ปรับเพิ่มค่าเสียหายจากฝุ่นพิษ 1.45 หมื่นล้าน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับเพิ่มมูลค่าผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ 1.45 หมื่นล้านบาท หลังคาดปมฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ อาจถี่และยาวนานขึ้น
สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐานที่ปกคลุมพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ตั้งแต่ช่วงปลายปีก่อนต่อเนื่องถึงปัจจุบัน มีความถี่มากขึ้นและมีระยะเวลายาวนานขึ้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนบางกลุ่ม จนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตประจำวันเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพ
แม้หลายหน่วยงานภาครัฐพยายามเร่งแก้ไขปัญหาเพื่อบรรเทาผลกระทบ อาทิ การปฏิบัติการฝนหลวง การใช้โดรนและเครื่องบินขนาดเล็กฉีดพ่นและโปรยน้ำ การติดตั้งสายพ่นละอองน้ำตามสถานที่ต่างๆ รวมถึงการออกมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง 3 ระยะ คือ 1.มาตรการระยะเร่งด่วน เช่น การตรวจจับควันดำ การตรวจสอบการปล่อยมลพิษโรงงานอุตสาหกรรม และการห้ามเผาในที่โล่งแจ้ง 2.มาตรการระยะกลาง เช่น ประกาศใช้มาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm การเปลี่ยนรถโดยสารขององค์กรขนส่งมวลชนกรุงเทพให้เป็นรถที่สร้างมลพิษต่ำ และ 3.มาตรการระยะยาว เช่น การปรับปรุงมาตรฐานการระบายอากาศเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมให้เทียบเท่า EU และ USA เป็นต้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
ขณะที่ภาคเอกชนก็มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น ทำความสะอาดอาคาร ช่วยกันฉีดพ่นละอองน้ำลงจากตึกสูงและบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง เป็นต้น
หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าปัญหาข้างต้นยังคงมีต่อเนื่องและอาจมีโอกาสล่วงเลยไปถึง มี.ค.62 เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทบทวนประมาณการผลกระทบทางเศรษฐกิจในมิติของค่าเสียโอกาสจากประเด็นด้านสุขภาพและการท่องเที่ยว รวมถึงการประเมินผลกระทบครอบคลุมในประเด็นอื่นๆ เพิ่มเติมในส่วนที่เกิดจากค่าเสียโอกาสของภาคธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบจากที่ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดผลกระทบ ผ่านการจัดทำผลสำรวจพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของคนกรุงเทพฯและปริมณฑล ดังนี้
1. ผลทางเศรษฐกิจจากปัญหาฝุ่นละอองในกรุงเทพฯและปริมณฑลจากค่าเสียโอกาสในประเด็นสุขภาพ ด้านการท่องเที่ยวและอื่นๆ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 14,500 ล้านบาท : สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐานในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลที่มีระดับความเข้มข้นของค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานในระดับที่มีผลต่อสุขภาพ (ค่า AQI สูงกว่า 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) เป็นระยะเวลาหลายๆ วัน ติดต่อกัน ซึ่งผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทันทีหลังจากเกิดปัญหาดังกล่าว ได้แก่ ค่าเสียโอกาสจากประเด็นเรื่องสุขภาพ ซึ่งสถานการณ์ฝุ่นละอองไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้ป่วยโรคภูมิแพ้/ระบบทางเดินหายใจแล้ว ที่ผ่านมาประชาชนที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ก็เกิดอาการเจ็บป่วยจากปัญหาฝุ่นละอองด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ การใช้จ่ายในการซื้อหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันฝุ่นละอองก็มีจำนวนเพิ่มขึ้น ตามระยะเวลาของปัญหาที่ยาวนานขึ้น
ขณะที่ค่าเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยว ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติที่มีการปรับแผนหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่กรุงเทพฯ และปรับกิจกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่กรุงเทพฯ แล้ว จากสถานการณ์ฝุ่นละอองที่ยาวนานยังส่งผลกระทบเพิ่มเติมในกลุ่มคนกรุงเทพฯ บางกลุ่ม ที่มีการชะลอแผนการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศด้วย
