ไอติม-ปิยบุตร จัดเต็ม ชงแก้ไข รธน.ล้ม ส.ว.ล้างผลพวงการรัฐประหาร
ไอติม-ปิยบุตร นำเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ล้ม ส.ว. ใช้สภาเดี่ยว ล้างผลพวงการรัฐประหาร
วันที่ 16 พ.ย. ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ร่างแก้ไข รธน.) ฉบับที่ภาคประชาชน นำเสนอโดย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า Re-Solution และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โดยเป็นร่างที่ผ่านการลงชื่อของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 135,247 รายชื่อ
นายปิยบุตร กล่าวว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้มี 4 วัตถุประสงค์หลัก ได้แก่ 1.ต้องการให้ใช้ระบบสภาเดียว คือ สภาผู้แทนราษฎร 2.ปฏิรูป และตรวจสอบองค์กรอิสระ 3.การยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และ 4.ลบล้างผลพวงการรัฐประหาร ปี 2557
นายปิยบุตร กล่าวว่า คาดหวังว่า ส.ส. และ ส.ว. จะให้ความเห็นชอบ เพราะร่างแก้ไข รธน. ฉบับนี้มีประโยชน์ต่อประชาชนเป็นอย่างมาก หากมีเนื้อหาใดที่ต้องปรับแก้ สามารถ หารือกันหลังผ่านวาระแรกไปแล้วได้ สามารถแปรญัตติรายมาตรา และให้ความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบได้อีกในวาระ 3 ส่วนด้านนายพริษฐ์ กล่าวว่า ร่างแก้ไขรธน. ฉบับนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ไม่ได้มุ่งแก้ไขทุกอย่างทั้งหมด แต่ต้องการแก้ปัญหาในส่วนที่เป็นปัญหาอยู่ และเมื่อร่างแก้ไข รธน. ฉบับนี้ผ่านไปแล้วต้องมีการร่าง รธน. ฉบับใหม่ ที่มาจากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด อย่างไรก็ตามคาดหวังว่า สมาชิกรัฐสภาจะคำนึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นหลักเพื่อผลักดันร่างแก้ไข รธน.ดังกล่าว
ด้าน นายชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า การแก้ไข รธน.ที่เสนอเป็นการแก้ไขรายมาตรา ภายหลังรับฟังหลักการและเหตุผล มติของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านทุกพรรค คือ พรรคเพื่อไทย ก้าวไกล เสรีรวมไทย เพื่อชาติ ประชาชาติ พลังปวงชนไทยและพรรคไทยศิวิลัย มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าจะรับหลักการในวาระที่ 1 แห่งร่าง รธน.ฉบับนี้
นายชลน่าน ระบุถึง 4 เหตุผลสำคัญที่ต้องรับร่างรธน.ฉบับนี้ ประกอบด้วย ประการที่หนึ่งหลักการ เหตุผล และสาระสำคัญที่ตัวแทนภาคประชาชนได้นำเสนอ คือ การยกเลิกมาตรา 65 ของรธน.60 ว่าด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ยกเลิกหมวด 7 ว่าด้วยรัฐสภาแล้วบัญญัติใหม่เป็นหมวด 7 ว่าด้วยสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวข้องตั้งแต่มาตรา 79-157 ยกเลิกของเดิมจากระบบรัฐสภา มาเป็นสภาเดียวคือ สภาผู้แทนราษฎร แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 ว่าด้วยผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เพิ่มให้เป็นผู้ที่มาจาก ส.ส.เท่านั้น เพิ่มมาตรา 193/1 และ 193/2 กำหนดให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายศาล หรือ ฝ่ายตุลาการ ยกเลิกหมวด 11 ว่าด้วยศาล รธน. ยกเลิกหมวด 12 ว่าด้วยองค์กรอิสระ และบัญญัติขึ้นใหม่ เน้นการปฏิรูปที่มาขององค์กรอิสระ หน้าที่ อำนาจให้มาจากประชาชน แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการแก้ไขบทบัญญัติ รธน.เขียนล้อกับการมีสภาเดียวคือ สภาผู้แทนราษฎร ยกเลิกหมวด 16 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ เปลี่ยนชื่อหมวดเป็นหมวดที่ว่าด้วยการลบล้างผลพวงรัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค. 2557 และป้องกัน และต่อต้านรัฐประหารที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ยกเลิกมาตราที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่เขียนไว้ในบทเฉพาะการในมาตรา 269 270 271 และมาตรา 272 และยกเลิกมาตรา 279 ที่รองรับการกระทำของผู้ยึดอำนาจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือหัวหน้า คสช.
ส่วนเหตุผลประการที่สองคือ วิกฤตบทบัญญัติของ รธน. ที่ออกเมื่อปี 60 ใช้จนถึงปัจจุบันสร้างวิกฤตทางการเมืองกระทบถึงเศรษฐกิจ สังคม ปากท้องประชาชน อาทิ บทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย จึงอยากให้พรรคร่วมรัฐบาลและ ส.ว.พิจารณาไตร่ตรองโดยยึดประโยชน์ของประชาชน
ประการที่สามวิกฤตทางการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นหากรัฐสภาไม่ใช้โอกาสนี้รับร่างแก้ไขเพิ่มเติม โอกาสที่จะเกิดวิกฤตทางการเมืองมีสูงมาก จึงควรรับหลักการร่างนี้เข้าสู่การพิจารณาเพื่อหาทางออกให้ประเทศ และประการที่สี่การสร้างความเชื่อมั่นกับนานาอารยประเทศ อาทิ เรื่องของสิทธิมนุษยชน
หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ย้ำว่า ร่าง รธน.แก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ ควรหรือต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตชาติ และทำให้ รธน.เป็นประชาธิปไตย หยุดยั้งการสืบทอดอำนาจ ปกป้องสิทธิเสรีภาพประชาชน ทั้งนี้มั่นใจว่าสมาชิกรัฐสภาพรรคร่วมฝ่ายค้านทุกคนจะลงคะแนนรับร่าง รธน.แก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ พร้อมขอวิงวอนไปยังพรรคร่วมรัฐบาล และส.ว. เห็นประโยชน์ประเทศชาติ