ข่าวเด่น ข่าวดัง ประจำวันที่ 16-17 ก.ย.2564
“มรสุมรุม “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ล่าสุดศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษา ให้ผู้สื่อข่าว The MATTER ซึ่งยื่นฟ้อง ป.ป.ช. กรณีไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับคดีนาฬิกาหรู สมัยเป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. ซึ่ง ป.ป.ช.มีมติไม่รับคดีนี้ไว้ไต่สวนแล้ว โดยศาลปกครองกลาง ได้พิพากษาให้ ป.ป.ช.ต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการพิจารณาคดีดังกล่าวต่อสาธารณชนให้รับทราบ หลังจากที่ ป.ป.ช.อ้างว่าไม่มีอำนาจเปิดเผย”
เรื่องที่ 240 สถานการณ์ในขณะนี้ สอดรับสภาวะของ “บิ๊กป้อม” ที่กำลังตกที่นั่งลำบาก หลังจาก “บิ๊กตู่” ยอมหักไม่ยอมงอ ปลดกล่องดองใจของ พล.อ.ประวิตร คือ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” และ “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
สัปดาห์นี้ แม้อาจเป็นเรื่องบังเอิญ ที่ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาว่า ป.ป.ช. ต้องเปิดเผยผลการพิจารณาคดีนาฬิกาหรูแต่นั่นก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงให้เกิดการตั้งคำถามว่า “คนมีเล่นงาน” บิ๊กป้อมหรือเปล่าเพราะห้างเวลาที่เกิดขึ้นของ 2 กรณี ประ จวบเหมาะกันพอดี
อย่างไรก็ตาม ถ้าสมมุติ ป.ป.ช.เปิดเผยผลการพิจารณาคดีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร ขึ้นมาจริง ความเสียหายย่อมเกิดแต่ตัว พล.อ.ประวิตรอย่างแน่นอน แม้ ป.ป.ช.จะไม่ได้ชี้ว่า พล.อ.ประวิตร มีความผิด แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็จะมีอย่างสนั่นโลกออนไลน์
พิจารณาจากรูปการแล้ว เส้นทางนับจากนี้ของ “พล.อ.ประวิตร” ไม่ง่าย เพราะนับตั้งแต่น้องรักอย่าง “บิ๊กตู่” ปลด 2 รัฐมนตรีพ้น ครม. ก็จะเห็นว่าบั่นทอนจิตใจของ พล.อ.ประวิตร ลงมาก ทั้งยังมีข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จ้องจะมีบทบาทกับ ส.ส.ให้มากขึ้นกว่าเดิม นั่นก็หมายความว่า นับจากนี้ บทบาทของ พล.อ.ประวิตร จะลดลง หรือไม่ก็ยังไม่ทราบแน่ จึงต้องติดตาอย่างใกล้ชิดต่อไป
ประเด็นใหญ่ของพ่อแม่ คือเรื่องที่ 241 เมื่อรัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการ คลอด 7 มาตรการ Sandbox ในโรงเรียน แบบ “ไปเช้า เย็นกลับ” รองรับการเปิดเรียนอย่างปลอดภัย ประกอบด้วย 1. สถานศึกษาประเมินความพร้อมเปิดเรียนผ่าน Thai Stop Service Plus และรายงานการติดตามประเมินผล 2. ทำกิจกรรมร่วมกันในรูปแบบ Small Bubble (เน้นกลุ่มเล็ก) 3. จัดระบบให้บริการอาหารตามหลักสุขาภิบาลและหลักโภชนาการ 4.จัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน 5. จัดให้มี School Isolation แผนเผชิญเหตุ และซักซ้อมอย่างเคร่งครัดหากพบผู้ติดเชื้อ 6. ควบคุมดูแลการเดินทางไปกลับของนักเรียน เช่น รถส่วนบุคคล รถโดยสารสาธารณะ และ7. จัดให้มี School Pass สำหรับนักเรียน ครูและบุคลากรในสถานศึกษา ประกอบด้วย ผลการตรวจ ATK ภายใน 7 วัน หรือประวัติการรับวัคซีน โดยจะต้องประเมินความเสี่ยงตามสถานการณ์การระบาดในแต่ละพื้นที่ที่โรงเรียนตั้งอยู่ และต้องได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการโรค ติดต่อของจังหวัด หรือกรุงเทพมหานครก่อนที่จะเปิดเรียน
