที่ได้ร่วมรัฐบาลก็ไม่แน่ว่าจะได้บรรจุเข้าเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่หรือไม่?
ทั้งนี้ การจัดทำงบประมาณแผ่นดินจากนี้ไป จะถูกกำหนดกรอบจาก พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. ๒๕๖๑ เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐบาลหลังจากนี้ จัดทำงบประมาณในโครงการที่อาจไม่ก่อเกิดประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มต่อภาพรวมเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม หากจะเหลืองบประมาณเพื่อให้พรรคร่วมรัฐบาลได้ดำเนินการตามที่หาเสียงเอาไว้คงไม่เกิน 3% ของงบประมาณแผ่นดินที่ตั้งไว้ หรือราว 1 แสนล้านบาทเท่านั้น
ในแง่ของการพิจารณานโยบายการเสียงนั้น ปลัดกระทรวงการคลัง แนะนำให้พิจารณาถึงนโยบายที่มีความเป็นไปได้ สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ที่สำคัญจะต้องสร้างประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจในทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับชาติ ระดับภูมิภาค ระดับชุมชน โดยเฉพาะประโยชน์ที่พี่น้องประชาชนได้สัมผัสและจับต้องได้จริง ส่วนนโยบายหาเสียงแบบฉาบฉวย อาทิ การแจกสิ่งของหรือการให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำอย่างนี้อย่างนั้น หลังจากได้เข้ามาเป็นรัฐบาลแล้ว ส่วนตัวไม่เห็นว่าจะเกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนได้อย่างไร
สำหรับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายฯในแบบ “ขาดดุล” ที่รัฐบาลก่อนหน้า รวมถึงรัฐบาล คสช. ที่จัดทำมาอย่างต่อเนื่องตลอด 5 ปีที่ผ่านมา จะเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจของไทยหรือไม่? นายประสงค์กล่าวว่า ต้องดูที่ภาพรวม เพราะข้อเท็จจริงนั้น แม้รัฐบาลจะกู้เงินมาโปะในส่วนที่ “ขาดดุลงบประมาณ” แต่หากพิจารณาที่ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดแล้ว จะเห็นว่าไทยมีการเกินดุลมาตลอดและต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีราคาลดลง
“ที่ผ่านมา รายจ่ายส่วนใหญ่ของรัฐบาลไทย มาจากการนำเข้าน้ำมัน แต่พอราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้รายจ่ายในส่วนนี้ของรัฐบาลไทยหายไปเยอะมาก จึงทำให้เรามียอดเกินดุล ทั้งดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด”
นายประสงค์กล่าวทิ้งท้ายถึงแนวทางจัดทำงบประมาณรายจ่ายฯแบบ “สมดุล ว่า รัฐบาลและกระทรวงการคลัง
รู้สึกเป็นห่วงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายฯแบบ “ขาดดุล” อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับว่าโชคดีที่ไทยเรายังเกินดุลในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังคาดว่า ภายในปี 2573 หรือการจัดทำงบประมาณรายจ่ายฯในอีก 10 ปีข้างหน้า รัฐบาลน่าจะสามารถจัดทำแบบ “สมดุล” ได้อย่างแน่นอน.