บสก. : บนเส้นทางสู่ความยิ่งใหญ่ 20 ปี
องค์กรหลักสำคัญ…ซึ่งทำหน้าที่ “แก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของประเทศ” อย่าง บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (บสก. / BAM) ที่ยืนยงและคงอยู่คู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมไทย ยาวนานต่อเนื่องถึง 20 ปีในวันนี้ ล้วนเคยผ่านเรื่องราวความบอบช้ำและเจ็บปวดมามากมาย
ย้อนกลับเมื่อ 20 ปีก่อน บสก.ได้ถูกจัดตั้งขึ้นมา ภายใต้วัตถุประสงค์เพียงเพื่อ “เก็บกวาดบ้านเก่า” นั่นคือ ชำระล้างคราบไครและสิ่งสกปรก ที่ผู้บริหาร ธนาคารกรุงเทพพาณิชย์ (BBC) ในยุคก่อน ที่รวมหัวกับ “บิ๊ก” นักธุรกิจและนักการเมือง กระทำย่ำยีกับธนาคารพาณิชย์แห่งนี้ จนต้องล่มสลายในที่สุด
ภายใต้แผนฟื้นฟูระบบสถาบันการเงินของกระทรวงการคลัง ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2541 นั่นคือ…จุดเริ่มต้นของ บสก. และเป็นการเริ่มต้นที่มี “วันหมดอายุ” กล่าวคือ พวกเขาจะต้องเร่งรัดบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของ BBC ภายในกรอบเวลา 5 ปี นับแต่วันแรกที่เริ่มดำเนินงาน
ระยะเวลา 5 ปีที่ผู้บริหาร BBC ชุด “ขัดตาทัพ” ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น บสก. ในยามนั้น มีชื่อว่า…นายอดิศักดิ์ ตัวติวรวงศ์ หรือ “รมว.คลัง” ในวันนี้ ซึ่งตอนนั้นเขารับปากกับกระทรวงการคลังว่า…จะใช้เวลา 5 ปีสางปมปัญหาภายใน BBC จากนั้น…จะปิดตัวลง
พนักงานส่วนใหญ่ของ บสก. คือ อดีตผู้บริหารและพนักงานของ BBC ทั้งจากสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯ และอีก 24 สาขาเดิมของ BBC ที่กระจายตัวอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ รวมกันเกือบ 1,000 คน
ทุกต่างทำงานอย่างกับคน “ซังกะตาย” กล่าวคือ…ทำให้มันจบไปวันๆ เนื่องจากทุกๆ เดือน จะมีการจับสลาก “ให้ออก” พนักงานผู้โชคร้าย ทีละหลายสิบคน และทุกคนต่างก็ไม่รู้ชะตากรรมของตัวเองเลยว่า…จะเป็น “คนโชคร้าย-ถูกให้ออก” วันไหน
พูดได้ว่า…ความคืบหน้าของ “เนื้องาน” กับภารกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของ BBC ต่ำกว่าเป้าอย่างมาก…เพราะงานไม่คืบหน้า แม้จะมีสาขามากถึง 24 แห่งทั่วประเทศ
เหตุผลสำคัญมาจากเรื่องของสภาพจิตใจของพนักงาน นั่นเอง
กระทั่ง วันที่ บสก. ได้ผู้บริหารคนใหม่ (กรรมการผู้จัดการใหญ่) ที่ชื่อ นายบรรยง วิเศษมงคลชัย มาแล้วนั่นแหละ ความเปลี่ยนแปลงเชิงสร้างสรรค์ ในลักษณะ “แสงสว่างปลายอุโมงค์” ก็บังเกิดขึ้นตามมา
วิกฤติครั้งนั้น ถูกรังสรรค์จนกลายเป็น “โอกาส” ใหม่
แม้ประเทศไทยในวันนั้น จะมี “เอเอ็มซีแห่งชาติ” ซึ่งก็คือ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) แต่ด้วยข้อจำกัดหลายๆ ประการ โดยเฉพาะ…การไร้สำนักงานสาขาในต่างจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นพื้นที่ที่มี “หนี้ที่มีปัญหา” ซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับการดูแลและเอาใจใส่เป็นอย่างดี
ทว่าสิ่งนี้…ไม่เกิดขึ้นกับทีมงานของ บสท. ที่ยึดโยงการแก้ไขปัญหา “หนี้เสีย” เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล หรือตามหัวเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น การลงพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร…จึงเป็นเรื่องยากสำหรับคนของ บสท.