นอกจากนี้ การใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการปรับพฤติกรรมของคนกรุงเทพฯ เพื่อหลีกเลี่ยงหรือป้องกันการเผชิญฝุ่นละออง เช่น ค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องฟอกอากาศ การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารนอกบ้าน
ซึ่งกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบ คือ ร้านอาหารข้างทาง สวนอาหาร หรือร้านอาหารที่อยู่ในที่โล่งแจ้ง ซึ่งเกิดจากการที่ประชาชาชนหลีกเลี่ยงการเผชิญกับปัญหาฝุ่นละออง
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการปรับประมาณการผลทางเศรษฐกิจจากปัญหาฝุ่นละอองในกรุงเทพฯและปริมณฑล จากค่าเสียโอกาสโดยเฉพาะในประเด็นสุขภาพและด้านการท่องเที่ยว รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ที่สำคัญ คิดเป็นเม็ดเงินอย่างน้อย 14,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิม โดยมีสาเหตุหลักมาจากกรอบเวลาที่นานขึ้น และการเพิ่มเติมค่าเสียโอกาสบางรายการ โดยกรอบเวลาที่ใช้ในการคำนวณคือ จากเดิมที่ประเมินไว้ราวๆ 1 เดือน ปรับเป็นตั้งแต่ช่วงปลายปี 61 – สิ้นเดือน ก.พ.62 (หรือประมาณ 65 วัน)
อย่างไรก็ดี ในระยะข้างหน้ายังมีอีกหลายประเด็นที่อาจจะส่งผลต่อค่าใช้จ่ายและการปรับพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐด้วย โดยเฉพาะมาตรการที่เน้นการดูแลการปล่อยไอเสียจากรถยนต์เครื่องยนต์
ดีเซลเป็นหนึ่งในปัญหาที่สำคัญที่สุดของการก่อให้เกิดมลพิษฝุ่นละออง PM2.5 ได้แก่ การยกระดับมาตรฐานรถยนต์ Euro 5 การใช้น้ำมันไบโอดีเซล B20 อย่างกว้างขวางขึ้น หรือแม้แต่การสนับสนุนการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า แม้แนวทางดังกล่าวเป็นทางแก้ปัญหาในระยะยาว จากการช่วยลดปริมาณการปล่อยมลพิษและฝุ่นละออง PM 2.5 ได้ แต่ผู้บริโภคอาจจะต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นในการใช้รถยนต์ในอนาคต
2. ผลสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามกว่าร้อยละ 88.0 ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน : โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของคนกรุงเทพฯและปริมณฑลในช่วงที่มีปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน พบว่า กว่าร้อยละ 88.0 ของผู้ที่ตอบแบบสำรวจ ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว ขณะที่ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 12.0 ตอบว่าไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน
แต่ถึงกระนั้น คนส่วนใหญ่ต่างมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญกับฝุ่นละอองและลดผลกระทบต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการออกไปจับจ่ายซื้อสินค้า หรือการรับประทานอาหารที่เปลี่ยนไป การใส่หน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นละออง การหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง รวมถึงการปรับแผนการท่องเที่ยวไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ได้รับผลกระทบ รและการงดกิจกรรมการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงนี้
ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐานที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและเศรษฐกิจได้สร้างความตื่นตัวให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมมือในการแก้ไขปัญหา ซึ่งช่วยทำให้สถานการณ์คลี่คลายลงบ้าง อย่างไรก็ดี
สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานในกรุงเทพฯ รวมถึงหลายจังหวัดในประเทศไทย โดยเฉพาะเมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น จนเป็นเหตุให้เกิดมลพิษทางอากาศสะสมเพิ่มสูงขึ้น
ดังนั้น การแก้ไขปัญหาระยะยาวยังจำเป็นต้องอาศัยการขับเคลื่อนนโยบายอย่างต่อเนื่องและจริงจังที่นำโดยภาครัฐ ร่วมมือกับเอกชนทุกภาคส่วน ซึ่งการเข้าใจปัจจัยสาเหตุของการเกิดฝุ่นละอองที่แท้จริง ซึ่งมีเหตุผลที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่จะช่วยให้สามารถวางแผนจัดการและเดินหน้านโยบายในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นองค์รวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และแน่นอนว่าหากสามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน นอกจากสุขภาพของประชาชนที่จะได้รับการดูแลแล้ว ก็จะเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศเช่นกัน.