ขนมอบกรอบหอมมะลิ “ตัง ตัง” ผลิตไม่ทันขาย
ตลาดเปิดกว้างให้กับความคิดสร้างสรรค์ เผยหนุ่มไทยคิดค้นสูตรขนมอบกรอบข้าวหอมมะลิ “สมุนไพร-ทุเรียน-มะพร้าว” ขายดีจนผลิตไม่ทัน ต้องยกเลิกออเดอร์ของ เครือ ปตท.และตลาดจีน รวมกันถึง 4 ล้านกระปุกต่อเดือน
แปลงสมองเป็นเงิน! เรื่องจริงที่เกิดกับใครก็ตามที่รู้จักคิดและลงมือทำอย่างจริงจัง
แม้จะคิดค้นสูตรขนมอบกรอบข้าวหอมมะลิที่แตกต่างจากตลาด มายาวนานกว่า 14 ปี (2547) แต่กว่าที่ นายสุทธิสินธุ์ อัครพลโชติ เจ้าของบริษัท กฤษณา เฮลท์ตี้ จำกัด จะลงมือผลิตจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ขนมอบกรอบข้าวหอมมะลิ ในบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามและดึงดูดใจแก่ผู้พบเห็น ภายใต้ชื่อแบรนด์ “ตัง ตัง” ซึ่งได้รับความสนใจจากตลาดในประเทศและต่างประเทศ ก็เพิ่งไม่นานมานี้เอง
เขาบอกว่า จังหวัดนครราชสีมาที่เขาอยู่ คือ แหล่งผลิตข้าวตังขึ้นชื่อของเมืองไทย แต่หากเขาไม่คิดนอกกรอบสร้างความแตกต่างในทุกมิติ ตั้งแต่…สูตรขนม รสชาติ รูปแบบและขนาดของสินค้า ไปจนถึงบรรจุภัณฑ์ที่ต่างไปจากท้องตลาดแล้ว โอกาสจะสร้างสินค้าใหม่ให้เป็นรู้จักและยอมรับของลูกค้า คงไม่ใช่เรื่องง่าย
แต่ด้วยความเป็นนักประดิษฐ์คิดค้น และชอบสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ประกอบกับเคยผ่านอาชีพที่หลากหลายตั้งแต่ผลิตหลอดไฟฟ้า LED/Solar อัจฉริยะ ผู้นำเข้าและส่งออกระบบโซลาร์เซลอัจฉริยะ จัดประชุมสัมมนาและให้คำปรึกษาธุรกิจครบวงจร กระทั่ง ได้รับเลือกและแต่งตั้งให้ทำหน้าที่…สมาพันธ์เอสเอ็มไทย จ.นครราชสีมา ควบคู่ไปกับการเป็นเลขาธิการสมาพันธ์เอสเอ็มอีภาคอีสาน 21 จังหวัด รวมถึงเป็น ผอ.สถาบันการศึกษาและพัฒนาเอสเอ็มอีอาเซียน ทำให้เขาคิดและทำในสิ่งที่แตกต่างไปจากความคิดเดิมๆ
นับจากรัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้ออกโครงการกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี ตามแนวประชารัฐ ที่ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มกู้ยืมเงินโดยไม่ต้องมีหลักประกันกู้สูงสุด 10 ล้านบาท และคิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อปี ผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีดีแบงก์) นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการผลิตและจำหน่ายขนมอบกรอบข้าวหอมมะลิ แบรนด์ “ตัง ตัง”
“เราเริ่มต้นจากการผลิตสูตรดังเดิม คือ ขนมขนมอบกรอบข้าวหอมมะลิ สูตรผสมสมุนไพรก่อน โดยนำชากฤษณามาต้มกับน้ำ แล้วนำมาหุงร่วมกับปลายข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาฯ-โคราช ที่ได้ชื่อว่ามีรสชาติหอมอร่อย จากนั้น ก็ใส่สมุนไพรในท้องถิ่นอื่นๆ เช่น พริกไท กระเทียม ฯลฯ โดยเป็นผมที่ออกแบบบรรจุภัณฑ์ชนิดซองขนาดต่างๆ (35 กรัม และ 100 กรัม) ก่อนจะนำไปเปิดตัวกับงานแสดงสินค้าที่ภาครัฐจัดขึ้น”
