ทวิตเตอร์ใกล้มีกำไร
ทวิตเตอร์แถลงว่า บริษัทอาจมีผลกำไรในไตรมาส 4 เพราะบริษัทเทคโนโลยีแห่งนี้มีตัวเลขขาดทุนน้อยลงและมีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น
โดยทวิตเตอร์ ซึ่งไม่เคยมีผลกำไรเลยตั้งแต่เสนอขายหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นเมื่อ 4 ปีก่อน ระบุว่ามูลค่าการขาดทุนลดลงจากเดิม 103 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลงเหลือ 21 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาส 3
จำนวนของผู้ใช้งานในแต่ละเดือนเติบโตขึ้น 4 ล้านบัญชีจากจำนวนผู้ใช้งานทั้งหมด 330 ล้านบัญชีในช่วงสิ้นเดือนก.ย.
ทวิตเตอร์ระบุว่า รายได้ของบริษัทอยู่ที่ 590 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 19,747 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2559
ทวิตเตอร์เป็นโซเชียลมีเดียที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันอย่างรุนแรงจากความนิยมในการใช้งานเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม
โดยบริษัทระบุว่า ก่อนหน้านี้ได้กล่าวอ้างจำนวนผู้ใช้งานคลาดเคลื่อน เนื่องจากได้รวมจำนวนผู้ใช้งานจากแอปพลิเคชั่นบุคคลที่ 3 เข้าไปด้วย
ทั้งนี้ บริษัทได้ปรับแก้จำนวนตัวเลขผู้ใช้งานลงประมาณ 2 ล้านบัญชีในช่วงไตรมาส 2
แจ็ค ดอร์ซีย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของทวิตเตอร์ระบุว่า “ ในไตรมาสนี้ เราก้าวหน้าขึ้นในพื้นที่สำคัญ 3 ส่วนของธุรกิจเรา เรามีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น ก้าวหน้าขึ้นในแง่การเติบโตของรายได้ และสามารถสร้างกำไรได้เป็นผลสำเร็จ ”
จำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นของทวิตเตอร์มาจากความพยายามที่จะทำข้อผูกพันมากขึ้น หลังจากถูกวิจารณ์ว่าไม่ได้ให้ความร่วมมือมากพอที่จะแก้ไขปัญหาการละเมิดในโซเชียลมีเดียและแพลตฟอร์มของโฆษณามีความผิดพลาด
เมื่อช่วงต้นเดือนต.ค. ดอร์ซีย์กล่าวว่า ทวิตเตอร์จะมีจุดยืนที่แข็งกร้าวขึ้นต่อการละเมิดในออนไลน์ บริษัทสัญญาว่าจะมีบทลงโทษผู้ที่ทวีตข้อความที่ก่อให้เกิดความรุนแรง และจะพิจารณาทบทวนข้อร้องเรียนของผู้ใช้งานให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยทวิตเตอร์ยังได้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มคอนเทนต์ผ่านวีดีโอและการถ่ายทอดสดให้มากขึ้น
รอสส์ เกอร์เบอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Gerber Kawasaki ซึ่งเป็นบริษัทจัดการด้านการลงทุนให้ความเห็นว่า แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียจำนวนมากเพิ่มเข้ามาในโลกออนไลน์หลายล้านต่อวัน เมื่อเปรียบเทียบกับทวิตเตอร์ที่กำลังเติบโตขึ้น วีดีโอไม่ได้สร้างความแตกต่างมากนัก และแพลตฟอร์มโฆษณาของทวิตเตอร์มีความก้าวหน้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ทั้งนี้ ทวิตเตอร์แบนยักษ์ใหญ่ด้านสื่อของรัสเซียสองรายไม่ให้ซื้อโฆษณา เนื่องจากเกรงว่า พวกเขาอาจเคยเกี่ยวข้องกับการเข้าแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในปี 2559 ทำให้การแบนการลงโฆษณาจาก Russia Today (RT) และ Sputnik บนทวิตเตอร์มีผลโดยทันที
โดยทางการสหรัฐฯ ระบุว่า สื่อทั้งสองรายเป็นแพลต์ฟอร์มในการส่งข้อความของรัฐบาลรัสเซีย แต่ผู้บริหารของสื่อทั้งสองสำนักปฏิเสธว่า ไม่เคยลงโฆษณาบนทวิตเตอร์แต่อย่างใด.