อ่านข้อเสนอ 3 พรรค ชง แก้ปัญหาน้ำมันแพง
เว็บไซต์ AEC10 NEWS ชวนอ่านข้อเสนอ 3 พรรคการเมือง ชง แก้ปัญหาน้ำมันแพง
เดือดร้อนแสนสาหัส กับราคาน้ำมันแพง แม้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) จะใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งเงินกู้ยืมที่รัฐบาลได้ขยายกรอบวงเงินกู้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันจาก 20,000 ล้านบาท เป็น 30,000 ล้านบาท เพื่อช่วยประชาชนในเบื้องต้น
ขณะที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ผุดสุดยอดไอเดีย สั่งให้หน่วยทหทารนำรถออกมาขนของแทนรถบรรทุก เพื่อแก้ปัญหารถบรรทุกหยุดวิ่ง ประท้วงน้ำมันแพง
โอกาสนี้ เว็บไซต์ AEC10 NEWS พาไปสำรวจข้อเสนอแนะของ 3 พรรคการเมืองในการแก้ไขปัญหาน้ำมันแพง
เริ่มจากพรรคเพื่อไทย เห็นว่าราคาน้ำมันแพง รัฐบาลควรจะต้องแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ โดยคณะทำงานเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย ได้เสนอให้รัฐบาลลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5 บาท เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจขนส่ง
นายพชร นริพทะพันธุ์ กรรมการบริหารและคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปัญหาราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะเป็นปัญหาหลักที่จะถ่วงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทย การลดราคาน้ำมันดีเซลโดยการลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลตามที่คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยเสนอ เป็นเรื่องที่ควรต้องดำเนินการและจะช้าจะเร็วถ้าราคาน้ำมันยังเป็นขาขึ้น รัฐบาลก็ต้องพิจารณาในส่วนนี้อยู่แล้ว
ด้านพรรคก้าวไกล เห็นว่า ถึงเวลาใช้เงินเข้ากองทุนน้ำมัน มาช่วยคุมราคาดีเซล โดยเงินกองทุนน้ำมันยังเหลือกว่า 30,000 ล้านบาท ต้องนำมาใช้ตรึงไม่ให้ราคาน้ำมันขึ้นเร็วเกินไป โดยเฉพาะดีเซล ช่วยลดลิตรละ 2 บาท 1 เดือน ใช้เงิน 2,000 ล้าน บรรเทาความเดือดร้อน และลดค่าครองชีพประชาชน
น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า การที่รัฐบาลเพิ่งมาประกาศว่าจะตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร เป็นการช่วยเหลือที่ช้าเกินไปและน้อยเกินไป นอกจากนี้ เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่เราควรจะมาถกเถียงกันอย่างจริงๆ จังๆ ถึงโครงสร้างราคาน้ำมัน และบทบาทในการใช้เงินของกองทุนน้ำมัน
เธอ บอกว่า ราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศนั้นไม่ได้ปรับขึ้นลงตามการผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลกทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น จากราคาขายปลีกของน้ำมันดีเซลในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลลิตรละ 31.29 บาท ณ วันที่ 1 ต.ค. 2564 เป็นราคาเนื้อน้ำมันจริงๆ ที่ผันผวนตามตลาดโลกเพียง 20 บาท เป็นภาษีสรรพสามิต 6 บาท ภาษีท้องถิ่น 0.60 บาท เป็นเงินเข้ากองทุนน้ำมัน 1 บาท เป็นเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 0.1 บาท เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม 2 บาท เป็นค่าการตลาด 1 บาท จะเห็นได้ว่าจากราคาน้ำมันดีเซล 31.29 บาทต่อลิตร มีเพียง 2 ใน 3 ของราคาเท่านั้นที่ผันผวนตามกลไกตลาดโลก อีกครึ่งหนึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล
“เวลาที่รัฐบาลเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน เช่น เก็บจากดีเซลลิตรละบาท เบนซินลิตรละ 6.5 บาท เจตนารมณ์จริงๆ ของการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันคือการรักษาเสถียรภาพของราคาพลังงาน นั่นก็คือทำยังไงก็ได้ให้ราคาน้ำมันไม่ผันผวนมากไป เวลาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งขึ้นเร็ว เงินจากกองทุนนี้ต้องนำมาช่วยไม่ให้ราคาเพิ่มเร็วเกินไป แต่เมื่อดูจากวิธีการใช้เงินของกองทุนน้ำมันที่ผ่านๆ มาจะเป็นไปอุดหนุนข้ามประเภทพลังงาน และอุ้มอุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพเป็นหลัก โดยจากโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันในวันที่ 1 ต.ค. 2564 จะเห็นได้ว่าใช้เงินจากกองทุนน้ำมันอุ้มราคา E20 อยู่ 2.28 บาทต่อลิตร อุ้ม E85 7.13 บาทต่อลิตร และอุ้มดีเซล B20 ทั้งสิ้น 4.16 บาทต่อลิตร”