นายสุทธิสินธุ์บอกอีกว่า ช่วงแนะนำตัวและทำตลาดใหม่ๆ นับเป็นความโชคดีเพราะผู้บริโภคให้การตอบรับดีมาก ต่อมาได้พัฒนาสูตรใหม่ๆ เพิ่มเติมอีก 2 สูตร คือ สูตรผสมทุเรียน โดยคัดสายพันธุ์ทุเรียนหมอนทองและชะนีมาผสมในอัตราส่วนที่เท่ากัน ซึ่งให้ทั้งกลิ่นและรสชาติที่หอมหวานมันอร่อย จากนั้น ก็ได้เพิ่มรสชาติใหม่ล่าสุด นั่นคือ สูตรมะพร้าว
พร้อมกันนี้ เขายังได้ออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ ในลักษณะ “แคปซูล” ใส่ในกล่องเลิศหรู เพื่อเป็นของขวัญและของฝากในช่วงเทศกาลปีใหม่ 1 กล่องบรรจุ 6 แคปซูล (1 แคปซูลมี 2 กระปุก) รวม 12 กระปุก (1 กระปุก = 200 กรัม) ซึ่งในรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ใหม่นี้ จะเน้นวางตำแหน่งทางการตลาดไว้กับการทำตลาดออนไลน์เป็นหลัก ซึ่งขณะนี้ มีผลตอบรับที่ดีมากจนผลิตไม่ทันกับความต้องการของตลาด
“เราโชคดีที่ได้พบกับคุณมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีดีแบงก์ ซึ่งท่านได้ให้ความกรุณา คอยช่วยเหลือและแนะนำสิ่งดีๆ แก่พวกเรามาโดยตลอด เงินกู้จากโครงการกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี ตามแนวประชารัฐ ที่อยู่ในความดูแลของคุณมงคลนั้น แทบจะมากองรอพวกเรา แต่ติดขัดที่เครื่องจักรซึ่งเราสั่งจากต่างประเทศยังมาไม่ถึง และนั่นทำให้เราไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตรองรับคำสั่งซื้อเป็นจำนวนมากได้ จนต้องขอยกเลิกคำสั่งซื้อไปก่อน อย่างน้อยก็ในช่วงนี้”
นายสุทธิสินธุ์ เล่าให้ฟังว่า…เขาต้องขอยกเลิกคำสั่งซื้อจากเครือ ปตท. และจากประเทศจีน รวมถึงถึงเดือนละ 4 ล้านกระปุกออกไปก่อน เนื่องจากต้องรอเครื่องจักรที่จะมาเพิ่มกำลังการผลิต ทดแทนแรงงานคนที่ผลิตได้วันละไม่มากนัก ทั้งนี้ เชื่อว่าในปีหน้าหลังจากติดตั้งเครื่องจักรดังกล่าวแล้ว บริษัทฯคงจะเพิ่มกำลังการผลิตรองรับคำสั่งซื้อและความต้องการของตลาด ผ่านตลาดออนไลน์และออฟไลน์ (หน้าร้าน/ฝากขาย) ได้สักระยะหนึ่ง
ทั้งนี้ หากความต้องการของตลาดมีมากกว่ากำลังการผลิต บริษัทฯก็พร้อมจะเพิ่มเครื่องจักร ด้วยการทำเรื่องขอกู้ยืมเงินในโครงการกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี ตามแนวประชารัฐ และหากโครงการนี้จบลงแล้ว ก็พร้อมจะขอกู้ผ่านเอาเอ็มอีดีแบงก์ต่อไป
สำหรับกำลังการผลิตในปัจจุบัน บริษัทฯสามารถผลิตทั้ง 3 ขนาด ได้เพียง 30,000 ซอง/กระปุกต่อวัน หรือ 900,000 ซอง/กระปุกต่อเดือน คิดเป็น 11 ล้านซอง/กระปุกต่อปี ซึ่งนั่นก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะตลาดออนไลน์ที่มีมากกว่า 4-5 ล้านกระปุกต่อเดือน.