ไทยปลดล็อคประมงผิดกฎหมาย 4 ปี
ถือเป็นเรื่องน่ายินดีเมื่อประเทศไทย ได้รับการปลดใบเหลือง จากสหภาพยุโรป หรืออียู เรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ ไอยูยู เมื่อวันที่ 8 ม.ค.2562 ที่ผ่านมา หลังจากสหภาพยุโรป (อียู) ได้ให้ใบเหลืองไทย ตั้งแต่เมื่อเดือนเม.ย.2558 ซึ่งนับเป็นเวลา 4 ปี ที่ไทยเพียรพยายามแก้ไขปัญหาจนสามารถทำให้อียูยอมรับได้สำเร็จ
ทั้งนี้ประเทศไทยสามารถแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วกว่า 10 ปี จากที่อียูคาดการณ์ไว้ จนทำให้อียูเตรียมยกไทยให้เป็นประเทศต้นแบบในการแก้ไขปัญหาไอยูยูในภูมิภาคอาเซียน
อย่างไรก็ตามถ้าย้อนถึงปมปัญหาสำคัญ ที่ทำให้ประเทศไทยได้รับใบเหลือง และถูกลดการส่งสินค้าจนกระทบภาคอุตสหกรรมประมงมูลค่าเกือบแสนล้าน จนไทยต้องลุกขึ้นมา “ปฎิรูปประมง” เกิดจากการที่อียูตรวจพบว่า ไทยมีการประมงที่ผิดกฎหมาย โดยใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง และทำลายทรัพยากรทางทะเลและน่ากลัว ซึ่งขัดต่อหลักการทำประมงอย่างยั่งยืนของอียู รวมทั้งพบว่าไทยมีการใช้แรงงงานเถื่อนในอุตสาหกรรมกุ้ง
นอกจากนี้ตามรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report-TIP) ของสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยยังถูกจัดอันดับไว้ที่กลุ่ม 3 หรือ เทียร์ 3 (Tier 3) หมายถึง ประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายด้านการค้า มนุษย์ของสหรัฐฯ ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์แรงงานในไทยถูกลดความเชื่อถือในสายตานานาประเทศ
ดังนั้นพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งขณะนั้นเป็นหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) เพื่อแก้ไขปัญหาไอยูยูในประเทศไทยทั้งระบบ และได้ตั้งควบคุมการแจ้งเข้า-ออกของเรือประมง (Port In–Port Out : PIPO) จำนวน 28 ศูนย์ กระจายอยู่ในพื้นที่ 22 จังหวัด
โดยศูนย์นี้มีหน้าที่รับแจ้งและตรวจสอบเรือประมงขนาดใหญ่ ที่มีขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไป ที่ออกจากท่าเทียบเรือ โดยจะมีการตรวจสอบทะเบียนเรือ ใบอนุญาตทำการประมง แรงงาน และสัญญาจ้างแรงงานประมง เพื่อรายงานผลการปฏิบัติต่อศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) การสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลเรือประมงในจังหวัด เป็นต้น ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การประมง พ.ศ.2558 ที่มีการปรับปรุงให้ครอบคลุมการแก้ไขปัญหาไอยูยูมากขึ้น
ขณะที่ในเรื่องด้านแรงงาน ซึ่งเป็น “ปัญหาใหญ่” ของไทย รัฐบาลได้กฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ อาทิ พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ.2558 พ.ร.บ.วิธีพิจารณาการค้ามนุษย์ พ.ศ.2559 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 เป็นต้น โดยมีการเพิ่มบทลงโทษผู้กระทำผิดให้มากขึ้น รวมถึงการจัดตั้งหน่วยงานแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงในทะเลโดยเฉพาะเพื่อดูแลเรือในระบบอย่างเข้มงวด
ส่วนด้านการบังคับใช้กฎหมาย กรมประมงได้จัดตั้งคณะผู้พิพากษาคดีประมงแยกเป็นการเฉพาะเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2561 เพื่อพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับการประมงทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ซึ่งปัจจุบันคดีประมงที่ผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ภาคการประมงตั้งแต่พ.ค.2558- 2561 รวมทั้งสิ้น 4,448 คดี ดำเนินการตัดสินคดีเสร็จสิ้นแล้ว 3,958 คดี
