บริการทางการแพทย์ที่บ้าน…ทางเลือกช่วงโควิด-19
บริการทางการแพทย์ที่บ้าน…ทางเลือกช่วงโควิด-19 คาดมูลค่าตลาด ปี ‘64 ไม่ต่ำกว่า 2,200 ล้านบาท
ตลาดบริการทางการแพทย์ที่บ้าน (Home Healthcare) ทั่วโลกในช่วงปี 2565 – 2569 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5.9% (CAGR)[1] เป็นผลหลักจากการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ๆ ทำให้สามารถขยายประเภทการให้บริการนอกสถานพยาบาลได้มากขึ้น รวมถึงการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทั่วโลก ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ทำให้มีความต้องการบริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีแนวโน้มมีความเต็มใจที่จะจ่ายสำหรับบริการด้านสุขภาพสูงขึ้น เพื่อรับบริการที่สะดวกสบาย ปลอดภัย และตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคลได้
ถึงแม้ส่วนแบ่งมูลค่าตลาดบริการทางการแพทย์ที่บ้านทั่วโลกส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคอเมริกาเหนือและยุโรปที่มีการพัฒนาระบบสาธารณสุขและบริการทางการแพทย์อย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ดี แนวโน้มการเติบโตของบริการทางการแพทย์ที่บ้านในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีอัตราการขยายตัวดีกว่าในช่วงปี 2565 – 2569 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเข้าสังคมผู้สูงอายุของหลายประเทศในเอเชีย และความต้องการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ทั่วถึงมากขึ้น ตามการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อสูงขึ้นและการพัฒนาระบบสาธารณสุขของแต่ละประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ มีการขยายบริการทางการแพทย์ที่บ้านที่น่าสนใจ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายหลักที่กลุ่มผู้สูงอายุและวัยทำงานที่มีกำลังซื้อ ในขณะที่บริการทางการแพทย์ที่บ้านของไทยส่วนใหญ่ยังเป็นบริการสำหรับผู้ป่วยเป็นหลักและยังมีค่าใช้จ่ายต่อครั้งค่อนข้างสูง ทำให้อาจยังไม่ค่อยได้รับความนิยมในวงกว้าง อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการในไทยก็เริ่มมีการให้บริการทางการแพทย์ที่บ้านเพิ่มมากขึ้นตามความต้องการใช้บริการของผู้บริโภค
- ที่ผ่านมาความต้องการใช้บริการทางการแพทย์ที่บ้านในไทย ส่วนใหญ่จำกัดอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยอาการหนักหรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งมีความจำเป็นในการใช้บริการและยังมีผู้ให้บริการไม่มากนัก อย่างไรก็ดี บริการทางการแพทย์ที่บ้านได้ขยายขอบเขตบริการจากการให้บริการผู้ป่วยเป็นหลักไปสู่การให้บริการการแพทย์เชิงป้องกัน ดูแลสุขภาพ และบริการสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการความช่วยเหลือที่มีบริการหลากหลายขึ้น รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ก็ทำให้ผู้บริโภคส่วนหนึ่งเลือกใช้บริการทางการแพทย์ที่บ้านโดยมีมาตรการด้านสาธารณสุขและความปลอดภัยที่เหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการเดินทางไปโรงพยาบาล หรือมีความจำเป็นทางด้านสุขภาพ
จากความต้องการเข้าถึงบริการทางการแพทย์อย่างทั่วถึงและมีความสะดวกสบาย ทำให้ธุรกิจด้านสุขภาพ ทั้งผู้เล่นรายเดิมในตลาด อาทิ โรงพยาบาล คลินิก และศูนย์ดูแลสุขภาพ ก็เร่งทำตลาดบริการทางการแพทย์นอกสถานที่ รวมทั้งมีผู้เล่นรายใหม่ที่เน้นให้บริการสุขภาพเฉพาะ ทั้ง SMEs และ Health Startups ก็เข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ประชาชนมีตัวเลือกในการใช้บริการและช่วยส่งเสริมการแข่งขันด้านคุณภาพการให้บริการและค่าบริการที่เข้าถึงได้มากขึ้น
โดยประเภทบริการทางการแพทย์ที่บ้านก็มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในวงกว้าง จากบริการเฉพาะผู้ป่วยไปสู่บริการเชิงป้องกัน ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ดังนี้ 1) บริการพยาบาลเฉพาะทาง เช่น ดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัด วางแผนโภชนาการ ติดตามการให้ยาตามแพทย์สั่ง เป็นต้น 2) บริการหัตถการและบำบัดรักษา เช่น บริการฉีดวัคซีน เจาะเลือด กายภาพบำบัด และ 3) บริการผู้ดูแลช่วยเหลือที่ได้รับการฝึกอบรมและรับรอง เช่น ผู้ดูแลช่วยเหลือในการทำกิจวัตรประจำวัน บริการรถรับ-ส่งไปโรงพยาบาล