ตามไปส่อง เพจไทยคู่ฟ้า ที่ได้ “ธนกร วังบุญคงชนะ” โฆษกประจำสำนักนายกฯ กำกับดูแล พบว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่ ต่างไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ บ้างก็อยากให้สถานการณ์มันคลี่คลายมากกว่านี้เสียก่อน บ้างอยากเห็นหน่วยงานรัฐได้ยืนยัน รับรอง และชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพการรับมือโควิดฯให้มากกว่านี้ ด้วยเป็นห่วงลูกหลาย นักเรียนที่ยังช่วยตัวเองไม่ได้มากนัก โดยเฉพาะเด็กเล็ก อนุบาลและวัยประถมศึกษาที่ยังไม่มีวัคซีนรองรับ บางคนบอกว่า หลักการดี แต่ในทางปฏิบัติยาก เพราะเด็กมีความเผลอเรออยู่แล้ว หนักใจแทนผู้ปกครองและคุณครู โดยส่วนใหญ่กลัวเด็กๆ จะได้รับเชื้อโควิดฯ ทั้งระหว่างเดินทางไปกลับ “บ้าน-โรงเรียน-บ้าน” และช่วงที่อยู่ในโรงเรียน เนื่องจากเด็กๆ ขาดความระมัดระวังตัวเองไม่เหมือนผู้ใหญ่ ที่รับข่าวสารและเห็นภาพข่าวคนติดเชื้อและตายมาเยอะมาก จนไม่ยอมลดการ์ดลง แต่กับเด็กเหล่านี้ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า อะไรคือการ์ด เรื่องนี้ ทางที่ดี น่าที่รัฐบาลและ กระทรวงศึกษาธิการ ควรจะ “ลงจากภู” มาสำรวจดูว่า คำทัดทานและข้อห่วงใยที่บรรดาผู้ปกครองมีต่อแนวคิดของการเปิดเรียนฯรอบนี้ เป็นอย่างไร? เพื่อจะได้ไม่ต้องออกมาแสดงความห่วงใยและขอโทษกันในภายหลัง
เรื่องที่ 242 ข่าวดีในข่าวร้าย เมื่อธนาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ภายใต้การนำของ “ฉัตรชัย ศิริไล” กรรมการผู้จัดการคนเก่ง ผุด 7 มาตรการออกมาเพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางและตะวันออก ที่โดนน้ำเหนือไหลทะลักท่วมเข้าบ้านเรือน จนเสียหายมากมาย กับ 7 มาตรการให้มี ครอบคลุมความช่วยเหลือลูกค้าทั้งเก่าใหม่ ภายใต้ชื่อโครงการ “เงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติปี 2564” วงเงิน 100 ล้านบาท โดยแต่ละมาตรการมีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะมาก ซึ่งล้วนแต่เป็นประโยชน์กับลูกค้าของ ธอส. สนใจลองเช็ครายละเอียดข่าวจาก AEC10NEWS อีกที หรือจะสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000 หรือ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศ และติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ Application : GHB ALL และ www.ghbank.co.th.
เรื่องที่ 243 เร็วแท้ คณะกรรมการสรรหา กกพ. ที่มี “ณอคุณ สิทธิพงศ์” เป็นประธาน ได้เคาะรายชื่อ 3 กรรมการ กกพ. ที่จะมาทำหน้าที่แทนกรรมการคนเก่าที่ถูกจับสลากออก 3 คน คือ อรรชกา สีบุญเรือง ,ชาญวิทย์ อมตะมาทุชาติ และพีระพงษ์ อัจฉริยชีวิน เมื่อดำรงตำแหน่งครบกำหนด 3 ปี ในวันที่ 30 ก.ย.2564 ที่ผ่านมา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้แก่ 1.นรินทร์ โอภามุรธาวงศ์ ซึ่งเป็นกรรมการอิสระ ธอส. 2.พิทักษ์ จรรยพงษ์ อดีตผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่วางแผนธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ปตท. ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษากัลฟ์ และ 3.นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์ อดีต สปช.
ที่บอกว่าเร็ว คือ วันที่ 20 ส.ค.2564 ประกาศเปิดรับสมัคร ตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค.-3 ก.ย.ที่ผ่านมา และในวันที่ 7 ก.ย. 2564 ประกาศรายชื่อผู้สมัคร 31 คน จากนั้น คณะกรรมการสรรหาได้คัดเลือกผู้สมัครเหลือ 9 คน เพื่อให้แสดงวิสัยทัศน์ และตอบคำถามด้วยวาจา ในวันที่ 13-14 ก.ย.และวันที่ 15 ก.ย.คณะกรรมการสรรหากรรมการกำกับกิจการพลังงาน ก็ได้ออกประกาศรายชื่อผู้ผ่านคัดเลือก 3 คน ใช้เวลาไม่ถึงเดือนก็ได้ 3 กรรมการ กกพ.คนใหม่แล้ว…รวดเร็วจริงๆ … เล่นเอาคนดังในวงการพลังงาน อกหักตามๆกันแบบไม่ทันตั้งตัว
เรื่องที่ 244 รวมกันเราอยู “กฟผ. – ราช กรุ๊ป – เอ็กโก กรุ๊ป” บริษัทพี่ บริษัทน้อง ที่คลอดโดย กฟผ.ได้ร่วมพลัง จัดตั้งบริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2564 หวังลุย ธุรกิจด้านไฟฟ้าและพลังงาน ซึ่งเป็นอีกหนึ่ง บริษัท ที่นอกจากจะดึงเอา สตาร์ทอัพ เข้ามาร่วมธุรกิจแล้ว ยังจะเป็นการรวมตัวของผู้บริหารระดับสูง ของ กฟผ.ที่น่าจะถูกโอนถ่าย มาช่วยบริหาร เพราะตัว กฟผ. เองไม่สามารถแปลงกายเป็น บริษัท มหาชน ได้เนื่องจากติดเรื่อง กฎหมาย ข้อบังคับการจัดตั้ง บริษัท ลูก หรือ บริษัทเครือข่าย จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดในเวลานี้
โดย นพวัชร์