“สนทช.” ยันเขื่อน”อุบลรัตน์” ยังรับน้ำได้
น้ำเขื่อนอุบลรัตน์อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ดีกว่าปีก่อน 400 ล้าน ลบ.ม.“บิ๊กป้อม” กำชับหน่วยงานป้องกันน้ำท่วมให้ชาวขอนแก่น ตลอดฤดูฝนนี้
สทนช. ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ จ.ขอนแก่น พบเขื่อนอุบลรัตน์มีน้ำเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 425 ล้าน ลบ.ม. แต่ยังคงอยู่ในระดับปกติ ขณะที่ลำน้ำชีในขอนแก่นยังรองรับน้ำได้เพิ่มอีก โดยรองนายกฯ ประวิตร สั่งเร่งดำเนินการตาม 10 มาตรการฤดูฝน ป้องกันน้ำท่วมให้ชาวขอนแก่น พร้อมติดตามผลศึกษาผังน้ำลุ่มน้ำชีแก้ท่วม-แล้ง
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและแนวทางการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2564 ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น พร้อมติดตามความก้าวหน้าโครงการจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำชี ณ โครงการประตูระบายน้ำคลองระบายน้ำ D 8 (ห้วยพระคือ) ต.พระลับ อ.เมือง และ โครงการแก้มลิงหนองทุ่มและแก้มลิงโสกหินเหล็กไฟ ต.บ้านกง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น ว่า สถานการณ์น้ำ จ.ขอนแก่น ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในแหล่งน้ำรวม 1,001 ล้าน ลบ.ม. หรือ 37% ของความจุรวมทั้งหมด คิดเป็น น้ำใช้การ 413 ล้าน ลบ.ม. หรือ 19% ของความจุรวม ซึ่งแบ่งออกเป็น อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 1 แห่ง ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ มีน้ำรวม 895 ล้าน ลบ.ม. หรือ 37% ของความจุ ซึ่งมีน้ำมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วถึง 425 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การ 314 ล้าน ลบ.ม. หรือ 17% ของความจุ ในส่วนของอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 7 แห่ง มีน้ำ 50 ล้าน ลบ.ม. หรือ 63% ของความจุ คิดเป็นน้ำใช้การ 43 ล้าน ลบ.ม. หรือ 60% ของความจุ และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 5,006 แห่ง มีน้ำใช้การ 55 ล้าน ลบ.ม. หรือ 28% ของความจุ
“สถานการณ์น้ำในภาพรวมของ จ.ขอนแก่น ในปีนี้มีปริมาณน้ำมากกว่าปี 2563 อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งถือเป็นผลดีในแง่การเก็บกักน้ำต้นทุนไว้สำหรับฤดูแล้งปีถัดไป อย่างไรก็ตาม จำเป็นจะต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำหลากและอุทกภัยอย่างใกล้ชิด โดยพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้มีข้อสั่งการให้กรมชลประทานและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2564 ให้เป็นไปตามแผนและกำหนดเวลาที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อดูแลประชาชนชาวขอนแก่นจากผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์น้ำในห้วงฤดูฝนนี้ โดยสถานการณ์ฝนภาพรวมในพื้นที่ จ.ขอนแก่น แม้จะน้อยกว่าค่าปกติ 15% แต่ยังมีปริมาณมากกว่าปี 2563 ณ ช่วงเวลาเดียวกันอยู่ 2% ขณะที่ลำน้ำชี ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในหลายจังหวัด โดยระดับน้ำในลำน้ำชีตอนบนมีปริมาณน้ำมากกว่า 70% แต่ปริมาณน้ำลำน้ำชีในพื้นที่ จ.ขอนแก่น อยู่ในระดับปกติ ยังสามารถรองรับน้ำเพิ่มเติมได้ในระยะนี้” ดร.สมเกียรติ กล่าว
ดร.สมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า อย่างไรก็ตาม สทนช.ยังได้วางแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำลุ่มน้ำชีทั้งท่วมและแล้งในพื้นที่โดยใช้ผังน้ำมาเป็นกลไกในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกันทุกหน่วยงานโดยเฉพาะกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อไม่ให้กีดขวางทางน้ำหรือเป็นอุปสรรคต่อแผนแก้ไขน้ำท่วมและภัยแล้ง ซึ่งผังน้ำในลุ่มน้ำชีมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับที่ดินของประชาชน ได้แก่ พื้นที่ทางน้ำหลากและพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยสำหรับพื้นที่ทางน้ำหลาก ได้มีการแบ่งประเภทของพื้นที่ออกเป็น 3 โซน ได้แก่ พื้นที่น้ำท่วมตามธรรมชาติที่สงวนรักษาไว้ให้น้ำไหล พื้นที่ทางน้ำหลากที่อยู่ในเขตชุมชน และพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากที่มีศักยภาพในการจัดทำเป็นพื้นที่กักน้ำหรือชะลอน้ำ โดยจะมีการนำข้อกำหนดการใช้ที่ดินในแต่ละโซน จัดทำเป็นข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการ อาทิ การปรับปรุงผังเมือง การออกแบบก่อสร้างปรับปรุงระบบป้องกันน้ำท่วมชุมชน การศึกษากำหนดขอบเขตที่เหมาะสมเพื่อจัดทำระบบรับน้ำเข้า-ออก เป็นต้น และในส่วนของพื้นที่ลุ่มต่ำในลุ่มน้ำชี ที่เป็นพื้นที่ต่ำที่มีน้ำท่วมซ้ำซาก สทนช. ได้ร่วมกับกรมชลประทานและกรมทรัพยากรน้ำ กำหนดขอบเขตเพื่อศึกษา พัฒนาเป็นพื้นที่น้ำนอง เพื่อใช้รับน้ำเข้าในช่วงน้ำหลากและกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งต่อไป
สำหรับโครงการประตูระบายน้ำคลองระบายน้ำห้วยพระคือ จ.ขอนแก่น ซึ่งได้เดินทางมาเพื่อติดตามแนวทางบริหารจัดการน้ำในวันนี้ ถือเป็นตัวอย่างของการป้องกันพื้นที่น้ำหลากที่อยู่ในเขตชุมชน ซี่งมีอาคารบ้านเรือนจำนวนและประชาชนผู้อยู่อาศัยจำนวนมาก อีกทั้งในส่วนท้ายน้ำของประตูระบายน้ำจะเป็นพื้นที่ทางน้ำหลากแบบพื้นที่น้ำท่วมตามธรรมชาติที่สงวนรักษาไว้ให้น้ำไหล เพื่อใช้ประโยชน์ในทางเกษตรเป็นหลักด้วย พร้อมกันนี้ ได้ติดตามโครงการภายใต้โครงการศึกษาแผนหลักฯ สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยโมง-ลำพะเนียงและต้นน้ำพอง ทั้งโครงการแก้มลิงหนองทุ่ม โครงการเติมน้ำใต้ดิน ต.บ้านกง อ.หนองเรือ พร้อมทั้งติดตามโครงการพัฒนาโครงการแก้มลิงแก่งน้ำต้อน ระยะที่ 1 โดยสำหรับแก้มลิงแก่งน้ำต้อน ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงการตามแนวทางพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากที่มีศักยภาพในการจัดทำเป็นพื้นที่กักน้ำหรือชะลอน้ำ ในผังน้ำ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงน้ำให้กับ จ.ขอนแก่น ได้อย่างยั่งยืน.
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
18 กันยายน 2564