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในปี 2564 มูลค่าการใช้จ่ายสำหรับบริการทางการแพทย์ที่บ้านของไทย จะอยู่ที่ 2,200 – 2,300 ล้านบาท[2] เติบโตได้เล็กน้อยที่ 2.4% (YoY) แม้ว่าตลาดจะเติบโตได้จากความต้องการรับบริการทางการแพทย์ที่บ้านเพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19 ทั้งกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่มีความจำเป็นและกลุ่มที่ต้องการบริการทางเลือก เนื่องจากไม่สามารถไปรับบริการที่สถานพยาบาลได้ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดด้านการจัดสรรบุคลากรและมาตรการป้องกันโควิด-19 ทำให้ภาพรวมตลาดยังขยายตัวได้ไม่มากนัก โดยกลุ่มลูกค้าหลักจะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและมีสถานที่ที่เหมาะสมในการรับบริการที่บ้าน และส่วนใหญ่จะยังเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีความจำเป็นทางการแพทย์/ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ กลุ่มบริการสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ รวมถึงบริการเชิงป้องกันสำหรับวัยทำงานที่ต้องการความสะดวกในการใช้บริการทางการแพทย์ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มธุรกิจยังขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาวะกำลังซื้อที่จะส่งผลต่อการใช้จ่ายสำหรับบริการสุขภาพเพิ่มเติมจากค่าใช้จ่ายสุขภาพพื้นฐานและสำหรับการป้องกันรักษาโควิด-19 เป็นหลัก ทำให้การเติบโตของบริการทางการแพทย์ที่บ้านในช่วงแรกอาจยังเติบโตได้จำกัด แต่มีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องในระยะยาว
ในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ธุรกิจบริการทางการแพทย์ที่บ้านน่าจะเติบโตได้แบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากยังมีข้อจำกัดด้านจำนวนบุคลากรและภาวะกำลังซื้อที่ยังต้องอาศัยเวลาในการฟื้นตัว และคาดว่าจะเติบโตได้มากขึ้นตามการขยายตลาดเฉลี่ยอยู่ที่ 7.3% (CAGR) ในระยะ 3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ บริการทางการแพทย์ที่น่าสนใจและน่าจะขยายตลาดได้จะเป็นกลุ่มบริการหัตถการและบำบัดรักษา โดยเฉพาะบริการหัตถการเพื่อป้องกันโรคอย่างการฉีดวัคซีน กายภาพบำบัด คลายกล้ามเนื้อรักษาอาการเฉพาะ รวมถึงกลุ่มบริการผู้ดูแลช่วยเหลือ ซึ่งจะตอบโจทย์กลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องได้รับการดูแลในชีวิตประจำวัน ควบคู่ไปกับบริการช่วยเหลืออื่นๆ อย่างบริการรถรับ-ส่งผู้ป่วย ผู้สูงอายุที่ปลอดภัย พร้อมกับผู้ดูแลที่ผ่านการอบรมในการดูแลผู้ป่วยอย่างถูกต้อง ให้เช่าอุปกรณ์ทางการแพทย์เบื้องต้นสำหรับใช้งานที่บ้าน
- อย่างไรก็ตาม นอกจากปัจจัยด้านกำลังซื้อในประเทศที่ยังเปราะบางแล้ว การขยายตลาดบริการทางการแพทย์ที่บ้านก็ยังมีความท้าทาย ทั้งด้านบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและได้รับการรับรองอาจยังมีจำกัด นอกจากนี้ การเข้าสู่ตลาดของผู้เล่นรายใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และ Startups ก็ยังมีข้อจำกัดด้านเงินทุน รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นด้านมาตรฐานและความปลอดภัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากมีแผนในการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร และมีการส่งเสริมธุรกิจใหม่ๆ อย่าง Health Tech Startups ก็ยังมีโอกาสในการขยายตลาดรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ (Medical Tourism) ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวและรับบริการสุขภาพในไทย จำนวนกว่า 2.2 ล้านคนต่อปี (เฉลี่ยในช่วงปี 2560-2562 ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19) จากตลาดสำคัญอย่าง จีน อาเซียน และจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ต้องการบริการเฉพาะบุคคล มีความเป็นส่วนตัว โดยส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เดินทางเข้ามารับบริการทางการแพทย์ที่ไม่ซับซ้อนมากนัก รวมถึงบริการสุขภาพทางเลือกแบบครบวงจร ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจได้เพิ่มขึ้น เมื่อสถานการณ์การท่องเที่ยวสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ในอนาคต
[1] Arizton, 2021
[2] ประเมินจากสัดส่วนรายได้ค่าใช้บริการทางการแพทย์ที่บ้านของโรงพยาบาลและผู้ให้บริการสุขภาพที่ไม่ใช่โรงพยาบาล เช่น คลินิก
สถานกายภาพบำบัด ผู้ให้บริการ Day Care / Caregiver แต่ไม่รวมถึงการให้บริการผ่านระบบออนไลน์และผู้ป่วยโควิด-19 แบบ
Home Isolation โดยผู้ใช้บริการใช้บริการเฉลี่ย 2 ครั้งต่อเดือน ในอัตราค่าบริการเฉลี่ย 500- 2,000 บาทต่อครั้ง รวมจำนวนผู้ใช้บริการประมาณ 50,000 – 200,000 คนต่อปี