“สุริยะ” สั่ง ฟื้นฟู อุตฯภาคใต้ฝั่งอันดามัน
“สุริยะ” สั่งการ “ดีพร้อม” ฟื้นฟูผู้ประกอบการพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน พร้อมชู 4 ประเด็นเร่งด่วนหนุนอุตฯ ศักยภาพ พร้อมรุกนโยบายเสริมแกร่ง “บีซีจีโมเดล”
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2564 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงา ระนอง และสตูล) ณ จังหวัดกระบี่ และได้มีการติดตามการดำเนินงานในส่วนของการส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ซึ่งได้แก่ จังหวัดภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงา ระนอง และสตูล
โดยในการดำเนินงานดังกล่าว ได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กำกับและมีบทบาทการยกระดับศักยผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ขณะเดียวกัน ยังร่วมรับฟังความต้องการของผู้ประกอบการ พร้อมนำไปปรับเป็นแผนการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งเขตเศรษฐกิจที่เข้มแข็งของประเทศ
นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้เร่งปฏิบัติงานด้านการเพิ่มประสิทธิภาพเศรษฐกิจชีวภาพ – เศรษฐกิจหมุนเวียน – เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green Economy : BCG Model รวมถึงสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ การขยายช่องทางการตลาดออนไลน์ และพัฒนานวัตกรรมการผลิตในธุรกิจที่มีศักยภาพเพื่อก้าวไปสู่การเป็นอุตสาหกรรม 4.0
ด้าน นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม เผยว่า ที่ผ่านมาดีพร้อม มีแนวทางและแผนการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน รวมถึงได้มีการติดตามการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการในหลากหลายสาขา โดยเฉพาะที่เป็นกลุ่มไมโครเอสเอ็มอี ซึ่งมีอยู่กว่า 5 แสนราย ไม่ว่าจะเป็น การประมง การปศุสัตว์ การทำเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การประกอบธุรกิจอาหารและเกษตรแปรรูป รวมถึงวิสาหกิจชุมชน ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าและมีอานิสงส์ต่อการจ้างงานของประชากรในพื้นที่ โดยหลังจากได้รับข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ดีพร้อมได้เร่งเตรียมฟื้นฟูและยกระดับผู้ประกอบการด้วยแนวทางที่สำคัญหลากหลายรูปแบบ ดังนี้
1.เพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมผ่านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (ITC 4.0) โดยเฉพาะการสนับสนุนเครื่องจักรของศูนย์ ITC เพื่อใช้ในการแปรรูปสมุนไพรประจำถิ่น เช่น พริกไทย ดีปลีเชือก ขิงแห้ง เจตมูลเพลิงแดง ไพล ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน เป็นต้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่วัตถุดิบทางการเกษตร และในปีงบประมาณ 2565 ยังได้จัดสรรงบประมาณ เพื่อปรับปรุงพื้นที่ห้องปฏิบัติการของศูนย์ ITC ภายใต้ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 ในการรองรับระบบ มาตรฐาน อย. และ GMP ซึ่งจะทำให้สถานประกอบการในพื้นที่มีการผลิตตสินค้าที่ผ่านการรับรองมาตรฐานตามความต้องการของตลาด
2.ยกระดับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน โดยจะส่งเสริมให้สถานประกอบการด้านอาหารมีการเตรียมความพร้อมในการขอรับรองมาตรฐานความปลอดภัยของอาหาร เช่น มาตรฐานฮาลาลจีเอ็มพี/เอชเอซีซีพี รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมสปา ซึ่งเป็นธุรกิจที่สร้างมูลค่าและมีศักยภาพของกลุ่มจังหวัดรับการรับรองมาตรฐานระดับสากล และพัฒนาแนวทางการให้บริการสปาตามมาตรฐานการท่องเที่ยวแนวใหม่ และภายใต้ มาตรการเว้นระยะห่าง (Social Distancing) รวมถึงพัฒนากลุ่มวิสาหกิจชุมชนให้สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และยกระดับพื้นที่ที่มีจุดเด่นทางภูมิศาสตร์ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ ภายใต้โมเดลหมู่บ้าน CIV
3.ดึงอัตลักษณ์ประจำถิ่นกระตุ้นความต้องการของตลาด เน้นการนำอัตลักษณ์ของชุมชนมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด และสามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน รวมถึงต่อยอดและเชื่อมโยงกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์ ผ่านกลไกการพัฒนาของศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในแต่ละภาค ซึ่งมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญ เครือข่ายมหาวิทยาลัย ตลอดจนผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ CIV มากขึ้น เช่น CIV บ้านดินแดง CIV บ้านร่าหมาด CIV บ้านนาตีน จังหวัดกระบี่ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังจะเน้นการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สอดรับกับทั้งการโฆษณาเพื่อขายในช่องทางออนไลน์ การค้าขายผ่านระบบขนส่งไปรษณีย์ และสรรหาช่องทางการค้าที่มีศักยภาพเพื่อจับคู่กับผู้ประกอบการ และเชื่อมโยงไปสู่ผู้บริโภค
4.พัฒนาเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าชุมชน โดยจะมีการนำงานวิจัยต้นแบบ เทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติที่ผ่านการพัฒนาจากศูนย์ ITC 4.0 ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัยในพื้นที่มาช่วยลดต้นทุนการทำธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ เช่น ต้นทุนด้านพลังงานไฟฟ้า ต้นทุนแรงงานมนุษย์ ต้นทุนด้านขนส่ง รวมถึงต้นทุนในกระบวนการผลิต ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีมากขึ้น