กลายเป็นว่า…ภารกิจ “เอเอ็มซีแห่งชาติ” ดูเหมือนจะถูกถ่ายโอนมายัง บสก. ที่ได้นายบรรยง เข้ามา “คัดท้าย” ทำหน้าที่นำพาองค์กรแห่งนี้ เข้าไปบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ไม่เฉพาะของ BBC แต่ยังรวมถึง “หนี้เสีย” ของสถาบันการเงินอื่นๆ อีกด้วย
นั่นเพราะความมุ่งมั่นของ นายบรรยง ทีมงานผู้บริหาร และพนักงานในยุคนั้น ประกอบกับผลงานที่ประจักษ์ชัดของ บสก. จึงทำให้กองทุนฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง เห็นตรงกันว่า…ควรจะเปิดโอกาสให้ บสก. ทำหน้าที่บริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของประเทศต่อไปเรื่อยๆ
เมื่อเห็นภาพความชัดเจนในเชิงนโยบาย! การบริหารและดำเนินงานในขั้นต่อไปของ บสก. จึงเป็นไปอย่างมีเป้าหมาย ที่สำคัญ…ผู้บริหารและพนักงานที่จะต้อง “จับสลาก-ให้ออก” เมื่อไม่ต้องออก…ทุกคนจึงมุ่งมั่นและทุ่มเท จนทำให้ บสก. ผ่านพ้นปีที่ 10 เมื่อ 10 ปีก่อน และเพิ่งจะผ่านพ้นปีที่ 20 ไปเมื่อเกือบ 3 เดือนก่อนนั่นเอง
ก่อนหน้านี้ นางทองอุไร ลิ้มปิติ ประธานกรรมการ บสก. เคยบอกว่า…การดำเนินงานของ BAM ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ถือว่า…บรรลุตามวัตถุประสงค์ในการเป็นองค์กรซึ่งทำหน้าที่แก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของประเทศ โดยสามารถรับชำระจากการปรับโครงสร้างหนี้และจำหน่ายทรัพย์จำนวน 215,665 ล้านบาท และสามารถปรับโครงสร้างหนี้กับลูกค้าจนได้ ข้อยุติถึงจำนวน 111,583 ราย คิดเป็นภาระหนี้เงินต้น 217,470 ล้านบาท ขณะที่มีกำไรสุทธิสะสม จำนวน 53,020.31 ล้านบาท นอกจากนี้ BAM ยังสามารถคืนเงินให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 69,182 ล้านบาท
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในภาพรวมอยู่ในระดับที่น่าพอใจ มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีการเพิ่มขนาดสินทรัพย์ ด้วยการรับซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) จากสถาบันการเงินมาบริหารจัดการ จำนวน 185,392 ราย คิดเป็นภาระหนี้เงินต้นรวม 652,522.10 ล้านบาท และรับซื้อทรัพย์สินรอการขาย (NPA) จำนวน 29,699 รายการ คิดเป็นมูลค่า 56,547.01 ล้านบาท
และในวันที่ บสก. มีอายุครบ 20 ปี มี นายบรรยง กลับเข้ามารับหน้าที่ “ประธานกรรมการบริหารฯ” และมีนายอดิศักดิ์ อดีตผู้บริหารของ บสก. มาเป็น “รมว.คลัง” พวกเขาจึงจัดงานเฉลิมฉลองขึ้นมาอย่างยิ่งใหญ่ โดยงานจะจัดให้มีขึ้นในช่วงเย็นของวันอังคารที่ 20 พฤศจิกายนนี้ ณ โรงแรม เดอะ แอทธินี
เช่นกัน นายสมพร มูลศรีแก้ว กรรมการผู้จัดการใหญ่ เคยกล่าวระหว่างนั่งแถลงข่าว เมื่อกว่า 1 เดือนที่ผ่านมา ว่า…ภายในงานฯจะจัดให้มีการนำเสนอประวัติและความเป็นมา 20 ปีของ BAM พร้อมกิจกรรมบริจาคให้กับโรงพยาบาล และมูลนิธิต่างๆ รวมถึงการแสดงมินิคอนเสิร์ตจากศิลปินที่มีชื่อเสียง และการจัด Talk Show โดยนักพูดชื่อดัง รวมถึงการแสดงอันตระการตาอื่นๆ บนเวที
ขณะเดียวกัน บสก.ได้เตรียมจัดกิจกรรมจับสลากมอบโชคให้กับลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้ (NPL) และลูกค้าซื้อทรัพย์ (NPA) จะได้รับสิทธิ์ลุ้นชิงโชครางวัลซื้อบ้าน ที่ดิน คอนโดมิเนียม จาก BAM อย่างละ 1 ยูนิต ในราคา 1 บาท จำนวน l สิทธิ์ / ราย รวม 6 รางวัล โดยวิธีการ/กติกา ลูกค้า NPL ต้องเป็นบุคคลธรรมดา ที่มีสภาพบุคคล และ/หรือมีความสามารถในการทำนิติกรรม ไม่เป็นผู้ถูกพิทักษ์ทรัพย์ หรือล้มละลาย เป็นผู้ที่ลงนามในสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 – 31 ตุลาคม 2561 เป็นผู้ที่มีสถานะ การผ่อนชำระดี ไม่ผิดเงื่อนไขที่ BAM กำหนด
ในส่วนของลูกค้า NPA เป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์จากการซื้ออสังหาริมทรัพย์ BAM ทุกประเภท ทั่วประเทศ ทุกรายที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในปี 2560 และเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์จากการซื้ออสังหาริมทรัพย์ BAM ทุกประเภท ทั่วประเทศ ทุกรายที่ได้เซ็นสัญญาจะซื้อจะขายพร้อมวางเงินมัดจำแล้วภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 และจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ภายในวันที่ 28 ธันวาคม 2561
สำหรับบุคคลทั่วไป ที่เป็นสมาชิก Social Media ของ BAM ครบทั้ง 4 ช่องทาง ได้แก่ BAM Mobile Application , @bamline, BAM STATION ทาง YOUTUBE และ FB of BAM ที่ได้ลงทะเบียนรับสิทธิ์ ระหว่างวันที่ 1 กันยายน – 15 พฤศจิกายน 2561 จะได้รับสิทธิ์ลุ้นชิงโชครางวัลซื้อคอนโดมีเนียม จาก BAM จำนวน 1 ยูนิต ในราคา 1 บาท จำนวน 1 สิทธิ์ / ราย รวม 1 รางวัล และผู้เข้าร่วมงาน ที่ได้ลงทะเบียนรับสิทธิ์หน้างาน ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 จะได้รับสิทธิ์ลุ้นชิงโชครับรางวัลโทรศัพท์มือถือ ยี่ห้อ iPhone X 64 GB จาก BAM จำนวน 1 สิทธิ์/ 1 ราย รวม 10 รางวัล.