ดีมานด์น้ำมันในอาเซียนยังโตอีกนาน
ความต้องการใช้น้ำมันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเติบโตจนถึงปี 2583 เพราะประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลจากจำนวนรถยนต์บนท้องถนนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุเมื่อวันที่ 24 ต.ค.
โดยการบริโภคน้ำมันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะขยายตัวเป็นประมาณ 6.6 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในปี 2583 จากเดิม 4.7 ล้านบาร์เรลต่อวันในปัจจุบัน ด้วยจำนวนรถยนต์บนถนนที่เพิ่มขึ้นถึง 2 ใน 3 เป็นประมาณ 62 ล้านคัน อ้างอิงจากรายงานขององค์การที่เผยแพร่ในสัปดาห์พลังงานระหว่างประเทศที่สิงคโปร์ แต่ยังไม่มีการคาดการณ์หลังจากปี 2583
แรงผลักดันจากทั่วโลกที่ต้องการจะทดแทนรถยนต์ในยุคปัจจุบันด้วยรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพื่อต่อสู้กับปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้สร้างความกังวลให้กับอุตสาหกรรมน้ำมันถึงจุดพีคของความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกในอีก 10 – 20 ปีหน้า
แต่ทาง IEA คาดการณ์ว่า ความต้องการใช้น้ำมันจะยังคงมีถึง 90% ในการคมนาคมขนส่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“ ในปี 2583 จะมีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าประมาณ 4 ล้านคันจากจำนวนรถยนต์โดยสารทั้งหมด 62 ล้านคัน แต่รถไฟฟ้ามีสัดส่วนคิดเป็นเพียง 1% ของความต้องการพลังงานในการคมนาคม” IEA ระบุ
ทั้งนี้ น้ำมันรวมทั้งถ่านหินจะยังเติบโตในภาคส่วนพลังงานและคมนาคมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากคาดการณ์ว่าความต้องการพลังงานในภูมิภาคจะไต่ระดับสูงเกือบ 60% ในปี 2583 จากปัจจุบัน อ้างอิงจากรายงานขององค์กร
สัดส่วนการบริโภคพลังงานที่สูงที่สุดมาจากการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยรายได้ของจำนวนประชากรที่สูงขึ้นในภูมิภาคนี้ทำให้มีการใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้ามากขึ้น รวมทั้งเครื่องปรับอากาศด้วย
ศักยภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 565 กิกะวัตต์ในปี 2583 จาก 240 กิกะวัตต์ในปัจจุบัน โดยถ่านหินและพลังงานทดแทนมีสัดส่วนคิดเป็นเกือบ 70% ของศักยภาพในการผลิตใหม่
ทาง IEA ระบุว่า ถ่านหินมีสัดส่วนเกือบ 40% ของการเติบโต แซงหน้าก๊าซธรรมชาติในการผลิตกระแสไฟฟ้าร่วมกัน
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสำหรับความต้องการพลังงานทั่วโลก เนื่องจากขนาดเศรษฐกิจใหญ่ขึ้นเกือบ 3 เท่า และจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นถึง 1 ใน 5 แต่การนำเข้าพลังงานในภูมิภาคเพิ่มขึ้นขณะที่ปริมาณ
การผลิตน้ำมันลดลง ก่อให้เกิดความกังวลเรื่องความมั่นคงทางพลังงาน
IEA ยังระบุเพิ่มเติมว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะต้องนำเข้าพลังงานมากกว่า 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2583 ซึ่งเท่ากับ 4% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของภูมิภาคโดยรวม.