“กสิกรไทย”เผยตลาดอุปกรณ์ผู้สูงอายุพุ่งทะลุ8พันล้านบาท
ตลาดอุปกรณ์สำหรับผู้สูงอายุ ปี ‘64 ไม่ต่ำกว่า 8 พันล้านบาท…คาดเติบโตต่อเนื่องตามแนวโน้มสังคมผู้สูงอายุ
ประเด็นสำคัญ
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า มูลค่าการใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์และอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุในไทย ปี 2564 จะอยู่ที่ 8,000 – 9,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเติบได้เฉลี่ย 7.8% ต่อปี ในระยะ 5 ปีข้างหน้า สอดคล้องกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย โดยสัดส่วนมูลค่าตลาดส่วนใหญ่ยังเป็นเม็ดเงินในภาคธุรกิจ (B2B) เป็นหลัก โดยเฉพาะความต้องการใช้งานในธุรกิจ Non-hospital อาทิ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ เนิร์สซิ่งโฮม และที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุ นอกจากนี้ สถานการณ์โควิด-19 ซึ่งทำให้ผู้สูงอายุบางส่วนต้องพักรักษาตัวที่บ้าน ทำให้กลุ่มผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อมีความต้องการอุปกรณ์มากขึ้นในระยะนี้ด้วย
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในระยะข้างหน้า กลุ่มอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและความปลอดภัย เช่น รถเข็นไฟฟ้า เตียงไฟฟ้า อุปกรณ์เซ็นเซอร์ ปุ่มกดขอความช่วยเหลือฉุกเฉินแบบเรียลไทม์ จะเป็นกลุ่มอุปกรณ์ที่น่าจะเติบโตได้ดี เนื่องจากตอบโจทย์ทั้งธุรกิจและผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อเพียงพอและต้องการอุปกรณ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันมากขึ้น
- อย่างไรก็ตาม การผลิตในไทยส่วนใหญ่ยังเป็นอุปกรณ์พื้นฐานและใช้เทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อนมาก ทำให้ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าหรือชิ้นส่วนจากต่างประเทศ จึงเป็นความท้าทายของผู้ผลิตในประเทศที่จะยกระดับมาตรฐานการผลิต และสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้สูงอายุมากขึ้น โดยพิจารณาปัจจัยด้านกำลังซื้อ รูปแบบการขายสินค้า/ให้บริการ การทำตลาดที่เหมาะสมควบคู่ไปด้วย เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดได้ตามแนวโน้มสังคมผู้สูงอายุของไทย
แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของครอบครัวเดี่ยวและการอาศัยอยู่คนเดียวที่เพิ่มมากขึ้น ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ของไทย ในปี 2565 ทำให้อัตราประชากรพึ่งพิงจะเพิ่มสูงขึ้น ทั้งกลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องได้รับการดูแล หรือผู้สูงอายุที่ดูแลตัวเองได้แต่ต้องอาศัยเครื่องมือ/อุปกรณ์ที่จำเป็นและช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน ดังนั้น ตลาดอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อป้องกันรักษาเบื้องต้นและอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุในไทย จึงมีโอกาสเติบโตตามความต้องการบริการสุขภาพและการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ดี ตลาดก็ยังมีข้อจำกัดทั้งทางด้านกำลังซื้อและการพัฒนารูปแบบสินค้าให้ตอบโจทย์ผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้น โดยมีประเด็นโอกาสและความท้าทายของธุรกิจ ดังนี้
ความต้องการใช้งานอุปกรณ์สำหรับผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งจากภาคธุรกิจ (B2B) และฝั่งผู้บริโภคโดยตรง (B2C) โดยสัดส่วนการใช้งานส่วนใหญ่ยังเป็นของภาคธุรกิจ ทั้งในสถานพยาบาลที่เน้นกลุ่มลูกค้าสูงอายุมากขึ้น รวมไปถึงธุรกิจที่ไม่ใช่สถานพยาบาล อย่างศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ที่พักอาศัยผู้สูงอายุ และเนิร์สซิ่งโฮม ที่น่าจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้สูงอายุ ในขณะเดียวกันความต้องการใช้งานของผู้บริโภคโดยตรง ก็น่าจะเติบโตได้ตามจำนวนผู้สูงอายุที่มีความจำเป็นต้องใช้งานอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อป้องกันรักษาโรคและอุปกรณ์เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน
โดยตลาดอุปกรณ์สำหรับผู้สูงอายุที่จะได้รับอานิสงส์จากความต้องการใช้งานที่เพิ่มขึ้น แบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ 1) อุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อป้องกันรักษาเบื้องต้น เช่น เครื่องวัดความดัน เครื่องวัดน้ำตาลในเลือด เครื่องวัดออกซิเจน เครื่องดูดเสมหะ เป็นต้น และ 2) อุปกรณ์อำนวยความสะดวกและความปลอดภัย เช่น เตียง รถเข็น ราวจับช่วยพยุง พื้นกันลื่นลดแรงกระแทก ทางลาด ลิฟท์ยกรถเข็น และอุปกรณ์ขอความช่วยเหลือฉุกเฉินผ่านระบบอินเทอร์เน็ต อุปกรณ์เซนเซอร์แจ้งเตือนการหกล้ม เป็นต้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า มูลค่าการใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์และอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุในไทย ปี 2564 จะอยู่ที่ 8,000 – 9,000 ล้านบาท[1] คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8-10% ของตลาดอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ทั้งหมดของไทย โดยสัดส่วนมูลค่าตลาดส่วนใหญ่ยังเป็นเม็ดเงินในภาคธุรกิจ (B2B) เป็นหลัก นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเฉพาะหน้าในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ผู้สูงอายุบางส่วนต้องพักรักษาตัวที่บ้าน เนื่องจากไม่สามารถเดินทางไปโรงพยาบาลได้ตามปกติ กลุ่มผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อจึงมีความต้องการอุปกรณ์เพิ่มขึ้นในระยะนี้ด้วย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในระยะ 5 ปีข้างหน้า มูลค่าการใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์เพื่อผู้สูงอายุน่าจะเติบโตได้เฉลี่ย 7.8% ต่อปี และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยจะเป็นกลุ่มอุปกรณ์ที่น่าจะเติบโตได้มากกว่าอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อป้องกันรักษาเบื้องต้น โดยเฉพาะการเติบโตตามการเพิ่มขึ้นของธุรกิจสถานดูแลผู้สูงอายุและที่พักอาศัยเพื่อผู้สูงอายุ ทำให้มีความต้องการติดตั้งอุปกรณ์เหล่านี้มากขึ้น โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวก ซึ่งจะตอบโจทย์กลุ่มผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อได้
อย่างไรก็ดี สินค้าทั้งในกลุ่มอุปกรณ์การแพทย์และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ผลิตได้ในไทยอาจยังไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการในประเทศได้ทั้งหมด และส่วนใหญ่ยังเป็นอุปกรณ์ขั้นพื้นฐานและใช้เทคโนโลยีอย่างง่าย ทำให้ในระยะแรกผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าจากต่างประเทศน่าจะได้ประโยชน์จากความต้องการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งแหล่งนำเข้าที่สำคัญ อาทิ จีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน ทั้งนี้ ผู้ผลิตในประเทศจะต้องยกระดับการผลิตไปสู่อุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น แต่อาจยังไม่ซับซ้อนมากนักเพื่อตอบโจทย์ผู้สูงอายุและเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้ในระยะข้างหน้า โดยกลุ่มสินค้าที่น่าจะมีศักยภาพในการผลิต เช่น เตียงไฟฟ้า รถเข็นไฟฟ้า ควบคู่ไปกับการพัฒนามาตรฐานสินค้า ราคาที่เข้าถึงได้ และการทำตลาด ซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ
ทั้งนี้ กลุ่มอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยที่น่าสนใจ ได้แก่ อุปกรณ์ช่วยเคลื่อนที่ที่มีระบบอำนวยความสะดวกมากขึ้น โดยสินค้าในกลุ่มนี้จัดเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ซึ่งผู้ผลิตในประเทศส่วนใหญ่ยังผลิตอุปกรณ์พื้นฐานและยังมีความซับซ้อนของเทคโนโลยีไม่มากนัก เช่น รถเข็นและเตียงธรรมดา ส่วนอุปกรณ์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นอาจยังต้องพึ่งพาการนำเข้าหรือนำเข้าบางชิ้นส่วนเข้ามาประกอบในประเทศ ซึ่งเป็นโจทย์ท้าทายของผู้ผลิตในประเทศที่ต้องยกระดับการผลิต เพื่อตอบโจทย์ผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อที่มองหาอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น อย่างรถเข็นไฟฟ้าที่สามารถปรับยืนหรือช่วยพยุงการลุกขึ้นของผู้สูงอายุ รวมถึงเตียงไฟฟ้าปรับระดับความสูง ท่านั่งท่านอน และมีกลไกช่วยพลิกตัว
ในขณะเดียวกันอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ไม่ใช่อุปกรณ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์ช่วยเหลือเพื่อติดตั้งในที่อยู่อาศัยก็น่าจะเติบโตได้ เพื่อตอบโจทย์การปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมและช่วยสร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้สูงอายุ เช่น ราวจับช่วยพยุง ทางลาดกันลื่น พื้นลดแรงกระแทกในที่อยู่อาศัย ซึ่งมีทั้งผู้ประกอบการในธุรกิจการแพทย์ สุขภาพ และธุรกิจวัสดุก่อสร้างที่เข้าสู่ตลาดสินค้าอุปกรณ์เพื่อผู้สูงอายุมากขึ้น รวมไปถึงอุปกรณ์ติดตามตัวผู้สูงอายุเพื่อแจ้งเตือนและขอความช่วยเหลือฉุกเฉินที่เชื่อมต่อกับผู้ดูแลหรือศูนย์ช่วยเหลือได้ทันที ในรูปแบบอุปกรณ์สำหรับติดตั้งตามพื้นที่ต่างๆ ในบ้าน และ Smart IoT Devices อย่างสมาร์ทวอช เซนเซอร์ติดตามตัว ก็เป็นที่นิยมมากขึ้น เนื่องจากมีการพัฒนาให้สามารถเชื่อมต่อข้อมูลแบบเรียลไทม์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุได้ทันท่วงที ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงเป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ
ถึงแม้จะมีผู้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์แบบใช้งานเองและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุในประเทศบ้างแล้ว แต่นอกจากการแข่งขันทางด้านราคาแล้ว ยังมีความท้าทายในการแข่งขันกับสินค้านำเข้า ทั้งทางด้านแบรนด์สินค้า ระดับเทคโนโลยี และความสามารถในการทำตลาด ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า จุดเด่นของผู้ผลิตในไทยน่าจะอยู่ที่การทำความเข้าใจวิถีชีวิตและความต้องการของผู้สูงอายุในไทย และสร้างความแตกต่างของสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการ
ใน 2 ประเด็นหลัก คือ 1) กำลังซื้อ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ของประเทศยังพึ่งพิงสวัสดิการรักษาพยาบาลผ่านระบบประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นหลัก ซึ่งมีสิทธิรับอุปกรณ์การแพทย์อย่างรถเข็นกรณีเป็นผู้มีปัญหาในการเดิน ทำให้กลุ่มลูกค้าหลักของธุรกิจจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้ออุปกรณ์เองและมีรายได้เพียงพอในอนาคต โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า สัดส่วนกลุ่มผู้สูงอายุกลุ่มที่มีกำลังซื้อมีเพียง 20-30% ของประชากรสูงอายุทั้งหมดในปี 2573 หรือประมาณ 3.4 ล้านคน ที่คาดว่าจะมีรายได้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพด้วยตนเอง 2) รูปแบบสินค้า/ให้บริการ ใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบา สะดวกในการพกพา ใช้งานง่าย และสามารถปรับระดับให้เหมาะกับสรีระของผู้สูงอายุไทย โดยสินค้ากลุ่มที่ต้องมีการติดตั้งในที่อยู่อาศัย เช่น ระบบทางลาด ลิฟท์ยกรถเข็น พื้นกันลื่นลดแรงกระแทก รองรับการติดตั้งในที่อยู่อาศัยเดิมของลูกค้า โดยมีค่าใช้จ่ายไม่สูงและไม่ต้องปรับปรุงพื้นที่มากนัก สามารถใช้งานร่วมกันได้ทุกวัย ส่วนกลุ่มสินค้ารถเข็นไฟฟ้า เตียงไฟฟ้า อาจมีระยะเวลารับประกันที่ยาวขึ้น หรือสามารถซื้อประกันเพิ่มเติมสำหรับการขยายระยะเวลารับบริการหลังการขาย เพื่อลดความกังวลด้านค่าใช้จ่ายของผู้สูงอายุลง
[1] มูลค่าการใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์เพื่อผู้สูงอายุ หมายถึง ค่าใช้จ่ายเฉพาะอุปกรณ์สำหรับใช้งานเบื้องต้น ที่ครอบคลุมการใช้จ่ายของผู้สูงอายุผ่านการใช้บริการธุรกิจด้านสุขภาพต่างๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าของผู้สูงอายุจากร้านค้าปลีกเฉพาะโดยตรง ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวไม่รวมถึง ค่าใช้จ่ายสำหรับบริการอุปกรณ์/ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ขนาดใหญ่ เช่น เครื่องเอ็กซเรย์ เครื่องอัลตราซาวด์ เป็นต้น