ส.ส.พรรคก้าวไกล ระบุ ถ้าเราจะใช้เงินจากกองทุนน้ำมันซึ่งตอนนี้มีเงินหลังจากหักหนี้สินเหลือสุทธิกว่า 30,000 ล้านบาท มากดราคาดีเซลลงจากที่เพิ่มขึ้น 2.50 บาทภายใน 1 เดือน ให้ค่อยทยอยขึ้นเดือนละ 0.50 บาท เพื่อช่วยค่าครองชีพให้ประชาชนได้บ้างก็น่าจะทำได้ทันทีโดยใช้เงินราว 2,000 ล้านบาท
“ราคาอีกส่วนหนึ่งตามโครงสร้างที่สามารถปรับลดได้คือค่าการตลาดซึ่งเป็นกำไรของบริษัทพลังงาน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะโอนอ่อนให้กับนายทุนพลังงานมากน้อยแค่ไหน การต่อรองในเรื่องนี้จะทำให้กำไรของนายทุนพลังงานลดลง หากรัฐบาลยอมศิโรราบให้กับนายทุนพลังงาน เราก็คงคาดหวังว่าราคาในส่วนนี้จะลดลงมาไม่ได้”
ขณะที่พรรคไทยสร้างไทย เสนอให้ยกเลิกการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ดีเซล ช่วยเพิ่มอำนาจการแข่ง ลดภาระประชาชน คนตัวเล็ก
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย เห็นว่า การเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ดีเซล ซึ่งรัฐบาลคิดภาษีสูงมากถึงลิตรละเกือบ 6 บาท “เสมือนรีดเลือดกับปู”
โดยการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันสูงถึงลิตรละ 6 บาท เป็นต้นเหตุสำคัญทำให้คนไทยต้องใช้น้ำมันในราคาแพงกว่าประเทศคู่แข่ง ด้วยเหตุผลว่าน้ำมันเป็นปัจจัยการผลิตจึงไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย หรือสินค้าที่ได้รับผลประโยชน์พิเศษจากรัฐ หรือสินค้าที่บริโภคแล้วมีผลเสียต่อสุขภาพและศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือสินค้าที่ก่อให้เกิดภาระแก่รัฐบาลหรือมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
คุณหญิงสุดารัตน์ เห็นว่า เหตุผลที่สำคัญไปกว่านั้นคือประเทศไทยเป็นประเทศที่พี่งพาการส่งออก (export led growth economy) โดยมีเงินได้ที่มาจากการส่งออกสูงถึงร้อยละ 70 ของจีดีพี แต่การที่ผู้ส่งออกไทยจะขายสินค้าได้จะต้องแข่งขันกับผู้ประกอบการอื่นๆ จากทั่วโลก ดังนั้น การที่รัฐบาลจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากน้ำมันในราคาที่สูงมากจึงทำให้ต้นทุนสินค้าจากไทยสูงกว่าผู้ประกอบการจากประเทศอื่นทำให้แข่งขันยากขึ้น ซึ่งรัฐบาลจะมาแก้ไขปัญหาด้วยการให้เอารถทหาร หรือรถบขส.มาขนส่งแทน รถบรรทุกที่จะหยุดวิ่ง มันไม่ใช่การแก้ปัญหาของที่ถูกต้อง
“ซึ่งข้อเท็จจริงชัดเจนว่า รัฐบาลมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากน้ำมันถึงปีละ 220,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นรายได้สำคัญของรัฐบาล แต่ในทางกลับกันเงินภาษีจำนวนมหาศาลดังกล่าวคือต้นทุนที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องแบกรับภาระทำให้อำนาจการแข่งขันลดลง หากรัฐบาลลดภาษีสรรพสามิตลงมากเท่าไรก็จะทำให้อำนาจการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยมีมากขึ้นตามไปด้วย”
ประธานพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า ประชาชนและผู้ประกอบการคือผู้ที่หารายได้ให้ประเทศ ด้วยการเสียภาษีให้กับรัฐบาลเพื่อใช้ในการบริหารประเทศ รัฐบาลจึงควรลดภาระให้กับประชาชนและผู้ประกอบการให้มากที่สุดเพื่อให้คนไทยสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการอื่นๆ จากทั่วโลกได้ ดิฉันเชื่อว่าหากคนไทยมีอำนาจการแข่งขันมากขึ้น เราจะขายสินค้าได้มากขึ้นและทำกำไรได้มากขึ้นเช่นกัน นั่นคือรัฐบาลจะจัดเก็บภาษีได้มากขึ้นแต่ผู้เสียภาษีจะมีความสุข เพราะเสียภาษีจากกำไรที่เพิ่มขึ้นไม่ใช่ถูกบังคับให้แบกต้นทุนด้วยการจ่ายภาษีตั้งแต่ต้นทาง