สำหรับการกระทำความผิดที่พบมากที่สุดคือ เรือประมงไม่ติดตั้งระบบการติดตามเรือประมง(วีเอ็มเอส) จำนวน 2,054 คดี ไม่นำเรือมาทำอัตลักษณ์ 719 คดี ไม่แจ้งจุดจอดรับเรือภายในเวลาที่กำหนด จำนวน 171 คดี การค้ามนุษย์ในภาคประมง 88 คดี เรือสนับสนุนการประมงไม่ติดตั้งระบบวีเอ็มเอส 38 คดี เรือประมงนอกน่านน้ำไทย 80 คดี โรงงานและสถานแปรรูปสัตว์น้ำ 77 คดี เป็นต้น
ทั้งนี้หลังจากพยายามแก้ไขปัญหาด้านแรงงงานมานาน ในปี 2561 สหรัฐฯ ได้ประกาศในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ เลื่อนอันดับให้ประเทศไทยอยู่ในเทียร์ (Tier) 2 หมายถึงประเทศที่ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของสหรัฐฯ และมีความพยายามเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานเหล่านั้น ซึ่งเป็นการปรับอันดับขึ้นจากที่เคยอยู่ในอันดับ Tier 2 Watch List (ต้องเฝ้าจับตามอง) ในปี 2560
ขณะที่การเพิ่มขีดความสามารถการตรวจสอบการทำประมงทั้งระบบ กรมประมงได้ยกระดับศูนย์ วีเอ็มเอส จากเดิมที่ทำหน้าที่ติดตามเรือประมง ขึ้นเป็น “ศูนย์ เอฟเอ็มซี” มีหน้าที่ควบคุมและเฝ้าระวังการทำการประมง ตั้งแต่การติดตามวิเคราะห์พฤติกรรมเรือ การบังคับใช้กฎหมาย และการยกระดับความสามารถการตรวจสอบย้อนกลับตั้งแต่ท่าเรือจนถึงโรงงานผลิต
โดยได้จัดประเภทของถ้าเทียบเรือประมง ทั้งหมด 1,314 ท่า แบ่งเป็น ท่าเทียบเรือที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐเจ้าท่า 22 ท่า ท่าเทียบเรือประมงที่มีสัตว์น้ำที่จับได้บางส่วนส่งออก จำนวน 284 ท่า ท่าเทียบเรือที่มีเรือประมงขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสเข้าใช้บริการและสัตว์น้ำบริโภคภายในประเทศจำนวน 227ท่าเทียบเรือที่มีเรือประมงต่ำกว่า30 ตันกรอสเข้าใช้บริการและสัตว์น้ำบริโภคภายในประเทศ 316 ท่า เป็นต้น เพื่อให้ผู้นำเข้ามั่นใจว่าสินค้าประมงทั้งหมดมาจากการทำประมงที่ถูกกฎหมาย
นอกจากนี้เพื่อให้การทำประมงของไทยดำเนินไปด้วยความยั่งยืน ประเทศไทยได้ “วางรากฐาน” ระบบป้องกันการทำประมงไอยูยู ไว้อย่างสมบูรณ์ ประกอบด้วย 6 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านกฎหมาย 2. ด้านการบริหารจัดการประมง 3. ด้านการบริหารจัดการกองเรือ 4.ด้านการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง 5.ด้านการตรวจสอบย้อนกลับ และ 6. ด้านการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งแนวทางนี้เป็นที่ยอมรับจากอียูและนานาประเทศ
อย่างไรก็ตามจากการแก้ไขปัญหาไอยูยูอย่างจริงจัง ทำให้ไทยสามารถฟื้นฟูทรัพยกรสัตว์น้ำทะเลกลับมาได้ โดยเรือประมงพาณิชย์ของไทยสามารถจับสัตว์น้ำได้เพิ่มมากขึ้นทุกปี จากเดิมในปี 2558 เรือประมงพาณิชย์ของไทยสามารถจับสัตว์น้ำได้เพียง 1.11 ล้านตันต่อปี แต่จากข้อมูลของกรมประมงในปี 2561 ระบุว่า เรือประมงพาณิชย์สามารถจับสัตว์น้ำได้ถึง 1.36 ล้านตัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังเดินมาถูกทางในเรื่องการทำประมงให้เกิดความยั่งยืนแล้ว
ทั้งนี้แม้ประเทศไทยจะหลุดพ้นจากใบเหลืองในการทำประมงผิดฎหมายแล้วก็ตาม แต่ประเทศไทยยังคงต้องรักษามาตรฐานในการทำประมง เข้มงวดการใช้กฎหมายต่อไป เพื่อให้ประมงไทยปลอดจากสัตว์น้ำที่มีการทำประมงแบบไอยูยู หรือ ไอยูยูฟรี อย่างสมบูรณ์แบบ