โรงงานน้ำตาล ร่อนหนังสือ ขอเปิดหีบอ้อยเร็วขึ้น
3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ทำหนังสือถึง สอน. ขอเปิดหีบอ้อย ฤดูการผลิตปี 2561/62 เร็วขึ้น 15 วัน หวั่นหากปิดหีบช้าจะกระทบคุณภาพผลผลิตอ้อย คาดผลผลิตอ้อยปีนี้ประมาณ 120-125 ล้านตัน
นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย (TSMC) เปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้ทำหนังสือเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เพื่อให้กำหนดวันเริ่มต้นวันหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทราย ฤดูการผลิตปี 2561/62 ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 เร็วกว่าปีก่อนประมาณ 15 วัน เนื่องจากโรงงานเห็นพ้องร่วมกันว่า ด้วยปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบในปีนี้ที่คาดการณ์จะอยู่ที่ 120-125 ล้านตันลดลงเล็กน้อยจาก 135 ล้านตันในปีก่อน โดยปริมาณผลผลิตอ้อยปีหน้าอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง จึงมีความเป็นไปได้ที่จะใช้เวลาหีบอ้อยนานกว่าปกติ อยู่ที่ประมาณ 140 วันต่อฤดูการผลิต ดังนั้นจึงต้องการเลื่อนวันเปิดหีบอ้อยให้เร็วขึ้น
ทั้งนี้ เหตุผลที่ต้องขอให้มีการเปิดหีบอ้อยเร็วขึ้นเนื่องจากในฤดูการผลิตที่ผ่านมา แม้โรงงานน้ำตาลจะเร่งดำเนินการหีบอ้อยเต็มที่ แต่บางโรงงานไม่สามารถปิดหีบได้ทันก่อนช่วงสงกรานต์ตามฤดูการหีบปกติและต้องกลับมาเปิดหีบอ้อยหลังสงกรานต์ เพื่อป้องกันปัญหาอ้อยตกค้างในไร่โดยบางพื้นที่พบปัญหาฝนตกในพื้นที่จัดเก็บอ้อย ทำให้ผลผลิตอ้อยเข้าหีบในช่วงท้ายฤดูการหีบของปีก่อนมีปัญหาอ้อยปนเปื้อนสูง ส่งผลต่อความสามารถการผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) ลดลงในช่วงปลายฤดูการหีบปีก่อน และเครื่องจักรหีบอ้อยของโรงงานก็ได้รับความเสียหายจากกระบวนการหีบอีกด้วย
นายสิริวุทธิ์ กล่าว ได้ทำหนังสือเพื่อเสนอวันเริ่มต้นเปิดหีบอ้อยให้แก่ สอน. ได้พิจารณา เพื่อประกาศอย่างเป็นทางการ ซึ่งทางฝ่ายโรงงานได้เตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ในการรองรับผลผลิตอ้อยจากชาวไร่ แม้ว่าปีนี้ปริมาณอ้อยจะลดลงกว่าปีก่อน แต่จากการคาดการณ์ก็ยังถือว่ายังมีอ้อยจำนวนมากที่จะเข้าสู่กระบวนการหีบและต้องวางแผนบริหารจัดการรองรับการผลิตที่ดี เพื่อให้ได้อ้อยที่มีคุณภาพที่ดีนำมาผลิตเป็นน้ำตาลให้ได้น้ำตาลต่อตันอ้อยที่มากที่สุด
ทั้งนี้ โรงงานน้ำตาลได้รณรงค์ให้ชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด เพื่อให้คุณภาพอ้อยเข้าหีบมีค่าความหวานที่ดีรวมถึงช่วยวางแผนระบบโลจิสติกส์ในการขนส่งผลผลิตจากไร่อ้อยสู่โรงงานให้มีประสิทธิภาพ เนื่องจากการขนส่งมีข้อจำกัดด้านความสูงของรถ ทำให้ชาวไร่บรรทุกผลผลิตอ้อยต่อเที่ยวได้ลดลง ดังนั้น โรงงานได้เตรียมการรับผลผลิตให้สอดคล้องกับกำลังการผลิตในแต่ละวัน เพื่อบริหารจัดการด้านการขนส่งผลผลิตอ้อยให้มีความคล่องตัวและเอื้อประโยชน์ต่อการช่วยลดต้นทุนการขนส่งให้แก่ชาวไร่ให้ได้มากที่สุด